สนธิ ลิ้มทองกุล “เรามาเริ่มต้นเขียนประวัติศาสตร์การเมืองใหม่ด้วยกัน”

สนธิ ลิ้มทองกุล ในฐานะของสื่อมวลชน และ1 ใน 5 แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ไม่เพียงสร้าง “ปรากฏการณ์มัฆวานรังสรรค์” รวมพลังมวลชน สร้างจิตสำนึกใหม่ทางการเมือง คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิดทักษิณ ชินวัตร และขับไล่รัฐบาลนอมินี แต่ภารกิจที่ท้าทายมากกว่านั้น คือ การผลักดันแนวคิด “การเมืองใหม่” ออกไปสู่สังคม

เขาเชื่อว่า นี่คือหนทางที่จะเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่เข้มแข็ง และกระจายตัวโดยประชาชนจะมีส่วนร่วมสร้าง ร่วมกำหนดนโยบายเท่าเทียมกัน ไม่กระจุกตัวอยู่กับกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองเก่า

หากแนวคิดการเมืองใหม่สำเร็จ เขาเชื่อว่านี่คือการเปิดหน้าต่างแห่งประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ให้กับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และระบบรัฐสภาที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด 76 ปี

เนื้อหาเหล่านี้ ซึ่งเป็นการรวบรวมจากคำปราศรัยของสนธิ ลิ้มทองกุล บนเวทีพันธมิตรฯ ในโอกาสต่างๆ กัน ที่สามารถสะท้อนให้เห็นภาพการเมืองใหม่ได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น

21 มิ.ย. 51
-“เวลานี้เราไม่ได้มาไล่แค่สมัคร แต่ต้องสร้างอนาคตใหม่ให้ลูกหลาน ถ้าเรายอมแค่นี้ เราจะต้องออกมาไล่กันจนแก่ไม่สิ้นสุดอย่างนั้นหรือ เราต้องสร้างบ้านสร้างเมืองใหม่ให้ลูกหลานที่ต้องมีชีวิต มีกติกาที่มีเหตุผล และมีส่วนร่วม ไม่ใช่แบบตัวแทนอย่างเดียว เพราะทุกคนมีสิทธิ์เหมือนกันหมด” (นายสนธิ ลิ้มทองกุล – ผู้จัดการออนไลน์ 22 มิ.ย. 51)

23 มิ.ย. 51
-“วันนี้เรามายืนอยู่บนทางสองแพร่งที่ต้องมีชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และไม่ขายชาติขายแผ่นดิน ส่วนอีกแพร่งหนึ่งที่มีพวกนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่ไม่เอาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พวกเราเลือกข้างแล้วหรือไม่ว่าอยู่ข้างไหน นี่คือเหตุผลว่าเราอย่าท้อ และนี่คือบทพิสูจน์ว่าฝนตกก็ไม่หนี …เวลานี้การเมืองพังทลาย เมื่อ ส.ว. กำลังอภิปรายแล้วถูกนายสมัครขากถุยใส่ ไม่ให้ความสนใจ การเมืองแบบนี้เราไม่เอา เราต้องเปลี่ยนการเมืองใหม่ เวลานี้ไม่ใช่เรื่องแก้ หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญแล้ว” (นายสนธิ ลิ้มทองกุล – ผู้จัดการออนไลน์ 23 มิ.ย. 51)

26 มิ.ย. 51
-“เวลานี้เราพึ่งพาการเมืองไม่ได้ ไม่ต้องไปสนใจ หรือพึ่งพาคนอย่างนายบรรหาร ศิลปอาชา นายเสนาะ เทียนทอง เพราะคนเหล่านี้เห็นแก่ตัวมากกว่าเห็นแก่ชาติ เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่เข้าไปร่วมกับรัฐบาลนี้ตั้งแต่แรกแล้ว และให้จำไว้ว่าถ้าพรรคเหล่านี้ลงมติหนุนรัฐบาลก็ขอให้จำคนพวกนี้เอาไว้ให้ดี รวมไปถึง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายสุวัจน์ ลิปพัลลภ นายสุวิทย์ คุณกิตติ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ให้กวาดคนพวกนี้ให้ตกเวทีการเมืองไปเลย …ถึงเวลาแล้วที่ต้องสร้างการเมืองใหม่ ซึ่งต้องมีขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและเป็นกระบวนการ” (นายสนธิ ลิ้มทองกุล – ผู้จัดการรายวัน 27 มิ.ย. 51)

28 มิ.ย. 51
-“เวลานี้มีคนพยายามเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เหมือนกับสมัย 19 กันยายน 2549 ซึ่งพวกเราไม่ต้องการการเมืองใหม่ที่มีประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเท่านั้น และนี่คือความขมขื่นที่เราต้องมาสู้ที่นี่” (นายสนธิ ลิ้มทองกุล – ผู้จัดการออนไลน์ 28 มิ.ย. 51)

2 ก.ค. 51
“การเมืองใหม่ที่ตนเองจะนำมาพูดในวันศุกร์นี้จะเป็นการให้โอกาสพี่น้องประชาชน ไม่ใช่ผูกขาดเฉพาะนักเลือกตั้งเท่านั้น” การต่อสู้ที่ผ่านมา 39 วัน 39 คืนได้สร้างความเปลี่ยนแปลง ถ้าใช้ต่อไปใช้เวลาเป็นปีแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงในชาติมากกว่านี้ มันก็คุ้ม เป็นการต่อสู้ด้วยพลังบริสุทธิ์ ที่นักการเมือง นักเลือกตั้งหาไม่ได้ …ฝากไปถึงนักวิชาการทั้งหลายที่อ้างว่าอยู่กลางๆ ทั้งหลายให้ออกมาดูการเมืองประชาชนที่เต็มไปด้วยข้อมูลมีนัยทางรัฐศาสตร์อย่างไรบ้าง” (นายสนธิ ลิ้มทองกุล – ผู้จัดการออนไลน์ 3 ก.ค. 51)

3 ก.ค. 51
-* “สำหรับพิมพ์เขียวการเมืองใหม่ ที่ 5 แกนนำจะปราศรัยในวันพรุ่งนี้นั้น นายสนธิได้นั่งทำเปเปอร์ด้วยตนเอง ถือเป็นกรอบคิดหลัก ซึ่งมีลักษณะพิเศษ 5 ประการ คือ 1. ต้องก้าวให้พ้นระบบสภาที่มาจากการเลือกตั้ง 2. ต้องเพิ่มระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน 3. ต้องมีหลักประกันว่าการใช้อำนาจรัฐนั้น ต้องเป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง 4. ต้องเอาประชาชนทุกอาชีพเป็นศูนย์กลางทางการเมือง และ 5. ต้องเพิ่มบทบาทของระบบคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมือง” (นายสุริยะใส กตะศิลา – ผู้จัดการออนไลน์ 3 ก.ค. 51)

* “แนวคิดดังกล่าว คือ การเปลี่ยนแปลงระบอบรัฐสภาแบบเสียงข้างมากแบบที่ประเทศเราเป็นอยู่นั้นไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ และนักการเมืองเองก็ไม่สามารถเป็นตัวแทนของประชาชนได้อย่างแท้จริง ทำให้การเมืองปัจจุบันเต็มไปด้วยการทุจริตเพื่อให้ได้เข้าไปเป็น ส.ส. เมื่อเป็นแล้วก็แสวงหาผลประโยชน์โดยการทุจริต คอรัปชั่น

พันธมิตรฯ จึงเสนอให้มีการเมืองรูปแบบใหม่ที่จะสร้างหลักประกัน ว่า ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทุกชนชั้นจะเข้าถึงอำนาจในการตัดสินใจหรือกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา กรรมกรผู้ใช้แรงงาน คนด้อยโอกาสทางสังคมโดยเสนอสูตรผสมของผู้เข้าสู่อำนาจในสัดส่วน 70 : 30 กล่าวคือ เพิ่มกระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็น ร้อยละ 70 และลดที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งโดยวิธีการเลือกตั้งลงเหลือร้อยละ 30 ทั้งนี้ รายละเอียดหรือรูปแบบการสรรหาใน 70% นั้น ก็ต้องขอให้สังคมมาช่วยกันขบคิดว่าจะนำวิธีการใดมาใช้ในการสรรหา

” (นายพิภพ ธงไชย กล่าวในรายการ “ถามจริง-ตอบตรง” ทางสถานีโทรทัศน์ NBT ดำเนินรายการโดย นายจอม เพชรประดับ – ผู้จัดการออนไลน์ 4 ก.ค. 51)

4 ก.ค. 51
-“การต่อสู้ของประชาชนในครั้งนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ติดคุก หรือรัฐบาลนายสมัคร ออกไป แต่เราต้องเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง และเอาประเทศคืนมา ทุกวันนี้การเมืองเก่ามีพรรคการเมืองเป็นเพียงบริษัท มีนายทุนทุกอย่างทำเพื่อตอบสนองนายทุน จนกลายเป็นแก๊งการเมือง และมีอันธพาลการเมือง ประชาธิปไตยเป็นแค่ประชาธิปไตย 4 วินาที คือ มีค่าแค่ตอนเข้าคูหา ส่วนประชาชนก็กลายเป็นเพียงลูกจ้างบริษัท จ่ายเงินเพื่อให้เลือกตั้งให้ลงคะแนน องค์กรอิสระก็ถูกแทรกแซงด้วยอำนาจทุน แล้วเขาก็อ้างว่าประชาชนเลือกตั้งเข้ามา นี้คือการเมืองเก่า หากใครมีเงินหมื่นล้าน ก็ซื้อประเทศได้ อย่าว่าแต่ซื้อประเทศเลย ล้มสถาบันก็ยังได้

การเมืองใหม่ต้องให้ประชาชนต้องมีส่วนร่วม โดยลดทอนบทบาทของนักเลือกตั้ง โดยให้ ส.ส. มาจากจังหวัดละ 1 คนเท่านั้น ส่วนสัดส่วน 70 ต่อ 30 ที่ตนเคยเสนอไปนั้น เป็นเพียงตุ๊กตาเบื้องต้นเท่านั้น และอยากให้ทุกคนช่วยกันคิดว่าสัดส่วนของการมีส่วนร่วมของกลุ่มอาชีพต่างๆ จะมาได้อย่างไร

ก่อนจะมีการเมืองใหม่ เราต้องร่างหลักการปกครองเบื้องต้นเสียก่อน เช่น ต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ประชาชนมีอิสระในการนับถือศาสนา กำหนดสิทธิต่างๆ ของประชาชน รวมถึงการกำหนดเรื่องความเท่าเทียมในการทำมาหากิน เมื่อได้หลักการปกครองแล้ว ก็ให้นำไปทำประชามติให้ประชาชนเห็นชอบ แล้วค่อยไปร่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกประกอบ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องเป็นองค์กรอิสระ การเมืองแทรกแซงไม่ได้ ผบ.ตร. จะต้องมาจากการเลือกของเสียงในสภา จำนวน 3 ใน 4 และประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมก็จะไม่มีฝ่ายค้าน เพราะตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ จะแสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายเอง หากเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ในขณะที่ทหารก็สามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมืองได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย

หากเข้าเงื่อนไข 4 ประการ คือ
1. สถาบันกษัตริย์ถูกหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แล้วรัฐบาลไม่ทำอะไร
2. มีเจตนาที่จะโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ แล้วรัฐบาลปล่อยปละละเลย
3. มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง
4. มีการยกอธิปไตยให้กับต่างชาติ

หากเข้าหลักการทั้ง 4 ข้อ ทหารสามารถเข้ามาได้ทันที ส่วนสภากลาโหม ก็จะเป็นอิสระ ไม่ต้องขึ้นตรงกับนายกฯ เมื่อจัดโผทหารเสร็จแล้ว ก็ให้ยื่นทูลเกล้าฯ ได้เลย เพราะพระมหากษัตริย์ถือเป็นจอมทัพไทย และหากพระองค์จะเปลี่ยนรายชื่อ ก็สามารถทำได้
นายสนธิ ยังเสนอให้เปิดมหาวิทยาลัยอีก 8 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเรียนฟรี

หากใครมีความเห็นเรื่องรูปแบบการเมืองใหม่อย่างไร ก็สามารถเขียนเสนอมาได้ โดยพันธมิตรฯ จะตั้งเต็นท์เพื่อรับความเห็นของทุกคน” (นายสนธิ ลิ้มทองกุล – กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 4 ก.ค. 51)

5 ก.ค. 51
“การเมืองใหม่ จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงลิตรละ 10 บาท โดยรัฐบาลใช้สิทธิผู้ถือหุ้นใหญ่ใน ปตท. 51 เปอร์เซ็นต์เรียกประชุมผู้ถือหุ้นประกาศไม่จ่ายเงินปันผล 5 ปี นำเงินกำไรปีละกว่า 2 แสนล้านบาทมาคืนให้กับประชาชน เมื่อไม่จ่ายเงินปันผลก็จะทำให้ฝรั่งเทขายหุ้น ทำให้หุ้นตก รัฐบาลก็เข้าไปซื้อหุ้นกลับมาทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ถามว่าตั้งแต่ ปตท. แปรรูปมา 6-7 ปี ประชาชนได้อะไรบ้าง มีแต่เจ็บตัว …บางครั้งการเมืองใหม่ ไม่จำเป็นต้องมีฝ่ายค้าน เพราะมีตัวแทนจากทุกอาชีพ ทุกฝ่ายเข้าไปอยู่ในสภาอยู่แล้ว เวลานี้เรามีฝ่ายค้านในสภาแล้วยังไง ประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ดี แต่มี 160 เสียง อภิปรายมีหลักฐานข้อมูลดี ชาวบ้านเห็นด้วย แต่พอลงมติฝ่ายรัฐบาลมี 280 เสียง ชนะไปขาดลอย” (นายสนธิ ลิ้มทองกุล – ผู้จัดการออนไลน์ 5 ก.ค. 51)

-“การเมืองใหม่คือการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมให้บทบาทภาคประชาชนในการบริหาร กำหนดทิศทางของประเทศเช่นกัน จะปล่อยให้ ครม. บริหารเพียงลำพังไม่ได้ เพราะมีบทเรียนมาแล้ว ที่ผ่านมาเคยพูดถึงระบบ 70-30 ซึ่งเป็นแค่ตัวเลขตุ๊กตาเท่านั้น” (นายสนธิ ลิ้มทองกุล)

6 ก.ย. 51
“เพียง 2 วันเท่านั้นที่พันธมิตรฯ พูดถึงการเมืองใหม่ ก็มีคนกระโดดโลดเต้นยังกะมดอยู่ในกระทะร้อนๆ เดือดร้อนกันไปหมด ที่เดือดร้อนมากที่สุดคือพรรคพลังประชาชน พอเรารู้วิธีทำมาหากิน วิธีผูกขาดทางการเมือง วิธีลงลงทุนทางการเมือง แล้วเข้ามามากอบโกยทรัพยากร จึงกลัวกันไปหมด

สั้นๆ ง่ายๆ การเมืองใหม่คืออะไร การเมืองใหม่คือการเอาผลประโยชน์ของชาติทั้งหมดมาวางต่อหน้าประชาชนทั้งหมด โดยไม่แบ่งแยกแล้วมาแบ่งผลประโยชน์ตรงนั้นให้กับพวกเราทั้งหมด โดยเท่าเทียมกันมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จะไม่มีใครได้มากที่สุด และไม่มีใครได้น้อยที่สุด นี่คือการเมืองใหม่”

หมดยุคแล้วที่นักลงทุน กิจการพันล้านหมื่นล้านจะทำกำไรร้อยละ 100 แต่การเมืองใหม่จะบอกว่าถ้าคุณลงทุน 100 บาท เอากำไรสัก 15 บาท ก็พอแล้ว นี่คือการเมืองใหม่ เราจะถามว่ากำไรร้อยละ 15 คุณจะเอาไหม ถ้าไม่เอาก็ไม่ต้องมาลงทุน มีคนอื่นที่พร้อมจะเอากำไร 15 เปอร์เซ็นต์ เขามีความสุขแล้ว สรุปนี่คือการเมืองใหม่ ส่วนโครงสร้างเป็นอย่างไรค่อยว่ากันทีหลังได้

การเมืองใหม่จะไม่มีการขูดรีดราคาน้ำมันแบบนี้ การเมืองใหม่ราคาบ้านจะไม่แพงบ้าเลือดแบบนี้ จะไม่ต้องให้ประชาชนจ่ายค่าสาธารณูปโภคแบบบ้าเลือดแบบนี้ จะไม่ให้คนที่ออมทรัพย์แล้วฝากเงินในธนาคารแล้วได้ดอกเบี้ยแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ ข้าราชการที่เกษียณแล้ว คนที่เก็บเงินเก็บทอง ฝากธนาคารได้ดอกเบี้ยแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ แต่ธนาคารเอาไปปล่อยกู้ได้กำไร 9-10 เปอร์เซ็นต์ กำไรตั้ง 8 เปอร์เซ็นต์ เป็นไปได้ยังไงพี่น้อง

การเมืองใหม่ เป็นการเมืองที่ยุติการขูดรีด หมายความว่า ทาวน์เฮาส์หลังหนึ่งควรขายที่ 9 แสนบาท หรือล้าน 5 แต่ดันมาตั้งราคามาตั้ง 2 ล้าน 8 แสน 5 หมื่นบาท หรือ 3 ล้านบาท ลูกหลานเราในอนาคต ดาวน์บ้านผ่อนบ้าน 15 ปีก็ควรจะหมด ไม่ใช่ผ่อน 30-50 ปี มันบ้ากันไปแล้ว”

อย่าไปสับสนกับเรื่องโครงสร้างการเมืองใหม่ อีกหน่อยจะเห็นชัด แต่ให้เข้าใจภาพรวมก่อน ถ้าคนถามว่าการเมืองใหม่คืออะไร เราก็บอก การเมืองใหม่จะไม่มีโจรเข้าไปนั่งในสภา แล้วยกมือขายดินแดนไทยให้กับเขมรไป พูดแค่นี้เขาเข้าใจแล้ว นี่คือการเมืองใหม่ครับ” (นายสนธิ ลิ้มทองกุล – ผู้จัดการออนไลน์ 6 ก.ค. 51)

26 ส.ค.51
“ขอให้พี่น้องจำไว้ว่าขณะนี้เรากำลังทำการเมืองใหม่ให้เป็นประวัติศาสตร์ของโลก โดยการทำอารยะขัดขืนที่ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ที่เป็นที่ยอมรับว่าพวกเราไม่ยอมที่จะเชื่อฟังคำสั่งของรัฐบาล โดยปราศจากความรุนแรง ซึ่งตรงนี้ตนขอบัญญัติศัพท์ใหม่ว่า ประชาภิวัฒน์ คือ ประชาชนต้องการอภิวัฒน์การเมืองใหม่ ต้องการประชาธิปไตยในบริบทใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม เนื่องจากการเมืองแบบเก่ายังคงครอบงำในทุกระบบทั้งระบบทุน มีการฉ้อโกงทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้อำนาจ โดยเฉพาะการซื้อเสียงในการเลือกตั้งเพื่อให้เข้ามากอบโกยผลประโยชน์ของประชาชนและของชาติไปเป็นของตัวเอง รวมถึงการที่ข้าราชการประจำก้มหัวให้กับฝ่ายการเมืองเพื่อให้ได้หน้าที่การงานที่สูงๆ โดยไม่สนใจความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่เคยเป็นตำรวจของประชาชน ตำรวจในสายตาประชาชนเปรียบเสมือนโจรในเครื่องแบบ” (นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวปราศรัย – กรุงเทพธุรกิจ27 ส.ค. 51)

30 ส.ค. 51
-“การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นกระบวนการก่อการร้ายเพื่อให้เกิดความรุนแรง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดการเมืองใหม่ สิ่งนี้จะทำให้รูปแบบการเมืองเปลี่ยน ทำให้พรรคการเมืองไม่ใช่ธนาคารอีกต่อไป เราหวังว่ารัฐบาลคณะต่อไปจะทำให้การเมืองดีขึ้น คนส่วนใหญ่ ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการปกครองมากขึ้นและมากขึ้น เพราะการเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของระบอบประชาธิปไตย แต่เราอาจจะมีตัวเลือกอย่างอื่นที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น” (นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 18.40 น. – ผู้จัดการออนไลน์ 30 ส.ค. 51)

31 ส.ค. 51
-“ทฤษฎีการเมืองใหม่ใช้กับการเลือกตั้งผู้แทนโดยตรงไม่ได้ ต้องใช้ผสมกับทฤษฎีอื่น เพื่อให้ตัวแทนมาจากคนหลากกลุ่ม เช่น ตัวแทนจากสื่อ หรือองค์กรครู” (นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ แถลงกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศ – มติชนรายวัน 31 ส.ค. 51)

-“พรรคประชาธิปัตย์น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการปฏิรูปการเมืองใหม่ หากยุบสภาและมีการเลือกตั้งใหม่” (นายสนธิ ลิ้มทองกุล – เดลินิวส์ 31 ส.ค. 51)

13 ก.ย. 51
การเมืองนับจากนี้ไปจะมีเรื่องของผลประโยชน์ โดยเฉพาะในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เช่น น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าในพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยทั้งไทยและกัมพูชาจะเป็นพื้นที่มีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในปริมาณมหาศาล ซึ่งจะตกเป็นของต่างชาติ หรือเป็นของคนไทยก็จะวัดกันด้วยการเมืองใหม่ ที่จะปกป้องได้และนำมาสร้างความเจริญ ความสุขให้กับคนในชาติได้

ต่อไปต่างชาติโดยเฉพาะตะวันตก สหรัฐอเมริกาจะให้การสนับสนุนรัฐบาลเลือกตั้ง และให้แก้ไขปัญหากันในสภา ซึ่งอเมริกาจะสนใจแต่เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ตราบใดที่ตัวเองมีผลประโยชน์ก็จะไม่สนใจเรื่องอื่น

“การเมืองใหม่จะไม่ให้นักการเมืองฉ้อฉลแล้วมาผูกขาดผลประโยชน์ แต่การเมืองใหม่ยังต้องปกป้องทรัพยากรธรรมชาติให้กับลูกหลานของเราด้วย การเมืองใหม่ต้องสร้างสวัสดิการที่ดี ให้การศึกษาที่ดี คือ ชีวิตใหม่ของคนไทยทุกคน และอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

14 ก.ย. 51
“พันธมิตรฯ จะไม่ยุติการเคลื่อนไหวจนกว่าทุกพรรคการเมืองจะยอมรับและมาร่วมผลักดันการเมืองใหม่ตามแนวคิดของพันธมิตรฯ ให้เกิดขึ้น โดยการเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้น นอกจากประชาชนจะมีส่วนร่วมแล้ว ยังต้องมีกลไกป้องกันการเข้ามาหาผลประโยชน์ของกลุ่มทุน โดยเฉพาะการหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของไทย เช่น ทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงาน เป็นต้น

และหนทางสู่การเมืองใหม่ โดยเสนอเบื้องต้นให้คงไว้เฉพาะสมาชิกวุฒิสภา และให้ใช้อำนาจตุลาการยุบสภาฯ เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามกระบวนการสรรหาที่ต่างไปจากปัจจุบัน เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าไปเป็น ส.ส. ในสภา”