พิภพ ธงไชย “การเมืองใหม่ถือว่าวันนี้เราประสบความสำเร็จแล้ว”

แม้ว่าวันนี้ชัยชนะที่แท้จริงของประชาชนในการได้มาซึ่งประชาธิปไตยแบบเต็มร้อยยังไม่สัมฤทธิผล แต่แนวคิดเรื่อง “การเมืองใหม่” ที่จุดประกายโดย สนธิ ลิ้มทองกุล เริ่มได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายจากทุกส่วนภาคของประเทศ โดยเฉพาะคนที่เบื่อการเมืองระบอบทุนนิยม ที่เน้นผู้มีอิทธิพลของพื้นที่มากกว่าเสียงที่แท้จริงของประชาชน แม้จะมีอีกหลายส่วนที่วิพากษ์เพราะยังไม่เข้าใจแก่นแท้ของเรื่อง และถูกจัดภาพให้บิดเบือนโดยผู้มีอิทธิพลที่คิดว่าตนเองกำลังจะสูญเสียอำนาจ

ที่สำคัญคือ การยอมรับนั้นอยู่นอกเหนือไปจากสูตร 70 ต่อ 30 ที่เป็นตัวตุ๊กตาที่ถูกตั้งขึ้นมา โดยผู้ยอมรับทั้งหลายที่แม้ไม่ใช่คนในกลุ่มพันธมิตรฯ ต่างก็บอกว่า สูตรตายตัวยังไม่มี และยังมีอีกหลายปัจจัยให้พิจารณา แต่แก่นแท้ที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงนั้นต้องเกิดขึ้น

โดยการเลือกบุคคลจากหลายส่วน หลายภาคของวิชาชีพมาเป็นองค์ประกอบ เพื่อคานกับอำนาจของนักการเมืองที่ใช้การเลือกตั้งเป็นอาชีพ และยังใช้เงินเดือนที่ได้จากภาษีของประชาชนในการดำรงชีวิต แต่กลับตอบแทนสู่สังคมเฉพาะในส่วนของพวกพ้องที่ตัวเองมีผลประโยชน์เท่านั้น

“การเคลื่อนไหวของประชาชนในวันนี้ได้รับการยอมรับมากขึ้น นับว่าประสบความสำเร็จหลังจากใช้เวลายาวนานมากว่า 35 ปี” พิภพ ธงไชย 1 ใน 5 แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ในฟากของตัวแทนเอ็นจีโอ (NGOs : Non Govermental Oganizations องค์กรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐ) มองการเมืองไทยภาคประชาชนที่ได้รับการยอมรับมากขึ้นในทุกวันนี้ นับตั้งแต่มีการเคลื่อนไหวตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม 2516 โดยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็เริ่มมีการระบุในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบการเมืองมากขึ้น และยิ่งเห็นชัดเจนขึ้นเมื่อแนวคิด “การเมืองใหม่” ได้รับการยอมรับจากหลายหน่วยที่เกี่ยวข้อง จากที่ก่อนหน้าการรวมตัวครั้งล่าสุดของพันธมิตรฯ ดูเหมือนเป็นการเรียกร้องที่เลื่อนลอย

“ตอนที่เราบุกทำเนียบฯ ตอนนั้นการเมืองใหม่ยังถูกปฏิเสธ แต่ผ่านมา 10 กว่าวันปรากฏทุกวันนี้คนพูดกันเซ็งแซ่แล้วว่า การเมืองใหม่คือทางออก เป็นเพราะได้อานิสงส์จากการเมืองเก่าที่มันเลว”

สิ่งที่ 5 แกนนำต้องทำต่อจากนี้ คือ การเผยแพร่การเมืองใหม่ในมุมมองของตัวเอง โดยที่แก่นหรือหลักไม่ต่างกัน คุณสนธิ ก็มีแบบของตนเอง คุณสมศักดิ์ โกศัยสุข ก็มีแบบของคุณสมศักดิ์ แต่สูตรที่ออกมาแบบ 70 ต่อ 30 พวกเราก็ไม่รู้ว่ามีพื้นฐานมาจากไหน แต่ก็ถือว่าเป็นตัวอย่างเป็นตุ๊กตาให้เท่านั้น ไม่ใช่บอกว่าจะต้องเป็นแบบนี้จริงๆ หลายคนยังเข้าใจคลาดเคลื่อน บางคนก็ยังติดอยู่กับสูตรนี้ ซึ่งอาจไม่ใช่ ทุกคนในแกนนำมีหน้าที่อธิบายให้ประชาชนเข้าใจ โดยค่อยๆ เข้าถึงในแบบที่เป็นลำดับขั้น และแกนนำทุกคนก็มีแนวคิดในแบบของตนเองในการอธิบาย แต่ “แก่นแท้ของเรื่องเป็นประเด็นเดียวกันที่ทุกคนยอมรับ”

ในส่วนของพิภพนั้น สิ่งที่เน้นคือเรื่องแนวคิดในแบบ “เศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยการช่ำชองในงานกว่า 40 ปีนั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องของพัฒนาการของสังคม การศึกษา และเยาวชน ที่เห็นชัดเจนล่าสุดก็คงเมื่อปี 2535 ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีการเคลื่อนไหวในนามมูลนิธิเด็ก ร่วมกับ นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว และกรรมการผู้ใหญ่ของมูลนิธิ ตั้งกองทุน “รวมทุนน้ำใจไทย” เพื่อช่วยเหลือญาติวีรชนพฤษภา 35 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 และได้เป็นรองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เคลื่อนไหวทางการเมืองตามแนวทางอุดมคติของตนเองและของคณะกรรมการ คือการเคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน บนหลักการ “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน”

นี่เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของงานที่คนชื่อพิภพ ธงไชย ที่ได้ทำมา

พิภพ เสนอแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นส่วนภาคหนึ่งของการที่ต้องเข้าไปปรับเปลี่ยนการเมืองให้เข้าสู่ระบบ “การเมืองใหม่” ด้วยเหตุที่ว่า ระบบการเมืองในแบบเดิม นักการเมืองเน้นในเรื่องผลประโยชน์ของตนเอง และไม่คำนึงต่อการรุกรานของชาติมหาอำนาจในเรื่องที่จะเข้าใช้ทรัพยากรของประเทศไทยในการหาผลประโยชน์ ใช้อำนาจในทางสังคมโลกให้ไทยยอมรับเงื่อนไขตามกติกาของตนเอง ต้องบริโภคในสิ่งที่ชาติตะวันตกเป็นผู้กำหนด ในเมื่อคนไทยอีกหลายคนมีวิถีของตนเองในด้านความเป็นอยู่ ต้องการอยู่อย่างพอเพียงโดยไม่เน้นการบริโภคนิยม หรือทุนนิยมที่เข้ามาบีบรัดในทุกวันนี้จะได้มีทางเลือก

อย่างเรื่องการใช้รักษาในแบบไทย แบบแพทย์แผนไทยก็ทำให้คนไทยมีทางเลือกมากขึ้นโดยมีรัฐบาลรับรอง ไม่ใช่การเข้าไปบริโภคยาจากต่างประเทศที่มีราคาแพงมาก ตัวอย่างเพียงเล็กน้อย ของสิ่งที่คนไทยต้องประสบเพราะที่ผ่านมาไม่มีทางเลือก และรัฐบาลที่มาจากนักการเมืองเดิมๆ ก็ไม่เคยมีแนวคิดที่จะเข้ามาแก้ไขหรือช่วยเหลือคนไทยอย่างแท้จริง แต่รับอิทธิพลของต่างชาติเพื่อสนองกับผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น จนปัจจุบันได้รับการยอมรับจากการริเริ่ม ผลักดันของแพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ

แม้ในอนาคตยังบอกไม่ได้ว่าการเมืองใหม่จะออกมาเป็นรูปร่างอย่างไร? หรือใครเป็นผู้เริ่มต้นดำเนินการอย่างแท้จริง มีเพียงการมุ่งเป้าไปที่รัฐบาลแห่งชาติว่าจะต้องเป็นผู้ริเริ่มให้เกิดขึ้นโดยผ่านทางระบบสภาผู้แทนราษฎรในการวางกฎกติกาใหม่เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และแม้จะเป็นหนทางที่ต้องดำเนินไปอีกยาวไกลก็ตาม แต่หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ ก็หวังว่าการรวมตัวของประชาชนในครั้งที่แสดงพลังออกมาในแบบฉบับของตนเอง ได้รับการตอบสนองในการยอมรับที่จะปรับเปลี่ยนก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
“ความมั่นใจจะเกิดขึ้นเมื่อเห็นรัฐบาลออกมาเคลื่อนไหวดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง”

วันนี้ แม้บทบาทของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคยถูกมองว่าเป็นพวกนักสู้ข้างถนน ที่ในอดีตรัฐบาลไม่เคยให้ความสำคัญ ที่จะรับฟังเสียงหรือความคิดเห็น แต่ต้องยอมรับอย่างแท้จริงว่า ชีวิตที่พลิกผันของ 2 อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยที่มีอิทธิพลยิ่ง ล้วนมีจุดจบใน “อาชีพนักการเมือง” อย่างไร ? สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ความคิดเห็นของคนในภาคประชาชนมีส่วนสำคัญยิ่งที่ไม่อาจมองข้าม หลายคนที่เคยละเลยต้องหันกลับมาฟัง

หากทำเป็นไม่สนใจ แล้วเลือกที่จะปฏิบัติตามวิถีแห่งตน ก็จะพบกับสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมาย เพราะเสียงของประชาชนนับวันจะทวีความเข้มแข็งและชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีวุฒิภาวะทางความคิดสูง และไม่ใช่คนที่ถูกชักจูงได้โดยง่าย

“เวลานี้สูตรการเมืองใหม่ยังไม่ตายตัว จะลงตัวก็ต่อเมื่อมีรัฐบาล และมีการเขียนกติกา ซึ่งต้องต่อสู้กันอย่างหนักอีก เวลานี้เป็นเรื่องของจุดประกายความคิดเท่านั้น” พิภพบอกถึงเส้นทางการต่อสู้ที่ยังอีกยาวไกล