เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง “การเมืองใหม่ยังไม่มีสูตรตายตัว หากมีสูตรตายตัวก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย”

รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกและประธานคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ของ ส.ส.ร. ผู้มีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ในฐานะเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และยังเป็นเจ้าของรายการรู้ทันประเทศไทยทางเอเอสทีวี ซึ่งทำให้ภาพของเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิตท่านนี้ มีส่วนในการผลักดันแนวคิดของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่การปฏิรูปการเมืองใหม่ในแบบของอาจารย์เจิมศักดิ์ มีอีกมุมมองที่น่าสนใจ

“ต้องเข้าใจว่าการเมืองเก่ามีปัญหาอย่างไร?” นั่นคือบทเริ่มต้นของการสนทนา เพื่อถามถึงแนวคิดและผลที่ตามมาของการนำเรื่องการเมืองใหม่มาใช้ในช่วงวิกฤตของชาติช่วงนี้

รศ.ดร.เจิมศักดิ์ หรือที่คนทั่วไปมักเรียกติดปากว่า “อาจารย์เจิมศักดิ์” มองว่า การเมืองเก่าที่ผ่านมานานเป็นการได้ตัวแทนของประชาชน หรือที่เรารู้จักคือพวก ส.ส. นั้น ที่มาจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แบบซ้ำๆ เดิมๆ มีอาชีพซ้ำๆ กัน เป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่นั้นๆ ที่ดีก็มีอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าส่วนน้อย ส่วนใหญ่ก็ได้ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เป็นการเลือกซ้ำคนเก่าที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเสียเป็นส่วนใหญ่

แล้วคนส่วนใหญ่นั้นก็คิดว่าตัวเองเป็นผู้อุปถัมภ์ของคนในพื้นที่ ขณะที่คนที่อยู่ในเขตพื้นที่ซึ่งเป็นผู้เลือกก็คิดว่าต้องพึ่งพาคนเหล่านี้ได้ ก็เลยเลือกโดยไม่ได้คิดว่าการเลือกนั้นคือการเลือกเพื่อมาช่วยทำงานให้กับส่วนกลาง เป็นการทำงานให้กับส่วนรวม ไม่ได้เลือกมาให้เป็นผู้อุปถัมภ์ตัวเอง เลือกมาเพื่อมาให้ช่วยเหลือ ทำให้คนที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้อุปถัมภ์ แล้วการถูกเลือกมาก็เป็นไปตามระบบประชาธิปไตย แล้วนำไปอ้างว่าเมื่อถูกเลือกมาตามระบบประชาธิปไตยแล้วจะทำอะไรก็ได้

ถ้าการเมืองยังวนเวียนอยู่กับสิ่งเหล่านี้ การเมืองไทยก็ไปไม่รอด แล้วคนก็คิดว่าอยากทำอะไรก็ทำตามใจ แล้วก็อ้างความชอบธรรมของประชาธิปไตยที่ได้มาโดยระบบอุปถัมภ์ การเมืองใหม่ หรือการปฏิรูปการเมืองก็จะต้องมีการมองในเรื่องนี้ด้วย

ที่ผ่านมาการมีส่วนร่วมในการเมืองของประชาชนมี 2 รูปแบบ คือ การมีส่วนร่วมโดยผ่านระบบตัวแทน กับการมีส่วนร่วมในทางตรง

ปัจจุบันการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมในทางตรงกำลังเติบโตขึ้น รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ให้สิทธิประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ยังไม่ได้มีการนำมาใช้อย่างเต็มที่ อย่างเรื่องของการมีส่วนร่วมในเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม กับการมีส่วนเรื่องในการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพ ก็ได้มีการเติมเรื่องนี้ไป แต่ก็ยังทำไม่ได้อย่างเต็มที่

ในส่วนของการเมืองภาคตัวแทนต้องทำใหม่ ต้องหาตัวแทนของพื้นที่มาทำงาน เป็นตัวแทนอย่างแท้จริง เราอาจหาตัวแทนทางวิชาชีพที่มีความหลากหลายมากขึ้น จะมีสัดส่วนเท่าไรก็ตามแต่ เช่น อาจมีแบบ 50 ต่อ 50 ก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาในแต่ละพื้นที่ไป แต่ที่ผ่านมาที่ได้ในบางพื้น เช่น พื้นที่ทางธุรกิจ พื้นที่ของผู้มีอิทธิพล พื้นที่ของผู้อุปถัมภ์ ก็เป็นมาอย่างนี้โดยตลอด

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญปี 2550 ยังไม่ได้ช่วย เพราะคนบางคน บางอาชีพยังคงได้รับเลือก เป็นผู้มีอิทธิพลและเครือข่าย การเลือกตัวแทนก็ได้มาโดยทางเลือกตั้งเท่านั้น ไม่มีวิธีอื่น หรือการเลือกตั้งก็ต้องเปลี่ยนระบบใหม่ เพื่อให้ได้ตัวแทนที่มีความหลากหลายมากขึ้น เป็นตัวแทนอย่างแท้จริงของพื้นที่

อาจารย์เจิมศักดิ์ ยกตัวอย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมาในพื้นที่หนึ่ง มีพรรค 3 พรรค คือ ก. ข. และ ค.ปรากฏว่าการเลือกตั้ง ก. ได้เลือก 50,000 เสียง ข. ได้ 40,000 เสียง และ ค. ได้เลือก 30,000 เสียง ที่ผ่านมาคนที่ได้ 50,000 เสียงคือ ก. ก็ได้รับเลือก แล้วหมายความว่าอะไร ก็หมายความว่าอีก 70,000 เสียง คือคนที่ไม่เลือก ก. แล้ว ก. ได้เป็นตัวแทนของพื้นที่ได้อย่างไร? ในเมื่อเสียงที่ได้ยังไม่ถึงครึ่งหรือเสียงส่วนใหญ่ของคนในพื้นที่ การเลือกตั้งแบบนี้เป็นระบบที่ผิด ระบบการเลือกตั้งต้องเปลี่ยนใหม่

แต่การเลือกตั้งที่ดีและเหมาะสมนั้นมีแนวทางอย่างไร? อาจารย์เจิมศักดิ์มีข้อเสนอ โดยการยกตัวอย่างที่ประเทศเยอรมัน มีวิธีเลือกตั้ง หากปรากฏว่าผลเป็นอย่างที่ได้ คือ ก. ข. และ ค. โดย ก. มีคะแนนมากที่สุด ก็ให้นำจำนวนของ ส.ส. ที่รับเลือก มารวมกันเทียบกับสัดส่วนรวมของคนทั้งประเทศ แล้วคำนวณออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ หากคำนวณแล้ว ที่ได้เกินสัดส่วน 50% ก็ได้เลือกเข้าไปทำงาน

การเลือกตั้งแบบสัดส่วน ให้คำนึงถึงเสียงของประชาชนเป็นหลัก ประชาชนมีสิทธิออกเสียงเพื่อเลือกผู้แทน ให้ประชาชนมีผู้แทนในรัฐสภา คะแนนของแต่ละคนไม่ได้เป็นการชี้นำว่า คนที่ได้คะแนนมากกว่าจะได้สิทธิ์มากกว่า ต้องดูตามสัดส่วนของเสียงที่ได้ ดูจากเสียงคนประชาชนโดยเอาคะแนนทั้งประเทศรวม เอาคนได้เลือกสุดมาก่อน แล้วเลือกคนจากบัญชีรายชื่อ

ตัวอย่างที่เคยมีการเสนอในเรื่องสัดส่วนอย่างเข้าใจง่าย คือ วิธีการคำนวณเสียง ส.ส. แบบสัดส่วนนั้น หากสภามี ส.ส. 500 คน พรรคการเมือง ก. ได้คะแนนพรรค 50% ซึ่งก็เท่ากับว่าจะได้ส.ส. 250 คน แต่จำนวน ส.ส. 250 คนนั้นก็จะไปดูว่าพรรคการเมือง ก. ได้ ส.ส. ระบบเขตกี่คน หากได้ ส.ส. เขต 80 คน ก็ให้ไปเอา ส.ส. สัดส่วนมาอีก 70 คน ก็จะได้ ส.ส. 250 คน

เจิมศักดิ์ย้ำว่า การนำเสนอแนวทางโดยยกตัวอย่างของต่างประเทศไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องตายตัวที่จะเลือกตามแนวทางนี้เสมอไป การนำเสนอของพันธมิตรฯ ที่ออกมาเป็นสูตร 70 ต่อ 30 ก็เป็นข้อเสนอหนึ่ง คนที่ไม่รู้ก็ตีความไปต่างๆ วิพากษ์วิจารณ์กันไป แต่คนที่ค้านแนวคิดนี้ก็ต้องมีการเสนอทางเลือกอื่นมาให้ด้วย เหมือนกับที่มีการเสนอทางเลือกนี้ออกมา

อีกตัวอย่างคือ ที่ประเทศออสเตรเลีย ก็มีการแก้ปัญหาด้วยการเลือกตั้ง 2 ครั้ง หากครั้งแรก ก.ได้เลือก เพราะคะแนนมากที่สุด ก็ให้มีการเลือกตั้งอีกครั้ง โดยให้ตัวเลือกเป็นคนที่ได้เลือกเป็น อันดับ 1 และอันดับ 2 เพื่อให้ดูว่าคนที่เหลือจะให้คะแนนกับใคร ซึ่งจะให้ ก. มากกว่า หรือ ข. มากกว่า ก็ขึ้นอยู่กับ ค. ว่าจะให้คะแนนของเขากับใคร ถ้าให้ ก. ก.ก็ชนะ

ถ้าคิดว่าการเมืองไทยอับจน ไม่ควรใช้การเลือกตั้ง ก็ควรหามาจากการสรรหามากขึ้น ถ้าคิดว่าไม่ครอบคลุมก็ควรจะสรรหาคนจากทุกวิชาชีพมาส่วนหนึ่ง คนจะมองว่าอย่างไรก็ตาม ถ้าไม่เห็นด้วยก็เสนอทางเลือกอื่นมา คือเราทุกคนต้องมาช่วยกันคิด

ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้งแล้วเลือกคนที่ได้คะแนนมากที่สุดเข้ามา แต่ต้องเป็นการเลือกคนมาแบบมีส่วนร่วม มาจากทุกส่วนภาคของประชาชน จากทุกองคาพยพต่างๆ ในบ้านเมือง คนที่มองประชาธิปไตยแบบปัจจุบันก็มองผิด การเลือกตั้งก็ต้องมีทางเลือกอื่น ถ้าคิดว่าระบบ 70 ต่อ 30 ไม่ครอบคลุมก็เสนอมาว่าน่าจะเป็นแบบไหน แบบเยอรมัน แบบออสเตรเลีย แบบไทย หรือแบบผสมผสาน อย่างอังกฤษคนมองว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่คนในสภาสูงทั้งหมดไมได้มาจากการเลือกตั้งเลย ใช้การเลือกมา “คนก็ต้องศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสม ไม่มีใครสามารถหาสูตรตายตัวได้ คนที่หาสูตรตายตัวได้ก็ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตย”

“ผมเองก็ยังไม่รับกับสัดส่วน 70 ต่อ 30 ผมเชื่อว่าเขาเพียงหยิบมาเป็นตัวอย่าง ผมก็ไม่วิจารณ์ ผมก็มีตัวอย่างของผม คือการเลือกให้ได้ทุกวิชาชีพ ก็ผสมผสานกันไป”

อาจารย์เจิมศักดิ์มองว่าอยากทำบ้านเมืองให้เปลี่ยนแปลง ให้มีการยกเครื่องการเมืองใหม่ หรือปฏิรูปการเมืองใหม่อีกครั้ง อาศัยจากวิกฤตที่เกิดขึ้นครั้งนี้ การปฏิรูปการเมืองใหม่ไม่ใช่การเปลี่ยนกฎ กติกาเท่านั้น แต่ต้องปฏิรูปวัฒนธรรม ความคิด จริยธรรมของคนด้วย ไม่ใช่เลือกได้มาเป็นคนหน้าด้าน ที่ดึงดัน ไม่ยอมรับความผิด

การเลื่อนการประชุมสภาฯ เป็นเพียงการบรรเทาอาการชั่วคราว หรืออาจไม่บรรเทา เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การปฏิรูปการเมืองต้องทำให้จริงจัง อาศัยในช่วงนี้ที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อให้คนเห็นวิกฤต ช่วงนี้เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูปการเมืองใหม่โดยใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส ในช่วงคนมีส่วนร่วมโดยตรงกันมากขึ้น

หลักของการปฏิรูปในส่วนของตัวแทนประชาชนเป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุด แล้วให้คนส่วนใหญ่ที่เป็นประชาชนที่เริ่มมามีส่วนร่วมในการเมืองโดยตรงมากขึ้นมาร่วมกันทำงาน มีคนมาร่วมกันทำงานในการแก้ไข ทั้งให้มีการปรับร่างรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปคนที่มาเป็นตัวแทน ปฏิรูปวิธีคิด วัฒนธรรม จริยธรรม และการปฏิรูปสื่อ

แกนนำที่ทำในเรื่องนี้ได้ต้องเป็นรัฐบาลฟื้นฟูชาติ ไม่อยากใช้คำว่า รัฐบาลแห่งชาติ อาจยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันนี้