การเมืองสองกระแส

ชัยอนันต์ สมุทวณิช คอลัมนิสต์ เจ้าของคอลัมน์ “ชีวิตที่เลือกได้” ประจำหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เคยเป็นอดีตผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตประธานกรรมการการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย เขาเป็นอีกผู้หนึ่งที่ฉายแนวคิด สะท้อนความหมายและที่มาของ “การเมืองใหม่” และปัญหาของ “การเมืองเก่า” และปรากฏการณ์ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเอาไว้ได้น่าสนใจ

เทียบการเมืองใหม่ – เก่า

บทความของอาจารย์ชัยอนันต์ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2551 ในหัวข้อ “การเมืองใหม่คือการเมืองแบบธรรมชาติ” ได้เปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง “การเมืองเก่า” และ “การเมืองใหม่” ด้วยการตั้งสมมติฐาน ระบอบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน ซึ่งได้กำหนดให้พรรคการเมือง การเลือกตั้ง และรัฐสภา เป็นสถาบันทางการเมืองหลัก แต่ในปัจจุบันประชาชนมีการเคลื่อนไหวเป็นเอกเทศ แยกตัวออกจากพรรคการเมือง ก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่าง “การเมืองเก่า” กับ “การเมืองใหม่”

การเมืองเก่า
– พรรคการเมืองเป็นองค์กรเดียวที่สามารถส่งผู้สมัครเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง
– การเลือกตั้งทางตรงเป็นวิธีการเดียวในการได้ผู้แทนราษฎร
– การเลือกตั้งใช้การเป็นผู้แทนของพื้นที่
– มีการใช้เงินมากในการเลือกตั้ง
– การเคลื่อนไหวของประชาชนแยกตัวออกจากพรรคการเมือง
– พรรคการเมืองไม่ยอมรับการเคลื่อนไหวโดยตรงของประชาชน
– พรรคการเมืองถูกยึดกุมโดยกลุ่มทุนที่ประกอบด้วยคนจำนวนน้อย

การเมืองใหม่
– กลุ่มประชาชนที่ไม่ใช่พรรคการเมืองส่งผู้แทนเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้
– การเลือกตั้งทางตรงเป็นเพียงวิธีการหนึ่งเท่านั้นในการได้ผู้แทนราษฎร
– การเป็นตัวแทนอาศัยกลุ่มทางสังคมการเมืองด้วย
– ทุนมีบทบาทน้อยลง
– การเคลื่อนไหวของประชาชนเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่สำคัญ
– การเคลื่อนไหวโดยตรงของประชาชนมีผลต่อการตัดสินใจทางการเมือง
– การเมืองมีการเปิดพื้นที่ของการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง

การเมืองใหม่ ในความหมายของอาจารย์ชัยอนันต์ ควรจะเป็น “การเมืองแบบธรรมชาติ” ไม่ใช่การเมืองแบบทางการ

การเมืองแบบธรรมชาติ จะเกิดจากความรู้สึกร่วมกัน และเป็นการเมืองที่ไม่เกี่ยวกับการแข่งขันเพื่อช่วงชิงอำนาจ ดังนั้นบทบาทสำคัญของการเมืองใหม่จึงน่าจะเป็นอำนาจอ้างอิง ถ่วงดุล ตรวจสอบมากกว่าอย่างอื่น

บทบาทของการเมืองใหม่ อาจไม่ใช่การทดแทนการเมืองแบบเก่า แต่เป็นไปในเชิงตรวจสอบคัดค้านจนลดระดับความชั่วของการเมืองเก่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่พรรคเดียวมีอำนาจมากสามารถรวมพรรคเล็กๆ ไว้ได้โดยพรรคฝ่ายค้านไม่มีทางอาศัยกลไกทางรัฐสภาดำเนินการตรวจสอบถ่วงดุล “เผด็จการเสียงข้างมาก” ได้

ดังนั้น “การเมืองใหม่” จึงมีบทบาทสำคัญที่สุดในการต่อต้าน “เผด็จการโดยพรรคเดียว” เหมือนกับที่พันธมิตรฯ ได้กระทำมาแล้ว

บทความเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2551 อาจารย์ชัยอนันต์ได้ระบุถึงความหมายของ “การเมืองใหม่” ไว้ว่า เป็นการทบทวนรูปแบบและวิธีการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองแบบเดิม และหารูปแบบวิธีการใหม่ ข้อสำคัญ คือ รูปแบบและวิธีการใหม่นี้จะต้องได้รับความเห็นชอบ และมีความชอบธรรม

“การเมืองใหม่” นั้น มีสองความหมาย คือ ความหมายอย่างแคบ และความหมายอย่างกว้าง

อย่างแคบนั้นหมายถึงโครงสร้าง และกระบวนการทางการเมือง ส่วนอย่างกว้างขวาง หมายถึง นโยบายและมาตรการทางการเลือกที่มีลักษณะเฉพาะ และเหมาะสมกับสภาพการณ์ของสังคมไทย

เมื่อพูดถึงโครงสร้างและกระบวนการทางการเมือง ที่ต้องมีการทบทวน คือ การได้มาผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งการเมืองเก่านั้นจะมีลู่เดียว คือ ผ่านพรรคการเมือง – การเลือกตั้ง – สภาผู้แทนราษฎร – รัฐบาล

แต่หากจะมีมากกว่าหนึ่งลู่ ก็คือ การมีกลุ่มเข้าร่วมทางการเมืองหลายกลุ่ม ไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคการเมืองเท่านั้นที่ผูกขาดการสู่รัฐสภา หรือรัฐบาล

วิธีการที่ชอบธรรม ให้ตัวแทนจากองค์กรประชาชนเลือกกันเข้ามาเป็นตัวแทนภาคประชาสังคม ส่วนพรรคการเมืองจะแข่งขันกันทางการเมือง

สูตร 70:30

ในประเด็นที่ของสูตร 70:30 โดยผู้แทนในสภาฯ สัดส่วน 70 มาจากการคัดสรร และ 30 มาจากการเลือกตั้ง

บทความของอาจารย์ชัยอนันต์ระบุไว้อย่างชัดเจน ถึงสัดส่วนดังกล่าวว่า “ถ้าดูพรรคการเมืองในไทยที่มีฐานมวลชนแคบมากแล้ว สัดส่วน 30% ก็น่าจะดี อีก 50% น่าจะมาจากองค์กรปกครองท้องถิ่น และ 20% มาจากองค์กรประชาชน

ด้วยสัดส่วนเช่นนี้ อาจารย์ชัยอนันต์ เชื่อว่า หากมีการซื้อเสียง ผู้ต้องการได้อำนาจทางการเมืองก็ต้องใช้เงินมากขึ้น เป็นวิธีป้องกันไม่ให้เกิดการซื้อเสียงได้เลย ก็ต้องอาศัยวิธีการสรรหาที่ไม่ใช่การเลือกตั้ง หากกรรมการสรรหาเป็นผู้ซื่อตรงเที่ยงธรรม ซื้อไม่ได้ การสรรหาส่วนหนึ่งก็น่าจะแก้ปัญหาได้

การเมืองใหม่ในความหมายกว้าง ก็คือ การมีแนวนโยบายที่ไม่ปล่อยให้ทุนนิยมเต็มรูปเข้ามาครอบงำเศรษฐกิจไทย นั่นก็คือ การส่งเสริมวิถีชีวิตทางเลือกอย่างจริงจัง สนับสนุนระบบเศรษฐกิจพอเพียง และไม่เปิดตลาดเสรีมากจนเกินไป

“ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เราต้องมาช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรการเมืองไทยจึงจะพ้นสภาพที่ไม่พึงปรารถนา วิธีการใดจึงจะลด และขจัดการซื้อเสียงได้”

ในที่สุดไทย ก็ต้องหันไปหาระบอบ “กึ่งประชาธิปไตย” คือ ให้มีการร่วมกันใช้อำนาจระหว่างนักการเมืองกับพลังอื่นๆ ในสังคม

“ในสังคมที่คนรังเกียจการเมือง และมีนักการเมืองแบบนี้สมควรหรือไม่ที่เราจะฝากอนาคตของชาติไว้กับนักการเมืองแต่เพียงกลุ่มเดียว”

การเมืองสองกระแส

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ชัยอนันต์ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับ “การเมืองใหม่” ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะของรัฐสภาไทย ให้มีตัวแทนจากกลุ่มอาชีพเข้ามาร่วมในสัดส่วนที่มากกว่าจำนวนผู้แทนที่มาจากการ “เลือกตั้ง”โดยตรงนั้น “อาจเกิดขึ้นได้ยาก”

การแก้ปัญหาการซื้อเสียงจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ควรมีการพิจารณาอย่างจริงจัง ซึ่งลำพังการทำงานของ กกต. อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ต้องระดมสรรพกำลังจากหลายๆ ฝ่าย เช่น ให้การศึกษาแก่ประชาชน และการควบคุมดูแลการเลือกตั้งอย่างเป็นระบบด้วย

แม้การเมืองใหม่ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองเกิดได้ยาก แต่ “การเมืองใหม่” ในแง่วัฒนธรรมและจิตสำนึกทางการเมืองก็ได้เกิดขึ้นแล้ว และเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเชิงคุณภาพได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ก่อให้เกิดการเรียนรู้ทางการเมืองแบบเข้มข้นในระยะสั้น ซึ่งการเรียนรู้ทางการเมืองในสถานการณ์ปกติ จากครอบครัว จากโรงเรียนนั้น เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เป็นแบบ “รวมหมู่” ความรู้สึกร่วมจึงไม่ค่อยมี

วิธีการจัดการชุมนุมของพันธมิตรฯ มีความสอดคล้องกับลักษณะของคนไทย คือ การเรียนรู้ที่ต้องสนุกและเพลิดเพลิน สอดแทรกรายการดนตรี สนทนา ข่าว และการพูดบนเวทีของผู้มีความรู้ ประสบการณ์ที่หลากหลาย บวกกับการมีสื่อครบวงจรทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ และเคเบิลทีวี ทำให้ผู้ชุมนุมมีส่วนร่วมตลอดเวลา

รวมถึงการพัฒนาความรู้สึกร่วม ด้วยการสร้างสัญลักษณ์ ผ่านทางเสื้อยืด ผ้าพันคอ บทเพลง และเหรียญที่ระลึก

แกนนำพันธมิตรฯ ทั้ง 5 คน มีความสามารถสูงในการนำพาฝูงชน ซึ่งนับวันก็เกิดศรัทธา ความรักใคร่จากผู้เข้าร่วมชุมนุม

อาจารย์ชัยอนันต์ มองว่า เคล็ดลับของพลัง คือ การไม่ยกระดับการเคลื่อนไหวไปสู่การเมืองที่เป็นฝักฝ่าย และไม่จัดตั้งเป็นพรรคการเมือง

บทบาทที่สำคัญที่สุดของกลุ่มพันธมิตรฯ การสร้างจิตสำนึกทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

เป็นการสร้างทางเลือกให้ประชาชนมีความตื่นตัว มีความสนใจ และเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองโดยมีความเป็นเอกเทศ อยู่นอกระบบการเมืองที่เป็นการเมือง เป็นลู่ที่วิ่งคู่ขนานไปกับการเมืองที่เป็นการเมือง

ก่อให้เกิด “การเมืองสองกระแส คือ “การเมืองที่เป็นทางการ” กับ “การเมืองที่เป็นธรรมชาติ อยู่นอกระบบการเมือง

อาจารย์ชัยอนันต์ ให้ข้อคิดว่า จะปล่อยให้การเมืองสองกระแสดังกล่าวนี้ดำเนินควบคู่ต่อไป หรือจะมี “สายพาน” ที่เชื่อมการเมืองสองกระแสนี้ได้อย่างไร ความคิดที่จะเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งเพื่อเปิดโอกาสให้การเมืองที่อยู่นอกระบบการเมือง เข้าสู่กระบวนการทางการเมืองอย่างเป็นทางการจึงเกิดขึ้น

“ผมไม่แน่ใจว่าผู้นำและประชาชนที่เคลื่อนไหวอยู่จะพอใจกับการเข้าไปสู่การเมืองแบบทางการเมือง การอยู่นอกวิถีการเมืองแบบทางการ และคอยทำหน้าที่ถ่วงดุลตรวจสอบนักการเมือง น่าจะเป็นบทบาทที่ดี และเหมาะสมกว่าการเข้าไปสู่ในระบบการเมืองที่เป็นโดยตรง เพราะหากเข้าไปก็ยังเป็นส่วนข้างน้อยอยู่”

สิ่งที่เกิดขึ้น และทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนใหม่ คือ จิตสำนึกใหม่ทางการเมืองที่พันธมิตรฯ ได้สร้างขึ้น จะเป็นรากฐานของการเมืองภาคประชาชนที่แท้จริง

“พรรคการเมืองไม่อาจสร้างจิตสำนึกทางการเมืองขึ้นได้ ประชาชนเป็นสมาชิกพรรคการเมืองน้อยมาก ก่อให้เกิดคณาธิปไตย เพราะคนกลุ่มน้อยมีบทบาทในพรรค ในรูปของการให้ทุนสนับสนุนหรือไม่ ก็เป็นบุคคลที่มีฐานสนับสนุนทางการเลือกตั้ง ประชาชนไม่มีความภักดีต่อพรรคการเมืองใดๆ ทำให้พรรคการเมืองไม่อาจมีฐานสนับสนุนของมวลชนได้ จึงขาดพลังและความชอบธรรม”

ไม่ว่าการชุมนุมจะจบลงอย่างไร กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เปิดทางเลือกใหม่สำหรับการเมืองไทยขึ้นแล้ว โดยเฉพาะด้านจิตสำนึกทางการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง