โครงการ 3G อาจสร้าง Positioning ที่โดดเด่นให้กับบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) รัฐวิสาหกิจสื่อสารของไทย หรือที่รู้จักกันมานานว่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) หลังจากทีโอทีอ่อนแอและเงียบหายมานาน เพราะไม่มีการลงทุนโครงการใหม่ และโครงการเดิมที่มีอยู่ก็ไม่สามารถแข่งกับเอกชนได้
หลังจากยื้อยุดกับแคท เทเลคอม หรือ กสท โทรคมนาคม มานานเพื่อชิงความเป็นเจ้าของโครงการโทรศัพท์มือถือในย่านความถี่ 19000 MHz คลื่นความถี่ที่ทำให้ 3G เป็นจริงมากที่สุด เพราะอยู่ในย่านเดียวกับ 2.1 GHz ในที่สุดคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2551 ได้อนุมัติให้ทีโอทีลงทุนโครงข่ายโทรศัพท์ 3G และให้สิทธิทีโอทีในการเป็นเจ้าของโครงการทั้งหมด จากเดิมที่ทีโอที กับแคท เทเลคอม ร่วมทุนให้บริการภายใต้บริษัทไทยโมบาย จำกัด
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2551 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ได้พิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนของทีโอที แม้จะต้องใช้งบลงทุนถึง 29,000 ล้านบาท และปัจจุบันทีโอทีฐานะการเงินไม่ดี แต่เรื่องก็ผ่านได้ไม่ยากนัก เพราะทีโอทีใช้แผนการจัดซื้ออุปกรณ์ที่ใช้นโยบายการเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐ โดยมีรัฐเป็นผู้สนับสนุนจัดหาแหล่งเงินกู้ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าที่ทีโอที หรือเอกชนผู้ขายอุปกรณ์จัดหาให้ โดยมีผู้ผลักดันเต็มที่คือ “มั่น พัธโนทัย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
“วรุธ สุวกร” ซีอีโอของทีโอที บอกว่า การลงทุนครั้งนี้ หากผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหลังสภาพัฒน์อนุมัติ จะทำให้ทีโอทีเป็นผู้นำในการให้บริการ 3G โดยกำหนดชัดเจนว่าทีโอทีจะเป็น Network Provider หรือการเป็น WholeSaler สัญญาณโทรศัพท์มือถือ ให้เอกชนเช่าใช้เครือข่ายไปให้บริการ 3G เพราะทีโอทียังไม่เชี่ยวชาญด้านการทำตลาดเมื่อเทียบกับเอกชนที่มีความคล่องตัว และมีประสบการณ์มากกว่า
นี่คือการเดินหน้าก้าวสำคัญของทีโอที เพราะปัจจุบันทีโอทีประสบปัญหารายได้ต่อเลขหมายลดลงอย่างต่อเนื่อง ในฐานลูกค้าของทีโอทีทั้งประเทศที่มีอยู่ประมาณ 3.9 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นเขตนครหลวง 1.6 ล้านเลขหมายและภูมิภาค 2.3 ล้านเลขหมาย ทำให้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รายได้ทีโอทีลดลงในปี 2550 ประมาณ 3,000 ล้านบาท อยู่ที่ประมาณ 52,000 ล้านบาท จากปี 2549 มีรายได้ประมาณ 55,000 ล้านบาท และหากเทียบกับปี 2547 ที่เคยมีรายได้ถึงกว่า 76,000 ล้านบาท ยิ่งเห็นชัดเจนว่ารายได้ของทีโอทีจะเข้าขั้นวิกฤต
การรู้จุดอ่อนของตัวเองอย่างชัดเจนของทีโอที ทำให้กลายเป็นโอกาสของเอกชนที่อยู่ในสนามธุรกิจโทรศัพท์มือถืออยู่แล้ว รวมไปถึงเอกชนหน้าใหม่ ที่อยากเข้ามาในตลาดแต่มีต้นทุนน้อย
“ทีโอที เปิดกว้างให้เอกชนที่สนใจเป็นผู้ให้บริการเข้ามาเช่าเครือข่ายไปให้บริการ ทั้งผู้ที่อยู่ในตลาดอยู่แล้ว เอกชนหน้าใหม่ หรือแม้แต่ต่างชาติ เพราะในเครือข่ายที่ลงทุนครั้งนี้รองรับลูกค้าได้ 3.5 ล้านเลขหมาย ทีโอทีอาจแบ่งให้คนละ 1 ล้านเลขหมาย ก็เป็นได้” ผู้บริหารทีโอทีรายหนึ่งระบุ
โอกาสนี้ยังรวมไปถึงเอไอเอส เจ้าตลาดในไทยที่หากต้องการเช่าเครือข่ายก็สามารถทำได้ เพราะเอไอเอสมีข้อจำกัดเรื่องคลื่นความถี่ เป็นอีกแผนหนึ่งที่เดินไปพร้อมกับการที่เอไอเอสเสนอต่อรัฐมนตรีไอซีที
เพื่อขอแบ่งคลื่นความถี่ย่าน 1900 จากทีโอที จำนวน 5 MHz เพราะเรื่องคลื่นยังเป็นเรื่องใหญ่ต้องผ่านการพิจารณาอีกหลายขั้นตอน และที่สำคัญขณะนี้ผู้บริหารทีโอทีต่างบอกว่ายังไม่เห็นข้อเสนอของเอไอเอสมาถึงทีโอที
สำหรับเอกชนหน้าใหม่ แต่เป็นที่คุ้นเคยคือกลุ่มสามารถ คอร์ปอเรชั่น ที่ขณะนี้เข้านอกออกในทีโอทีได้อย่างเหนียวแน่น เป็นบริษัทที่ถูกวางให้เป็นเอกชนรายหนึ่งที่จ่อคิวได้รับสัญญาณ 3G ไปให้บริการ แม้ที่ผ่านมาจะไม่ประสบความสำเร็จจากบริการโทรศัพท์มือถือแบรนด์ “ฮัลโหล” แต่เงื่อนไขครั้งนี้เปลี่ยนไป เพราะสามารถฯไม่ต้องสร้างเครือข่ายเอง นอกจากนี้ยังมีต่างชาติที่สนใจเข้าตลาดไทย ทั้งจีน เกาหลี ที่อาจต้องการเข้ามาชิมลางในไทย โดยไม่ต้องทุ่มเม็ดเงินมหาศาลเหมือนที่ผ่านมา
3G สำหรับทีโอทีกับแผนการเป็น Network Provider คือความพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ และผู้บริหารทีโอทีเชื่อว่าจะทำให้ทีโอทีฐานะดีขึ้น แม้ว่าเอกชนที่อยู่ในตลาดปัจจุบันที่ให้บริการอยู่แล้วทั้งเอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ ต่างต้องการเดินหน้าสร้างเครือข่าย 3G เป็นของตัวเองมากกว่าที่ต้องมาพึ่งเครือข่ายของทีโอที แต่หากทีโอทีติดเครื่องได้เร็ว และทำได้ก่อนที่ 2.1 GHz จะถูกจัดสรรให้เอกชน ภายในปีหรือ 2 ปีแรก ทีโอทีก็จะสามารถคืนทุนได้ทั้งหมดทันที
หากทั้งหมดเป็นไปตามแผน ผู้บริหารไม่มีวาระซ่อนเร้น ความหวังที่จะทำให้ทีโอทีกลับมาเป็นเครือข่ายสื่อสารที่สำคัญของประเทศอาจเป็นจริงได้ในที่สุด
แผน 3G ของทีโอที
แผนการลงทุน
งบลงทุน 29,000 ล้านบาท (770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เปิดบริการปี 2552 โดยมีพื้นที่บริการทั่วประเทศ ด้วยจำนวนสถานีฐาน 5,200 แห่ง ติดตั้งแล้วเสร็จในปี 2556 และรองรับผู้ใช้บริการ 3.5 ล้านเลขหมาย
กลุ่มเป้าหมายที่จะมารับเช่าช่องสัญญาณ ไปให้บริการ
1. เอกชนเช่าเหมาเลขหมายไปให้บริการต่อ
2. ผู้ให้บริการโรมมิ่งในประเทศและระหว่างประเทศ
3. ผู้ให้บริการคอนเทนต์ และเว็บโมบาย
4. ผู้ให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
5. เจ้าของช่องรายการทีวี ทั้งทีวีออนโมบาย และไอพีทีวี
6. สถาบันการเงิน