เกมชิงคลื่น 3G

เกมชิงคลื่นความถี่ 3G ในเวลานี้ มีความเข้มข้นที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เพราะผู้เล่นในธุรกิจโทรศัพท์มือถือต่างต้องการบุกตลาด 3G เพื่อสร้างรายได้ และ 3G คือเมกะโปรเจกต์ของธุรกิจโทรคมนาคม ที่ต้องใช้เงินลงทุนรวมกันเป็นหลักแสนล้านบาท ยิ่งมูลค่าสูง ผลตอบแทนยิ่งสูง การ “ล็อบบี้” จึงต้องใช้ “พลัง” มาก โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ไม่ง่ายเหมือนในอดีต เพราะโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของไทยซับซ้อนกว่าเดิม

โทรศัพท์มือถือ 3G เป็นข่าว และถูกพูดถึงอย่างหนาหูตั้งแต่กลางปี 2550 เพราะการเดินเกมของ “เอกชน” ที่ไม่ต้องการ “รอ” อีกต่อไป และต้องการผลักดันให้ได้คลื่นความถี่มาขยายบริการโทรศัพท์มือถือด้วยเทคโนโลยีใหม่ในยุค 3G เพื่อให้การสื่อสารข้อมูลผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทำได้เร็วติดไฮสปีดมากกว่าเดิมหลายร้อยเท่า โดยเอกชนที่ออกแรงเต็มที่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาคือ เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ 3 ผู้เล่นในตลาดโทรศัพท์มือถือ ที่มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันแล้วเกือบ 100%

4 องค์กรทรงอิทธิพล

จากโทรศัพท์มือถือยุค 1G มาถึง 3G ในไทยใช้เวลาเกือบ 20 ปี เพราะลักษณะพิเศษ ที่โครงการเมกะโปรเจกต์ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล และการวิ่งใต้โต๊ะเพื่อแย่งชิงโครงการ จากข้อดีของ 3G ทำให้ต่างประเทศมี 3G ใช้มานานเกือบ 10 ปี และบางประเทศกำลังจะข้ามขั้นไปยัง 4G และเพราะข้อดีที่สามารถสร้างรายได้และผลประโยชน์ให้กับเอกชนผู้ให้บริการได้มหาศาล ทำให้ 3G ในไทยเจออุปสรรคจากอำนาจทางการเมืองยื้อยุด ขัดขวาง และการวิ่งเต้นตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา และเพราะข้อดีของ 3G นี่เองที่ทำให้ “การเมือง” ในยุคนี้ออกแรงดันเต็มที่ จนทำให้ 3Gในไทยเกิดขึ้น

ในธุรกิจสื่อสารของไทย เอกชนต้องวิ่งเต้นกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับกิจการสื่อสารของไทยในปัจจุบัน 4 แห่ง คือ

1. คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตั้งขึ้นตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 คณะกรรมการ กทช. มี 7 คน มาจากการสรรหา และผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา ชุดปัจจุบันทำหน้าที่มาตั้งแต่ปลายปี 2548 โดยเฉลี่ยอายุของ กทช. อยู่ที่ประมาณ 60-65 ปี และส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่เกษียณอายุราชการ หน้าที่หลักคือการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งที่ผ่านมาให้ใบอนุญาตกิจการที่ไม่ใช้คลื่น เพราะยังไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ โดยต้องรอการเปลี่ยนโครงสร้างกฎหมาย ที่รวมการกำกับดูแลกิจการด้านโทรคมนาคม กับวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์เข้าด้วยกัน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2552

2. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) รัฐวิสาหกิจที่เป็นผู้ให้สัมปทานโทรศัพท์มือถือแก่เอไอเอส

3. บริษัท แคท เทเลคอม จำกัด (มหาชน) รัฐวิสาหกิจที่ให้สัมปทานแก่ดีแทค ทรูมูฟ และฮัทช์

4. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร หรือไอซีที ซึ่งกำกับดูแลทีโอที และแคท เทเลคอม โดยมีอำนาจหน้าที่ในการมอบนโยบาย และแต่งตั้งบอร์ดของรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง

นี่คือจุดเริ่มต้นที่หากใคร “เส้นสาย” ดีกว่า ย่อมมีโอกาสเหนือคู่แข่ง

คลื่น 800 -900 นำร่องรอ 2.1 GHz
ขณะที่ กทช. ยังไม่สามารถอนุมัติคลื่นความถี่ใหม่สำหรับบริการ 3G ในย่าน 2.1 GHz ที่นิยมใช้กันทั่วโลกได้เพราะต้องรอกฎหมายการจัดตั้งองค์กรบริหารกิจการวิทยุโทรทัศน์ โดยรวมกิจการโทรคมนาคมเข้าไว้ด้วยกัน ทางออกในเวลานี้สำหรับไทย คือการพัฒนาเทคโนโลยีบนคลื่นความถี่เดิมที่เอกชนแต่ละรายได้สิทธิดำเนินการอยู่ คือคลื่นความถี่ในย่าน 800 900 และ 1900 เพราะปัจจุบันมีหลายประเทศ เช่น อเมริกา ออสเตรเลีย และยุโรปบางประเทศ ได้พัฒนาเทคโนโลยี HSPA หรือ HSPDA สำหรับใช้ความถี่ย่าน 800 ให้บริการ 3G หรือความเร็วพัฒนาไปถึงขึ้น 3.5G ได้ พร้อมกับมีโทรศัพท์มือถือหลายแบรนด์ที่เริ่มตอบสนอง รวมทั้งไอโฟน

“เอไอเอส” แรง
กลางปี 2550 เอไอเอสสามารถลงนามข้อตกลงกับทีโอทีเพื่อร่วมมือพัฒนาโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ และในเวลาต่อมาในนามของทีโอทีก็ได้รับอนุมัติจาก กทช. ให้นำเข้าอุปกรณ์สำหรับบริการ 3G ในคลื่นความถี่ที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือในปัจจุบันคือย่านความถี่ 900 MHz ที่เอไอเอสรับสัมปทานอยู่ ทำให้เอไอเอสสามารถเปิดตัวบริการ 3G ก่อนคู่แข่ง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 นอกจากนี้ เอไอเอสยังเดินเรื่องขอใช้คลื่น 1900 ประมาณ 5 MHz มาสำรองไว้เช่นกัน

แต่การขอครั้งล่าสุดนี้เอไอเอสได้เสนอผ่าน “มั่น พัธโนทัย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ซึ่งอยู่คนละพรรค คนละพวกกับ “ธีรวุฒิ บุญยโสภณ” อธิบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในฐานะประธานบอร์ดทีโอทีคนปัจจุบัน จึงทำให้ “มั่น” ออกมาให้สัมภาษณ์เองหลายครั้งว่าเอไอเอสเสนอขอมา และกำลังให้ทีโอทีกำลังพิจารณา ยิ่งเสถียรภาพรัฐบาลสั่นคลอน ยิ่งออกมาย้ำบ่อยครั้ง ขณะที่ทีโอทีได้แต่บอกว่า ยังไม่เคยเห็นเรื่องที่เอไอเอสขอมา จนมีข่าวลือการปลดประธานบอร์ดออกจากตำแหน่ง และยื้อเรื่องการแต่งตั้งซีอีโอใหม่ของทีโอทีไว้นานพอสมควร

ในเวลาเดียวกันนั้น ดีแทคพยายามประสานงานเพื่อขออนุมัติจากแคท เทเลคอมเช่นกัน แต่เรื่องค้างการพิจารณาที่บอร์ดแคท เทเลคอมเกือบ 1 ปี เพราะแคท เทเลคอม ยังมีทรูมูฟ และดีพีซี ในเครือเอไอเอส ที่ต้องจัดสรรให้เท่าเทียมกัน

ดีแทค-คลื่นแลกสิทธิ
ดีแทคโชคดีกว่าทรูมูฟ และดีพีซี เพราะดีแทคมีคลื่นความถี่ย่าน 800 ที่เคยให้บริการในระบบอนาล็อกเดิมอยู่ ขนาด (Bandwidth) 12.5 MHz ขณะที่ทรูมูฟและดีพีซีมีคลื่นในย่าน 1800 ที่ยังไม่มีเทคโนโลยีในโลกพร้อมให้บริการ 3G ทรูมูฟ และดีพีซีจึงต้องพยายามอย่างหนักจนทำให้ความต้องการของ “ดีแทค” ไม่ง่ายนัก

ในที่สุดการเจรจาก็บรรลุผล ท่ามกลางดินเนอร์บนโต๊ะอาหารสไตล์อิตาเลียน ย่านปากเกร็ด ดีแทคได้รับอนุมัติจากบอร์ด แคท เทเลคอม ให้พัฒนาเทคโนโลยี 3G บนคลื่นย่าน 800 MHz ขนาดความกว้าง 10 MHz โดยต้องแบ่งคลื่นจำนวน 2.5 MHz ให้กับทรูมูฟ เมื่อรวมกับของแคท เทเลคอมอีก 2.5 MHz ทรูมูฟได้ 5 MHz

ไม่มีรายงานตัวเลข “ต้นทุน” ที่ทำให้ทรูมูฟได้รับอนุมัติจากแคท เทเลคอม แต่เสียงที่เล่าต่อกันมาในวงการโทรคมนาคม คือเป็นหลักหลายสิบล้านบาท

สำหรับดีพีซีนั้น บอร์ดแคท เทเลคอม ไม่อนุมัติ โดยให้เหตุผลว่า เพราะดีพีซีผลประกอบการไม่ดี เมื่อเทียบกับดีแทค และทรูมูฟ

นี่คือด่านแรกที่ดีแทค และทรูมูฟต้องผ่านก่อนที่แคท เทเลคอมจะเสนอให้ กทช. พิจารณาอนุมัติ และไม่กี่เดือนต่อมา กทช. ก็อนุมัติ พร้อมกับแผนของเอไอเอส ที่ขอขยายการลงทุนเพิ่ม

สำหรับดีแทคแล้วคือการได้ฝ่าด่านสำคัญ และตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนให้กับดีแทคในการแข่งขันกับเอไอเอส แต่สำหรับทรูมูฟแล้ว ยังต้องตีความต่ออีกว่าจะสามารถลงทุนได้ทันทีหรือไม่ เพราะเป็นคลื่นใหม่ ที่ทรูมูฟไม่เคยได้สิทธิมาก่อน ต้องพิจารณาว่าต้องทำสัญญาเป็นโครงการใหม่ และเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีหรือไม่

นี่คือขั้นแรกของ 3G บนคลื่นความถี่เดิมที่มีอยู่ ที่แข่งขันกันอย่างเข้มข้น ทั้งที่แต่ละบริษัทยังมีข้อจำกัดการลงทุนว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ เพราะอายุสัมปทานของแต่ละบริษัทต่างเหลือกันไม่ถึง 10 ปี และที่สำคัญต้นทุนธุรกิจยังสูง เพราะมีสัญญาต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ทั้งทีโอที และแคท เทเลคอม ปีหนึ่ง 20-25%

แต่การเริ่มต้นแนะนำตัวเองให้กับผู้ใช้บริการในตลาดก่อนทำให้ได้เปรียบ เพราะจะทำให้รู้จักผู้ใช้บริการก่อน และแบรนด์เป็นที่จดจำ เพื่อที่ว่าเมื่อคลื่นใหม่ในย่าน 2.1 GHz ได้รับอนุมัติให้ปีหน้า “อนาคตใหม่” สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจสื่อสารก็จะสดใสกว่าเดิม เพราะแนวโน้มของเกณฑ์ใหม่ อายุใบอนุญาตจะนานกว่า 20 ปี ค่าใบอนุญาตที่ถูกกว่าค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายให้รัฐ

ทีโอที-แคท เทเลคอม รักษาที่ยืน
ไม่เพียงเอกชนที่เดินหน้า ในฟากของทีโอทีเอง ก็สามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติโอนกิจการบริษัทไทยโมบาย จำกัด ให้ทีโอทีแต่เพียงผู้เดียว จากเดิมที่มีแคท เทเลคอม ถือหุ้นอยู่ด้วย ซึ่งหมายความว่าทีโอที ได้สิทธิในคลื่นย่าน 1900 MHz ของไทยโมบายทั้งหมด เป็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญของทีโอที เพราะความถี่ 1900 คือย่านใกล้เคียงกับ 2.1 GHz โดยทีโอทีมีแผนลงทุนมูลค่า 29,000 ล้านบาท เป็น Network Provider ให้เอกชนมาเช่าใช้เครือข่ายไปให้บริการต่อ

สำหรับแคท เทเลคอมเอง ที่มี “ฮัทช์” รับทำตลาดในเครือข่ายย่าน 800 CDMA มานาน ใน 25 จังหวัด และถูกแช่โครงการขยายไปต่างจังหวัดมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เพิ่งปลดล็อกและสามารถวางเครือข่าย 3G เทคโนโลยี CDMA 1xEV-DO ใน 51 จังหวัดเมื่อกลางปี 2551 ที่ผ่านมา ก็กำลังลุยเต็มที่ภายใต้แบรนด์ CAT CDMA พร้อมกับเล็งซื้อกิจการจาก “ฮัทช์” ที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว 1.1 ล้านราย

นี่คือสถานการณ์ของเกมชิงคลื่นที่คึกคัก ต้องใช้พลังและเงินสะพัดมากอย่างยิ่งในรอบหลายปีสำหรับวงการโทรคมนาคมของไทย