3G มีแล้วเป็นไง?

หากความเร็วของอินเทอร์เน็ตคือสิ่งแรกที่จะคนไทยจะได้จากการเกิดขึ้นของ 3G “คอนเทนต์” หรือบริการเสริมทั้งหมด ดูเหมือนจะเป็นอย่างที่สองซึ่งจะตามมาหากมี 3G เกิดขึ้นจริงๆ

แต่ประเด็นสำคัญคงไม่ได้อยู่ที่เพียงคำที่ว่า “คอนเทนต์แบบไหนที่คนไทยจะได้เห็นบนเครือข่ายที่เร็วขึ้น” เพราะคำถามที่ว่า “3G จะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นอย่างไร” ก็กลายเป็นคำถามที่ใครๆ ก็ต้องอยากจะได้คำตอบด้วยเช่นกัน

ผลพลอยได้จาก 3G

ที่ผ่านมา เมืองไทยมีค่ายโอเปอเรเตอร์อย่าง Hutch นำเสนอบริการบางอย่างที่พบเห็นได้ว่าอยู่บนมือถือ 3G อยู่บ้าง แต่การอยู่ไม่ถูกที่ ไม่ถูกเวลา ทำให้บริการของ Hutch ไม่แรงพอจะเป็น Talk of the town ได้ ไม่ว่าจะเป็นบริการ Navigator ซึ่ง Hutch ขายมือถือสองเครื่อง สองเบอร์คู่แฝดติดกัน มีฟังก์ชันค้นหาตำแหน่งซึ่งกันและกันผ่านเครือข่ายไฮเทคของตน แม้จะนั่งอยู่ในโถส้วม หรืออยู่ในสยาม หากไม่ปิดเครื่องไปเสียก่อน ต่างคนก็จะหาเครื่องที่คู่กันเจอในเวลาไม่กี่นาที

บริการที่ Hutch เปิดตัว ถือเป็นต้นแบบของบริการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้จากบนเครือข่าย 3G เพียงเล็กน้อย เพราะหากไม่นับรวมบริการโมบายบรอดแบนด์แล้ว มีการแบ่งแยกคอนเทนต์ที่จะเติบโตในทันทีที่มี 3G เกิดขึ้นเอาไว้อย่างน่าสนใจ

มีการสรุปรวมเอาไว้ว่า หากมี 3G เกิดขึ้น ความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่ถูกปลดล็อก ส่งผลให้คนสามารถดาวน์โหลดเพลง หนัง คลิปวิดีโอ ภาพขนาดใหญ่ ส่งอีเมล ดาวน์โหลดไฟล์งาน เอกสาร ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

รายงานของบริษัทวิเคราะห์อย่าง Informa Media and Telecoms เปิดเผยว่า ตลาดคอนเทนต์ของมือถือทั่วโลกในปี 2552 จะสูงถึง 50,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และแนวโน้มจะยิ่งขึ้นตามลำดับ

สอง คือกลุ่มบริการธุรกรรมทางการเงิน ผลพลอยได้ของฝั่งธนาคารซึ่งรอคอยการมาของ 3G โดยตลอด

จุดเปลี่ยนของตลาด

ก่อนหน้านี้ แนวทางของการให้บริการคอนเทนต์บนมือถือมักจะเกิดจากการที่โอเปอเรเตอร์เป็นผู้คิดค้น ผลิตและจัดจำหน่ายบนเครือข่ายของตนเอง ทำให้สัดส่วนของรายได้ในตลาดคอนเทนต์โดยมากมักจะตกไปอยู่ในมือของโอเปอเรเตอร์เสียส่วนใหญ่ แต่ในอนาคตอันใกล้การเกิดขึ้นของ 3G ทำให้คาดการณ์กันกว่าครึ่งของรายได้จะตกไปอยู่ในมือของผู้ผลิตคอนเทนต์มากกว่าตกไปอยู่ในมือของโอเปอเรเตอร์

ทำให้ทั้งโอเปอเรเตอร์ก็เร่งหาทางออกด้วยการหาพันธมิตร เทกโอเวอร์บริษัทผลิตคอนเทนต์มาเป็นของตนเสียเอง ในทางกลับกัน บริษัทผู้พัฒนาคอนเทนต์ก็เร่งออกคอนเทนต์ใหม่ๆ เข้ามาในตลาดให้เกิดการกระตุ้นการใช้งานมากขึ้น

ตลาดอุปกรณ์ไอที ซึ่งได้ผลพวงมาจากความเร็วของอินเทอร์เน็ตบนมือถือ ตลอดจน ความแพร่หลายของการใช้งาน โดยดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย และพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เคยให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า

การเปลี่ยนแปลงไปของเทคโนโลยีการสื่อสาร โดยเฉพาะความเร็วของบรอดแบนด์ที่เพิ่มขึ้นและแพร่หลายมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการหลอมรวมกันของอุตสาหกรรมโทรคมมนาคม ไอที รวมถึงการกระจายภาพและเสียง

ดร.สุพจน์ ชี้ให้เห็นว่า อุปกรณ์ที่จะใช้งานในอนาคตจะเปลี่ยนรูปแบบไป “เครื่องเดียว” ทำงานได้หลายอย่างจะมีให้เห็นกันมากขึ้น ทั้งอุปกรณ์ที่รองรับการทำงานทั้งเป็นระบบนำทาง GPS เป็นเครื่องเล่น MP3 หรือ PDA จะอยู่ในเครื่องเดียวกัน หรือการใช้งานอินเทอร์เน็ต รับชมทีวีและเป็นคอมพิวเตอร์ ก็ยังอยู่ด้วยกันในอุปกรณ์เดียว

การขายสินค้าแบบพ่วงต่อ หรือบันเดิลจะเห็นมากยิ่งขึ้นในตลาดอนาคต ธนา เธียรอัจฉริยะ เคยขายไอเดียว่า ดีแทคอยู่ในระหว่างการเจรจากับผู้ผลิตมือถือ และผู้ผลิตโน้ตบุ๊กบางราย เพื่อที่จะหาความร่วมมือในการผลิต หรือแม้แต่ขายพ่วงสินค้าที่จะเป็นไปได้หากมี 3G เกิดขึ้น

ตัวอย่างที่ธนากำลังพูดถึงเห็นได้ชัดจาก เมื่อไม่นานมานี้ AOL ผู้ให้บริการบรอดแบนด์ยักษ์ใหญ่ในอังกฤษ เคยเสนอโปรโมชั่นพิเศษให้ลูกค้าที่ซื้อแพ็กเกจบรอดแบนด์ความเร็ว 8 เมกะบิตต่อวินาที พร้อมบริการโทรออกภายในประเทศไม่จำกัดจำนวน พ่วงการโทรออกไปต่างประเทศ

โดยลูกค้าจะได้รับโน้ตบุ๊กหนึ่งเครื่องฟรีหากซื้อแพ็กเกจเหล่านั้นอยู่ในระบบหรือทำสัญญายาว 2 ปี โดย AOL ถือโอกาสเอาคอนเทนต์ที่น่าสนใจใส่เข้าไปในโน้ตบุ๊กเพื่อหวังผลในบั้นปลาย โดยเฉพาะหวังว่าลูกค้าจะใช้และนำมากลบกับค่าโน้ตบุ๊กที่ต้องจ่ายไป และหักลบกลบหนี้สุดท้ายแล้ว AOL ก็ได้กำไร

นี่เป็นแนวทางของตลาดที่จะเกิดขึ้น และเปลี่ยนแปลงไปจนแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้ไม่ว่าจะตลาดมือถือ ตลาดไอที และอีกหลายตลาดที่จะผนวกเข้ามารวมขายบันเดิลไปด้วยกัน

บริการขั้นเทพ

นี่คือตัวอย่างบริการขั้นเทพที่จะเกิดขึ้นจากเครือข่ายที่เร็วยิ่งขึ้น และเกิดขึ้นจริงในหลายประเทศที่มี 3G ใช้แล้ว
•Mobile Commerce ค้าขายผ่านมือถือ ซื้อขายหุ้นผ่านมือถือ บริการผูกติดบัญชีกับซิมการ์ด ซื้อขายของ ณ จุดที่ให้บริการ
•Mobile Banking ทำธุรกรรมผ่านมือถือ เช็กยอด โอนเงิน ชำระค่าบริการสาธารณูปโภคผ่านมือถือ
•Mobile Game เล่นเกมออนไลน์ผ่านมือถือ
•บริการ Video Conference ประชุมผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ
•บริการ Video Call โทรศัพท์แบบเห็นหน้า
•ดาวน์โหลดเพลง มิวสิกวิดีโอ คลิปวิดีโอ หนังยาวทั้งเรื่อง หรือแม้แต่เพลงทั้งอัลบั้ม
•บริการแผนที่ หรือระบบนำทางบนมือถือแบบเรียลไทม์
•ระบบรักษาความปลอดภัยที่ยิงภาพสดจากสถานที่เข้ามายังมือถือ
•บริการแชตออนไลน์บนมือถือ
•บริการช้อปปิ้งออนไลน์
•รับชมภาพทีวีเรียลไทม์ ถ่ายทอดสด
•บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ อาทิ hi5 และกลุ่ม Citizen Reporter
•บริการรับชมภาพการจราจรบนท้องถนนแบบเรียลไทม์
•บริการเปิดตัวสินค้า เปิดตัวอัลบั้มเพลงผ่านทางโทรศัพท์มือถือ

เกาะกันโต
การมาของ 3G ทำให้ตลาดเหล่านี้เติบโต
•บรอดแบนด์
•มือถือ
•โน้ตบุ๊ก และเน็ตบุ๊ก
•ธุรกิจเพลง
•ธุรกรรมทางการเงิน
•คอนเทนต์อื่นๆ

ลอรีอัล วิ่งฉิวด้วย 3G
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว บริษัท L’Oreal ในอังกฤษ ให้พนักงานที่อยู่ในแผนกคอนซูเมอร์โปรดักส์และแผนกผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม ใช้ Vodafone Mobile Connect 3G/GPRS Data Card หรือการ์ดที่ใส่ซิมการ์ดแล้วต่อพ่วงกับคอมพิวเตอร์เพื่อเข้าถึงอินเทอร์เน็ตติดตัวไปด้วยเมื่อต้องออกนอกจากสถานที่

เมื่อพนักงานเหล่านี้ไปพบกับลูกค้า และต้องรับออเดอร์ของ L’Oreal จากลูกค้า บริษัทให้พนักงานเหล่านี้คีย์ข้อมูลเข้าระบบและส่งกลับมาที่ระบบกลางของการสั่งสินค้าของบริษัทในทันทีผ่าน Data Card ที่ว่า เพื่อที่ผลการสั่งสินค้าจะทันท่วงทีและทันต่อความต้องการของลูกค้า ไม่ต้องรอให้พนักงานกลับไปบริษัทและทำเรื่องสั่งสินค้าซึ่งใช้เวลาข้ามวันหรือข้ามคืน

ทั้งนี้ L’Oreal ได้เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้งานสั่งสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตโมเด็มธรรมดาและใช้ Data Card บนเครือข่าย 3G แล้วพบว่าสมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับราคาที่ต้องจ่ายไปกับความรวดเร็วและความพึงใจของลูกค้าที่คืนกลับมา ใน 12 เดือนบริษัทจึงเริ่มเดินหน้าให้ Data Card กับพนักงาน 200 คนเพื่อใช้งานดังกล่าว

ไม่เพียงแค่นั้น L’Oreal ยังคาดหวังว่าจะใช้ความเร็วของ 3G ในการสอนหรือพรีเซนต์สินค้าของตนเองผ่านระบบมัลติมิเดียหรือเรียลไทม์ให้กับลูกค้าโดยตรงจากบริษัท แทนการส่งซีดีไปทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองมากอีกด้วย

Did U know?
บริการเสริมแรกบนเครือข่าย 3G รายแรกเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น โดย FOMA เปิดบริการ Video Call สำหรับลูกค้าของตน