ต่างชาติทิ้งแสนล้าน หุ้นไทยดิ่ง 300 จุด

9 เดือนแรกของปี 2008 ท่ามกลางข่าวสถาบันการเงินล้มรายแล้วรายเล่า เงินต่างชาติขายหุ้นสุทธิแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท ดัชนีหุ้นร่วงไปแล้วเกือบ 300 จุด หากพอร์ตต่างชาติที่อยู่ในตลาด 1 ล้านล้านบาทหายไป ตลาดหุ้นไทยจะดิ่งหายไปอยู่ที่ใดซึ่งยังไม่มีเซียนหุ้นคนใดกล้าฟันธง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยลบที่มาจากการเมืองในประเทศยืดเยื้อ จึงเหลือเพียงคำแนะนำเพียงว่าทั้งขาใหญ่ และแมงเม่าควรปรับพอร์ตเล่นหุ้น ปรับ Mind Set ถือยาว หรือทางที่ดีไปลงทุนอย่างอื่นดีกว่า

เพียงแค่ 9 เดือนแรกของปี 2008 ที่มีข่าวหนาหู และปรากฏเป็นจริงที่สถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาล้มระเนระนาด ต้องเพิ่มทุน ถูกเทกโอเวอร์ และล้มละลาย จนมาถึง “เลแมน บราเดอร์ส” และ “เอไอจี” ตลาดหุ้นของไทยได้ซึมซับรับพิษไปอย่างเบ็ดเสร็จมาแตะในระดับ 550 จุด ที่สำคัญคือเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นไทย จนยอดขายหุ้นสุทธิของต่างชาติ ตั้งแต่มกราคม-กันยายน 2008 สูงถึงประมาณ 123,000 ล้านบาท ขณะที่ 2 ปีที่ผ่านมา แม้ปัจจัยการเมืองภายในประเทศจะเป็นปัจจัยลบ แต่ต่างชาติก็ยังซื้อสุทธิ โดยปี 2006 ซื้อสุทธิ 83,446 ล้านบาท และปี 2007 ซื้อสุทธิ 55,018 ล้านบาท

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือนักลงทุนทั้งขาใหญ่ และแมงเม่าต่างกลัว และกำลังเป็นจริง คือการล้มตามมาเป็นระลอกของสถาบันการเงินแห่งอื่นในสหรัฐฯ และยุโรป จนทำให้ตลาดดิ่งลึกไป เพราะตลาดหุ้นไทยมีทุนสหรัฐฯ และต่างชาติถือหุ้นมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านบาท

หากกลุ่มนี้เลือกถอยกลับไปตั้งหลักที่ประเทศตัวเองกันหมด โดยเฉพาะจากยุโรป และสหรัฐฯ และหากซ้ำเติมด้วยปัจจัยภายลบหลักในประเทศคือปัญหาการเมืองยังยืดเยื้อ จนทำให้กองทุนเอเชียวิ่งหนีอีก จะเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทย

ณ วันที่ 2 มกราคม 2008 ดัชนีตลาดหุ้นปิดที่ 842.97 จุด แต่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2008 ดัชนีปิดต่ำสุดในรอบ 5 ปี ที่ 551.80 จุดหายไป 291.17 จุด เป็นดัชนีที่ลดลงต่ำพอๆ กับปี 1989 และเป็นดัชนีที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997

ขณะที่วันที่ 7 ตุลาคม 2008 ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงดิ่งลงไปอีก ตลาดหุ้นไทยก็เตรียมดิ่งตาม แต่อาการหนักขึ้น เพราะรับข่าวการเมืองในประเทศที่รุนแรง จากการที่ตำรวจปราบกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อเปิดทางให้ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายรัฐบาลก่อนเข้าบริหารประเทศตามกฎหมายต่อสมาชิกรัฐสภา

นี่คือสัญญาณจากตลาดหุ้น แหล่งที่อ่อนไหวและรับข่าวอย่างรวดเร็ว ที่บ่งบอกชัดเจนว่าประเทศไทยกำลังเจอข่าวร้ายทั้งนอกและในประเทศ เศรษฐกิจที่เคยทำท่าเพียงแค่เติบโตชะลอตัว อาจเข้าสู่ชะงักงัน

ปรากฏการณ์นี้ทำให้นักวิเคราะห์หุ้น และโบรกเกอร์หุ้นทั้งหลายยอมที่จะรับคอมมิชชั่นลดลง และถ้าไม่จำเป็นก็เลือกที่จะเลี่ยงแนะนำตัวหุ้นแบบชี้ชัด โดยเฉพาะกลุ่มเก็งกำไรระยะสั้น เพราะยังไม่เห็นวี่แววว่าตลาดหุ้นจะฟื้นโดยเร็ว แต่หากต้องการลงทุนระยะยาว ก็ยังพอมีโอกาสอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถฟันธงกันได้ว่า ระยะยาวนั้นคือนานแค่ไหน เพราะยังลุ้นว่ากำลังภายในของประเทศเองจะแรงเพียงใด

เปิดพอร์ตต่างชาติในหุ้นไทย SET 100

กลุ่มทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยที่มีอยู่รวมๆ แล้วประมาณ 1 ล้านล้านบาท นอกจาก “เลแมน บราเดอร์ส” และ “เอไอจี” ยังมีกลุ่มทุนอื่นทั้งวาณิชธนกิจ และธนาคาร รวมทั้ง NOMINEES อีกหลายราย จากหลายประเทศ จากมูลค่าตลาดหรือมาร์เก็ตแค็ป ณ สิ้นเดือนกันยายน 2008 ประมาณ 4.7 ล้านล้านบาท กว่า 90% ถือหุ้นขนาดใหญ่ใน SET 100 หากอเมริกา “ล้มละลาย” กลุ่มทุนเหล่านี้ต้องขายสินทรัพย์ในไทยเพื่อนำดอลลาร์กลับเข้าไปกู้วิกฤตให้ประเทศตัวเอง ตลาดหุ้นไทยคงอาการหนักกว่าที่เป็นอยู่

จากการสำรวจของ POSITIONING ในบริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ 100 อันดับแรก (SET 100) พบสถาบันการเงินหลักๆ ของสหรัฐฯ และยุโรป ถือหุ้นสามัญในบริษัทจดทะเบียนของไทยจำนวนมาก โดยบางบริษัทยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ดังนี้

1. กลุ่มเลแมน บราเดอร์ส ที่ถือในบริษัทสยามสตีล อินเตอร์เนชั่นแนล (SIAM) 2% จำนวน 13.29 ล้านหุ้น ถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (GRAND) 43.23%

2. กลุ่มเจพี มอร์แกน ถือประมาณ 8 บริษัท โดยส่วนใหญ่เป็นเจพีมอร์แกน ไอร์แลนด์ เช่น บล.ทิสโก้ (TISCO) ธนาคารทหารไทย (TMB) ควอลิตี้เฮาส์ (QH)

3. กลุ่มโกลด์แมนแซคส์ ถือประมาณ 25 บริษัท เช่น แอดวานซ์ฯ (ADVANC) ทรู (TRUE) จีสตีล (GSTEEL) อิตัลไทย (ITD) แอลพีเอ็น (LPN) โดยถือหุ้นใหญ่มากกว่า 10% ในเมเจอร์ (MAJOR) โรบินสัน (ROBINS)

4. แบงก์ออฟนิวยอร์ก ถือเกือบ 30 บริษัท ทั้งในกลุ่มธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ บันเทิง สื่อสาร พลังงาน เช่น อมะตะ (AMATA) ปตท.สผ. (PTTEP) โฮมโปร (HMPRO)

5. กลุ่มสเตทสตรีท ถือเกือบ 60 บริษัท เกือบทุกกลุ่มในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น กรุงไทย (KTB) แลนด์แอนด์เฮาส์ (LH) เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ (AP) เอ็กโก้ (EGCO) ปตท. (PTT)

6. กลุ่มมอร์แกนสแตนเลย์ ประมาณ 20 บริษัท เช่น แบงก์กรุงเทพ (BBL) ช.การช่าง (CK) ทีพีไอพีแอล (TPIPL) แอลพีเอ็น (LPN) บางจาก (BCP) ไทยออยล์ (TOP) ซีพีออลล์ (CPALL)

7. กลุ่มเมอร์ริล ลินช์ มีประมาณ 5 บริษัท เช่น กสิกรไทย (KBANK) เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ปตท.โรงกลั่นและอะโรเมติกส์ (PTTAR)

8. กลุ่มเอไอเอ/เอไอจี มีประมาณ 22 บริษัท โดยถือหุ้นใหญ่ในซีพีออลล์ (CPALL) เป็นอันดับ 3 จำนวน 8.93% ในโฮมโปร (HMPRO) อันดับ 3 จำนวน 5.08%

9. กลุ่มแบร์สเติร์นส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ถืออยู่ 3 บริษัท เช่น บล.ซีมีโก้ (ZMICO) อาร์ซีแอล (RCL)

เซียนหุ้นชี้ตลาดหุ้นซึมยาว

รายชื่อและจำนวนหุ้นมากมายของกลุ่มทุนต่างชาติในตลาดหุ้นนี้ “กวี ชูกิจเกษม” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเฉพาะมอร์แกน สแตนเลย์ มีหุ้นมูลค่า 22,000 ล้านบาท โกลด์แมนแซคส์ ประมาณ 24,000 ล้านบาท กลุ่มนี้วันนี้อาจยังไม่ขาย แต่ระยะหนึ่งก็อาจขาย นี่คือความเสี่ยงระยะสั้นสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้น

ส่วนจะทำให้ตลาดหุ้นดิ่งนานเพียงใดนั้น “กวี” บอกว่า หากย้อนดูอดีต เมื่อสถาบันการเงินมีปัญหา ในปี 1989 สถาบันการเงินล้ม 190 แห่งในปี 1990 เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวประมาณ 5 ไตรมาส นั่นคือในอดีตที่ยังไม่มีธุรกรรมแบบ CDO โดยส่วนตัวแล้วยังเชื่อว่าวิกฤตรอบนี้ยังมีสิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้ “พรม” ภายใต้การทำธุรกิจของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ อีกมาก เพราะกรณีของเอไอจี ก็เป็นสิ่งเหนือความคาดหมายทั้งที่มีบริษัทจัดอันดับเครดิตให้เรตติ้งถึง AAA

รอบนี้จึงเป็นผลให้วิกฤตเศรษฐกิจลุกลามทั่วโลก และตลาดหุ้นไทยก็รับความบาดเจ็บไปแล้ว

“สุกิจ อุดมศิริ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ นครหลวงไทย จำกัด บอกว่า ตลาดหุ้นปีนี้คิดว่าแย่แล้ว ปีหน้าจะแย่มากกว่านี้ เพราะหากย้อนกลับไปดูวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 ปี 1998 ตลาดหุ้นตกลงมาก เพราะหลังวิกฤตจะมีลูกโซ่ตามมาอีกมาก

ในฐานะผู้ให้คำแนะนำการลงทุนในหุ้น “สุกิจ” มองว่า การแก้ปัญหาของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่อัดฉีดเงินช่วยเหลือสถาบันการเงินสหรัฐฯ เป็นการแก้ “วิกฤตความเชื่อมั่น” หรือการแก้เฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ “วิกฤตของสถานะสถาบันการเงิน” ที่ขณะนี้ขยายวงจากวาณิชธนกิจไปจนถึงบริษัทประกันภัย ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง รวมไปถึงการจัดเรตติ้งที่เคยเป็นที่ยึดเหนี่ยวในการลงทุนของนักลงทุน ก็เชื่อถือไม่ได้อีกต่อไป

เมื่อภาวะเศรษฐกิจไม่ดี บริษัทจดทะเบียนจะทำกำไรลดลง คงไม่เห็นตัวเลขกำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 10-12% เหมือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นขึ้นได้ยาก เพราะเมื่อสถาบันการเงินเหล่านี้ล้มลง บรรดากองทุนเก็งกำไร Hedge Fund ก็พลอยหายไปด้วย ซึ่งอาจได้เห็นราคาน้ำมันที่นิ่งมากขึ้นเพราะพวกเก็งกำไรไม่อยู่

“วันนี้การลงทุนในตลาดหุ้นต้องปรับ Mind Set คืออย่ามองว่าซื้อหุ้น แต่มองว่าซื้อธุรกิจ ให้มองกำไรบริษัท อย่าไปมองราคา เพราะถ้ากำไรโตราคาก็เพิ่ม และได้เงินปันผล”

นักลงทุนต้องปรับแนวคิด คอนเซ็ปต์ในการลงทุนใหม่ เช่นเดียวกับทั้ง “กวี และ สุกิจ” 2 นักวิเคราะห์หุ้นที่คร่ำหวอดอยู่กับตลาดหุ้นมานาน ที่ยังมองไม่เห็นว่าเมื่อไหร่ดัชนีหุ้นจะกลับคืนมา และยุคของมนุษย์ทองคำจะมาถึงอีกรอบ

“ตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ ผมมีโอกาสได้เจอดัชนีหุ้น 1,500 จุด”

“ส่วนผม มาตอน 800 จุด”

“กวี” และ “สุกิจ” ต่างพูดถึงอดีตในช่วงหนึ่งของความรุ่งโรจน์ตลาดหุ้นบนเส้นทางนักวิเคราะห์หุ้น เพราะไม่เพียงดัชนีที่กระฉูด มีการซื้อขายต่อวันจำนวนมากแล้ว ผลตอบแทนที่ฮือฮามากคือโบนัส 25 เดือน ซึ่งนับจากนี้คงอีกนานที่จะวนกลับมาอีกรอบ

ดัชนีตลาดหุ้นไทย
เมษายน 1975 100 จุด ***มาร์เก็ตแค็ป กันยายน 1988 = 246,674.79 ล้านบาท
มิถุนายน 1989 606.21 จุด
กรกฎาคม 1990 1,115.73 จุด
ธันวาคม 1993 1,682.85 จุด
ตุลาคม 1996 910.33 จุด ***มาร์เก็ตแค็ป ประมาณ 3 ล้านล้านบาท
ธันวาคม 1997 372.69 จุด ***ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ***มาร์เก็ตแค็ปลดลงเหลือประมาณ 1 ล้านล้านบาท
สิงหาคม 1998 214.53 จุด
กันยายน 2001 277.04 จุด ***เกิดวินาศกรรม 11 กันยาฯ
ธันวาคม 2003 772.15 จุด
ธันวาคม 2004 668.10 จุด
ธันวาคม 2005 713.73 จุด
ธันวาคม 2006 679.84 จุด
ธันวาคม 2007 858.10 จุด **** มาร์เก็ตแค็ป ประมาณ 7 ล้านล้านบาท
กันยายน 2008 596.54 จุด***วิกฤตสถาบันการเงินจาก “Hamburger Crisis” *** มาร์เก็ตแค็ปเหลือประมาณ 5 ล้านล้านบาท
6 ตุลาคม 2008 551.80 จุด *** สถาบันการเงินในยุโรปมีปัญหามากขึ้น ***นักวิเคราะห์ชี้สถาบันการเงินล้มอีกเป็น 100 แห่ง

ตลาดหุ้นเอเชีย “แบล็กมันเดย์”

แม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะสามารถเสนอสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติแผนการนำเงินภาษีประชาชนมาอุ้มสถาบันการเงินในสหรัฐฯ 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่ทั่วโลกก็ยังไม่มั่นใจว่าเงินก้อนนี้จะสามารถฟื้นสถาบันการเงิน และหยุดวิกฤตเศรษฐกิจได้หรือไม่ เพราะทันทีที่เปิดตลาดหุ้นในวันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม 2008 ดัชนีตลาดหุ้นทั่วเอเชีย ก็พากันร่วงลงทำนิวโลว์กันทั้งภูมิภาค

ตลาดหุ้น ดัชนีลดลง คิดเป็น % สถิติ
นิกเกอิ โตเกียว ญี่ปุ่น -465.05 จุด -4.25 ต่ำสุดรอบ 4 ปีครึ่ง
ฮั่งเส็ง ฮ่องกง -878.64 -4.97 ต่ำสุดรอบ 2 ปี
เวทเต็ด ไต้หวัน -236.53 -4.12 ต่ำสุดรอบ 4 ปี
คอมโพสิต เกาหลีใต้ -60.90 – 4.29 ต่ำสุดรอบ 21 เดือน
ออสซี่ ออสเตรเลีย -155.0 -3.3 ต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี
หุ้นไทย -38.25 -5% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี