ธนาคารเอไอจี เพื่อรายย่อย ถึงกิจการต้องถูกขาย แต่ความเชื่อมั่นต้องมาก่อน

เข้ารับตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอไอจี เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) เพียงแค่ 3 เดือน แต่ ชาลี มาดาน ก็ต้องจัดแถลงข่าวถึง 2 ครั้ง และการแถลงข่าวทั้งสองครั้งก็เพื่อรับกับวิกฤตการณ์ที่สำนักงานใหญ่ AIG สหรัฐอเมริกา ที่ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ชาลี มาดาน กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอไอจี เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ให้รายละเอียดกับ POSITIONING ถึงแผนรับมือสถานการณ์วิกฤตในครั้งนี้ของ AIG เพื่อรายย่อย

“สิ่งที่ต้องชี้แจงและประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าเข้าใจอย่างถ่องแท้และถูกต้องในขณะนี้ คือ การดูความมั่นคงแบงก์ว่าต้องพิจารณาจากปัจจัยอะไรบ้าง” ชาลี ผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจธนาคารและการเงินมายาวนานมากกว่า 20 ปี และผ่านวิกฤตมาถึง 3 ครั้งตั้งแต่ปี 2540

ในการสัมภาษณ์ สิ่งที่ชาลีเน้นย้ำเสมอคือ สถานะทางการเงินที่มั่นคงของธนาคารเอไอจี เพื่อรายย่อย ซึ่งชาลีได้ยกตัวอย่าง เงินทุนสำรอง และสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงต่อเงินทุน ที่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของแบงก์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสภาพคล่องของเงินฝากมากกว่าสินเชื่อที่ปล่อยออกไป

แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะตีแตกโครงสร้าง AIG และพูดถึงเรื่องเหล่านี้ให้กับลูกค้าทุกระดับเข้าใจได้พร้อมๆ กัน

ชาลี บอกว่า ด้วยเรื่องราวต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามา ทำให้เขาซึ่งปกติชอบพบปะพูดคุยกับลูกค้าอยู่แล้ว ต้องทำงานหนักมากขึ้นในการเดินทางไปทำความเข้าใจกับลูกค้าแบบถี่ยิบ รวมถึงการประชุมอย่างหนักหน่วงหลายต่อหลายครั้ง

“ผมชอบเจอลูกค้าอยู่แล้ว (หัวเราะ) เตรียมตัวอย่างดี ต้องมั่นใจ เตรียมตัวเลขให้พร้อม ไม่เฉพาะตัวเองแต่หมายถึงทีมงานด้วย Meeting After Meeting เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นประจำก่อนเหตุการณ์นี้ร่วมสัปดาห์”

เขาย้ำว่าไม่ใช่แค่การเตรียมตัวเพื่อแก้ไขปัญหานี้เท่านั้น แต่หากยังเป็นการเตรียมตัวว่าจะขับเคลื่อนองค์กรนี้ให้ก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างไรอีกด้วย

ชาลี พยายามมองโลกในแง่ดี เขามองว่า การที่ AIG บริษัทแม่จะประกาศขายธุรกิจต่างๆ รวมถึง AIG Consumer Finance Group ว่าเป็นโอกาสที่ดีของ AIG และผู้ที่สนใจมาซื้อกิจการเหล่านี้ ที่จะอาศัย “Distribution Model ที่หลากหลาย มีนับหมื่น แปลว่าใครที่อยากจะเข้ามาซื้อเขาสามารถ Expand Market ได้ จะซื้อยกล็อตหมดเลยก็ได้ แต่บางครั้งเขาอยากโฟกัสเฉพาะภูมิภาค ทั้งนี้อยู่ในกระบวนการที่เมืองนอกจะตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร”

ชาลี ยอมรับว่า ที่ผ่านมา AIG ทำประชาสัมพันธ์น้อย ไม่ค่อยมีข่าวอย่างต่อเนื่อง ข่าวประชาสัมพันธ์ส่วนใหญ่จะเป็นไปในเรื่องของโปรดักส์และบริการใหม่ๆ มากกว่าจะเป็น Coporate Governance หรือ CSR แต่จากนี้ไปบริษัทจะสื่อสารบ่อยขึ้นและชัดเจน โปร่งใส โดยเฉพาะตัวเลขที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ไม่ว่า AIG เพื่อรายย่อย ประเทศไทยจะถูกซื้อไปโดยบริษัทใด ชาลีมั่นใจว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และจะยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจต่อไป เพียงแต่ในระยะนี้ซึ่งการเจรจายังไม่เสร็จสิ้น การดำเนินธุรกิจบางอย่างอาจต้องชะลอไว้ก่อน เช่น การซื้อพอร์ตใหม่ เพื่อรอดูท่าทีของผู้ถือหุ้นรายใหม่เสียก่อน