ผลจากการมาของ OTT กสทช.ชี้ OTT กระทบทีวีดิจิทัล สร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ละเมิดลิขสิทธิ์ ย้ำไม่ต้องการคุม แต่ต้องหาแนวทางที่เหมาะสม
หลังจากที่บริการ OTT (Over the Top) หรือบริการสื่อสารและแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต มีแนวโน้มจะมีบทบาทมากขึ้น เพราะสะดวกทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ที่สามารถเลือกรับชมเนื้อหาได้ตามต้องการทุกที่ทุกเวลา ผ่านโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ แถมยังมีค่าบริการราคาถูก
ชี้แข่งขันไม่เป็นธรรม–ละเมิดลิขสิทธิ์
แม้ปัจจุบัน OTT ในไทยยังไม่ได้รับความนิยมแพร่หลายมากนัก แต่ด้วยราคาสมาร์ทโฟนถูกลง เครือข่าย 4 จี ที่แพร่หลาย คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้มากขึ้น มีแนวโน้มที่คนจะหันมานิยมใช้บริการมากขึ้น ทำให้มีผลกระทบไปถึงผู้ประกอบการ “ทีวีดิจิทัล” ทำให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงต้องออกมารับมือกับเรื่องดังกล่าว เพราะกังวลว่าจะทำให้ไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน และมีเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาทีวีดิจิทัลได้รับผลกระทบจาก OTT และคาดว่าจะมีผลกระทบมากขึ้นตามลำดับ สร้างความเป็นไม่เป็นธรรมในการแข่งขันและมีความเกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ จึงจัดตั้งอนุกรรมการขึ้นมา โดยจะมีทั้งคนใน กสทช. และคนนอกในวงการต่างๆ ที่หลากหลายอีก 10 คน เข้าร่วม เพื่อวางแนวทางที่เหมาะสม และกำหนดกรอบการทำงานเกี่ยวกับ OTT
อนุกรรมการนี้จะมีเวลาทำงานหนึ่งปี ดังนั้นขณะนี้จึงยังไม่สามารถอธิบายลงลึกได้ว่า OTT เกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง เวลาหนึ่งปีเป็นเวลาที่เหมาะสม ขอให้คิดว่าเรากำลังพิจารณากระบวนการในการดูแลการแพร่ภาพและเสียงบนโครงข่ายอื่น ทำให้ทีวีดิจิทัลได้รับผลกระทบ
ชี้ OTT กระทบทีวีต้องปรับตัว
ในขณะที่ Economic Intelligence Center หรือ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เคยวิเคราะห์เกี่ยวกับบริการ OTT ว่าเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ได้เข้าสู่ตลาด แต่ในอีกด้านหนึ่ง ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ประกอบการทีวีรายเดิม หากบริการ OTT ได้รับความนิยมในไทย ย่อมทำให้ระบบนิเวศของแวดวงทีวีและการสื่อสารเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นปริมาณการใช้ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยในกรณีศึกษาของสหรัฐฯ และแคนาดานั้น บริการ OTT อย่าง Netflix ใช้พื้นที่ traffic บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสูงถึง 36%
ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ขาดแรงจูงใจในการลงทุนโครงข่ายเพิ่มเติม เนื่องจากไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ จากผู้ประกอบการ OTT นอกจากนี้ผู้ประกอบการทีวีรายเดิมมีโอกาสสูญเสียรายได้จากเม็ดเงินโฆษณาที่มีแนวโน้มกระจายไปยังสื่ออื่นๆ รวมถึงสื่อออนไลน์ที่มีจำนวน eyeball สูงกว่า แม้ว่าในปัจจุบันเม็ดเงินโฆษณามากกว่า 60% จะกระจุกตัวอยู่ที่สื่อทีวี แต่เริ่มเห็นสัญญาณว่าเม็ดเงินโฆษณาจากสื่อดั้งเดิม ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุ ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 26% ของเม็ดเงินโฆษณาทั้งหมดในปี 2010 มีแนวโน้มลดลงเหลือเพียง 21% ในปี 2015 และมีการกระจายไปยังสื่อออนไลน์และสื่อนอกบ้านมากขึ้น โดยในอนาคต สื่อทีวีอาจเผชิญปัญหาในลักษณะเดียวกันกับสื่อดั้งเดิมได้
นอกจากนี้ มีผู้ประกอบการทีวีแบบดั้งเดิมบางรายเริ่มปรับตัว เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เนื่องจากเม็ดเงินโฆษณาของอุตสาหกรรมทีวีไทยที่มีมูลค่าราว 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปี มีแนวโน้มเติบโตช้าลงตามสภาพเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อช่วงชิงเม็ดเงินโฆษณาและคนดูให้ได้มากที่สุด
โดยในปัจจุบัน มีผู้เล่นหลายรายเริ่มหันมาให้บริการ OTT ยกตัวอย่างเช่น ช่อง 7 ที่เปิดเว็บไซต์ Bugaboo.tv และแอปพลิเคชั่นบนมือถือ เพื่อให้บริการรับชมรายการทีวีย้อนหลัง รวมถึงการถ่ายทอดกีฬาสด โดยบางโปรแกรมจะออกอากาศเฉพาะบนเว็บไซต์เท่านั้น หรือ GTH Workpoint และไทยรัฐทีวี ที่ร่วมเป็นพันธมิตรกับ Line เปิดแอปพลิเคชั่น Line TV เพื่อรับชมภาพยนตร์ ซีรีส์ และเพลงผ่านมือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ วิธีนี้นอกจากจะเป็นการเพิ่มจำนวนผู้ชมให้กับรายการแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับผู้ประกอบการทีวีอีกด้วย