ถอดแนวคิด ‘Single Content Multiple Platform’ โอกาสฟื้น ‘ช่อง 3’ ให้ทำ ‘กำไร’ อีกครั้ง

ย้อนไปเมื่อปี 2560 หลายคนคงจำได้ว่า ‘สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์’ หนึ่งในผู้บริหารของกลุ่มช่อง 3 ได้ย้ายไปรับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ที่ช่อง PPTV และเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนปีนี้ สุรินทร์ก็ได้ ‘Comeback’ กลับมาสู่วิก 3 ในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) แทนที่ ‘บี๋ อริยะ พนมยงค์’ ที่ลาออกไป

สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์

ครึ่งปีแรกขาดทุนอ่วม

ย้อนไปช่วงไตรมาสแรก ผลประกอบการของ ‘บีอีซี เวิลด์’ หรือ ‘กลุ่มช่อง 3’ มีรายได้รวม 1,636.5 ล้านบาท ติดลบ -19.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2019 ที่มีรายได้รวม 2,023.8 ล้านบาท แม้รายได้ที่ลดลงจะน่าช็อก แต่ที่ช็อกกว่าคือ ‘3 ผู้บริหารระดับสูง’ ที่ทยอย ‘ลาออก’ อย่าง ‘ประชุม มาลีนนท์’ ที่ออกจากตำแหน่ง ‘G-CEO’ และ ‘อริยะ พนมยงค์’ ที่ออกจากตำแหน่ง ‘President’

ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 2 ก็ยังสาหัด โดยมีรายได้รวม 1,183.8 ล้านบาท ติดลบ -43.4% เมื่อเทียบกับปี 62 ที่ทำได้ 2,092.3 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจาก COVID-19 ส่วนในไตรมาส 3 ทำรายได้ 1,322.8 ล้านบาท ติดลบ -39% เมื่อเทียบกับปี 62 ที่มีรายได้ 2,169.8 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากการลดต้นทุนที่เข้มข้นช่อง 3 สามารถกลับมามีกำไรที่ 60 ล้านบาท

ปีหน้าพร้อมทวงตำแหน่ง ‘เบอร์ 1’

ยอมรับว่าในปีนี้จะเห็นว่าสถานีมีละคร ‘รีรัน’ ค่อนข้างมาก ซึ่งสาเหตุมาจากทั้งสภาวะเศรษฐกิจ การระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้การถ่ายทำคอนเทนต์ได้น้อยลง พนักงานก็ต้อง Work from Home ส่งผลให้ไม่มีรายการใหม่ ๆ มาป้อนช่อง รวมถึงโฆษณาที่ถูกถอดออกไป แต่ในปีหน้า ช่อง 3 จะค่อนข้างรุกมากขึ้น โดยเฉพาะละครที่จะค่อย ๆ เติมละคร First Run ให้มากขึ้น โดยเชื่อว่า หากมีคอนเทนต์ดี ละครดี ช่อง 3 ก็จะกลับมาทวงตำแหน่ง ‘เบอร์ 1’ ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่

“เราโชคดีที่มีคอนเทนต์จำนวนมากทำให้รีรันได้ ต่างจากหลายช่อง ซึ่งหลังหมดช่วงล็อกดาวน์เราก็เริ่มมีละคร First Run มาเติมมากขึ้น อย่างในเดือนกันยายนที่ผ่านมาก็เริ่มเข้าสู่สถานการณ์ปกติ และสะท้อนกลับมาสู่รายได้ที่ดีขึ้น”

ให้ความสำคัญ ‘คอนเทนต์’ อันดับ 1

จากนี้ไปช่อง 3 จะเน้นที่ ‘คุณภาพเนื้อหา’ เป็นหลัก อาจจะลดค่าใช้จ่ายด้านอื่น เช่น ขนาดองค์กรและต้นทุนที่ไม่จำเป็นอื่น ๆ แต่คุณภาพของรายการจะต้องไม่ลดลง เพราะทุกวันนี้การแข่งขันไม่ได้อยู่ว่าเหลือกี่สถานี แต่แข่งที่คุณภาพคอนเทนต์ใครดีกว่ากัน โดยช่อง 3 จะเน้นที่ ‘ละคร’ ‘ข่าว’ และ ‘วาไรตี้’ โดยในแต่ละปีช่อง 3 ผลิตละครปีละ 30-40 เรื่อง และจากนี้ละครช่อง 3 จะมีความหลากหลายและเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น

เช่นเดียวกับรายการข่าวจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบผู้ประกาศให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นเพื่อให้กลับมา ‘ดัง’ แต่ความชัดเจนอาจต้องรอช่วงต้นปีหน้า เพราะเป็นช่วง Post COVID-19 อีกครั้ง ส่วน ‘วาไรตี้’ ที่ปัจจุบันความนิยมลดน้อยไปเยอะเพราะมีหลายแพลตฟอร์มให้เลือกเสพ และถ้าไม่มีความแปลกใหม่ก็จะไม่ดึงดูด ดังนั้นส่วนนี้ทางช่องก็จะมีการคุยกับผู้จัดให้มากขึ้น ขณะที่รายการที่ยังแข็งแรงอย่างศึก 12 ราศี, 3 แซ่บ และตีท้ายครัวก็ยังเป็นกำลังสำคัญของช่อง

Single Content Multiple Platform โอกาสพลิกทำกำไร

เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป คือ ยังเสพคอนเทนต์ทีวีแต่เปลี่ยนแพลตฟอร์ม ดังนั้นช่อง 3 จึงมีแนวคิด ‘Single Content Multiple Platform’ โดยต้องมองการเปลี่ยนแปลงให้เป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค โดยใช้จุดแข็งของละครที่มีกว่า ‘พันเรื่อง’ มีคอนเทนต์รวมกัน ‘หลายหมื่นชั่วโมง’ ที่ไม่มีใครมีเท่า รวมถึงดาราระดับเอลิสต์ และผู้จัดที่แข็งแรงเป็นพาร์ตเนอร์ ซึ่งนี่คือสิ่งที่คนอื่นไม่มี และช่อง 3 กระจายคอนเทนต์เหล่านี้ไปในหลายช่องทาง ซึ่งเป็นการต้นทุนครั้งเดียวแต่ขายได้หลายครั้ง

“การที่มีผู้เล่น OTT เข้ามาในบ้านเราเยอะแยะเราไม่ได้มองเป็นคู่แข่ง แต่มองเป็นคู่ค้าที่เพิ่มมากขึ้น เพราะแต่ละแพลตฟอร์มที่เข้ามาก็จะดึงคอนเทนต์ฮอลลีวูด คอนเทนต์เกาหลี แต่คนไทยก็ยังต้องการดูคอนเทนต์ไทย ซึ่งต่อไปแพลตฟอร์ม 3Plus ของเราจะมีการปรับรูปแบบใหม่ในปีหน้าด้วย”

ไม่ใช่แค่ออนไลน์ แต่ตลาด ‘ต่างประเทศ’ ก็เป็นส่วนสร้างรายได้สำคัญ โดยเฉพาะประเทศ ‘จีน’ และ ‘อาเซียน’ ซึ่งจากนี้ช่อง 3 จะมีเริ่มสำรวจความชอบ ความนิยมของคู่พระนาง และข้อกำหนดกฎหมายเพื่อผลิตคอนเทนต์ได้ตรงใจ โดยปัจจุบันรายได้ของขายการลิขสิทธิ์คอนเทนต์ไปต่างประเทศและ New Media จะเพิ่มเป็น 25% ในปีหน้า จากปีนี้มีสัดส่วน 20% และในอนาคตช่อง 3 จะไม่ใช่สถานีทีวีแต่มั่นใจว่าจะกลายเป็นบริษัทผลิตคอนเทนต์รายใหญ่ของไทย

มั่นใจผ่าน ‘จุดต่ำสุด’ แล้ว

แม้ว่าจะมีการประเมินว่าอุตสาหกรรมโฆษณาทีวีจะหดตัวต่อเนื่องถึงปี 2566 ขณะที่ปีนี้คาดว่าจะหดตัวถึง 40% เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่ทำให้มีการชะลอการใช้งบโฆษณารวมทั้งการโยกการใช้เงินสื่อโฆษณาจากออฟไลน์ แต่ไตรมาส 3 ช่อง 3 ก็กลับมาทำกำไรได้ และเชื่อว่าในไตรมาส 4 ช่อง 3 จะรักษาโมเมนตั้มการทำกำไรไว้ได้ ขณะที่ในปีหน้า ช่อง 3 ก็มั่นใจว่าจะสามารถเติบโตได้ 2 หลักจากแนวคิด Single Content Multiple Platform นี้

“ผมคิดว่าเราผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว อย่างไตรมาสที่แล้วก็เริ่มเห็นกำไร และจากนี้เราหวังว่าจะมีกำไรเพราะโมเมนตั้มมันกำลังดีเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ลงทุน เพราะแม้เราจะเป็นธุรกิจขาลง คนลดงบโฆษณาแต่ไม่ได้แปลว่า เลิก แต่ เลือก ดังนั้น ขอแค่เขาไม่ตัดเรา เราอาจจะได้งบโฆษณาเท่าเดิมหรือดีดว่าเดิม ซึ่งเหตุผลเดียวที่เขาจะลงเงินก็คือ คอนเทนต์ ซึ่งเมื่อก่อนเราอาจจะโฟกัสที่ปลายทางมาก ไปโฟกัสที่การสร้างแพลตฟอร์มโดยที่ไม่ได้มองว่าคอนเทนต์ที่ดีจะนำเราไปสู่ทุกอย่าง”