กรุงเทพฯ ยังแรง ครองแชมป์ เมืองที่นักท่องเที่ยวอยากมามากที่สุดแห่งเอเชีย ปี’60 สิงคโปร์ดึงดูดเงินในกระเป๋านักท่องเที่ยวมากสุด

มาสเตอร์การ์ด เผยผลสำรวจ สุดยอดจุดหมายปลายทางในเอเชียแปซิฟิก (Mastercard Asia Pacific Destinations Index 2017) ที่ถูกเผยแพร่ ณ การประชุมสุดยอดสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (World Travel & Tourism Council Global Summit) จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันนี้ พบว่า กรุงเทพมหานครเป็นสุดยอดจุดหมายปลายทางที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากที่สุด สิงคโปร์ยังคงนำหน้าด้านยอดการใช้จ่ายสูงสุด

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา (2558 – 2559) สิงคโปร์มีอัตราการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเติบโตขึ้นถึง 18% นับเป็น 1 ใน 5 จุดหมายปลายทางในกลุ่มประเทศ 20 อันดับแรก

ด้านการใช้จ่ายที่มียอดการใช้จ่ายอย่างน้อย 200 เหรียญสหรัฐต่อวัน

  • อันดับ 1 สิงคโปร์ยอดใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว 254 เหรียญสหรัฐต่อวัน
  • อันดับ 2 ปักกิ่ง 242 เหรียญสหรัฐต่อวัน
  • อันดับ 3 เซี่ยงไฮ้ 234 เหรียญสหรัฐต่อวัน
  • อันดับ 4 ฮ่องกง 242 เหรียญสหรัฐต่อวัน
  • อันดับ 5 ไทเป 208 เหรียญสหรัฐต่อวัน

จากผลสำรวจดังกล่าว พบว่า ปี 2559 เป็นปีที่น่าตื่นเต้นสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยแรงขับเคลื่อนของความมั่งคั่งในกลุ่มประเทศกำลังเติบโต (emerging markets) ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้มีความคึกคักตามไปด้วย นับเป็นภูมิภาคที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีอัตราเติบโตสูงที่สุดในโลก นับจากสัดส่วนของจีดีพีที่สูงถึง 8.5% ของจีดีพีรวมของเอเชียแปซิฟิก และ 8.7% ของอัตราการว่าจ้างของปีที่แล้ว

จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาค้างคืนพุ่งตัวสูงขึ้น

ครึ่งหนึ่งของจุดหมายปลายทางที่มีนักท่องเที่ยวสูงสุด 20 อันดับแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น มีอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาค้างคืนเพิ่มขึ้นถึง 10% จากปี 2558ถึง 2559 โดยจุดหมายปลายทางที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเติบโตดังกล่าวอยู่ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ โซล (32.7%) โอซาก้า (23.8%) บาหลี (22.5%) โตเกียว (22.2%) ฮอกไกโด (21.9%) ชิบะ (21.5%) และพัทยา (20.6%)

การเติบโตดังกล่าวชี้ถึงโอกาสอันดีที่รัฐบาล หน่วยงานด้านการท่องเที่ยว และร้านค้าต่างๆ จะได้รับประโยชน์ที่มากยิ่งขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการพัฒนาสาธารณูปโภค ภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมกันสร้างสถานที่ให้กับนักท่องเที่ยวและผู้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงการพัฒนาการเดินทางไปสู่จุดหมายท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน

กรุงเทพฯ เมืองนักท่องเที่ยวพักค้างคืนมากสุด 19.3 ล้านคน

โดยรวมแล้ว นักท่องเที่ยวที่พักค้างคืนของจุดหมายปลายทางทั้ง 171 ของเอเชียแปซิฟิกในปี 2558 มีจำนวนสูงถึง 339.2 ล้านคน (9.8% CAGR ระหว่างปี 2552 – 2559) นำโดยกรุงเทพฯ ที่มีผู้มาเยือนจำนวน 19.3 ล้านคน ตามด้วย สิงคโปร์ (13.1 ล้านคน) โตเกียว (12.6 ล้านคน) โซล (12.4 ล้านคน) และกัวลาลัมเปอร์ (11.3 ล้านคน)

จีนแชมป์นักท่องเที่ยวมากสุด 55 ล้านคน/ปี

ส่วนจีนยังคงเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก โดยมีนักท่องเที่ยวออกมาพักค้างคืนมากถึง 55 ล้านคนในปีที่แล้ว ซึ่งนับเป็น 16.2% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่พักค้างคืนทั้งหมด

จำนวนคืนที่พักสูงที่สุดในประวัติการณ์

นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเอเชียแปซิฟิกมีจำนวนมากขึ้น และยังใช้เวลาในภูมิภาคนี้ยาวนานขึ้นในแต่ละครั้งอีกด้วย ในปี 2559 นักท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ค้างคืนรวมทั้งสิ้นมากถึง 1,768.7 ล้านคืน โดยนับเป็น 8.1% CAGR จาก 1023.1 ล้านคืนในปี 2552 กรุงเทพฯ ครองอันดับหนึ่งที่ 87.6 ล้านคืน ตามด้วยซิดนีย์ในอันดับสองที่ 87.5 ล้านคืน และ กัวลาลัมเปอร์ที่ 76.7 ล้านคืน

เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวค้างคืนที่มาเยือน (ซิดนีย์อยู่ในอันดับที่ 20) จำนวนคืนที่พักในซิดนีย์มีความโดดเด่นอย่างมาก อัตราส่วนของจำนวนการค้างคืนเฉลี่ยของซิดนีย์และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ค้างคืนทั้งหมดต้องถูกแบ่งให้กับจุดหมายปลายทางอื่นๆ ในออสเตรเลีย อาทิ เมลเบิร์นและบริสเบน เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนมากเดินทางมาไกลกว่าจะถึงออสเตรเลียจึงทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะค้างอยู่นานขึ้น เพื่อให้คุ้มค่าการเดินทาง

อัตราการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวพุ่งตัวสูงขึ้นเกือบสองเท่าตัว

เนื่องจากชนชั้นกลางในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 1.415 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2552 เป็น 2.449 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2559 ซึ่งนับเป็น 8.2% CAGR นอกจากนี้ บรรดาเมืองที่มาของนักท่องเที่ยว 20 อันดับแรกยังได้สร้างรายได้ให้แก่การท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้รวมถึง 2.015 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2559

นักท่องเที่ยวจีน-เกาหลีใต้ สร้างรายได้สูงสุดในเอเชีย

กลุ่มนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนมากช่วยเพิ่มรายได้เหล่านี้อย่างยิ่ง โดยผลสำรวจนี้เผยว่า ประเทศจีน (17.7%) และเกาหลีใต้ (8.8%) เป็นสองประเทศที่สร้างรายได้ให้แก่การท่องเที่ยวสูงสุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ สองประเทศดังกล่าวยังเป็นตลาดที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังสิงคโปร์ (จีนเป็นอันดับ 1) กรุงเทพฯ (จีนเป็นอันดับ 1) และโตเกียว (เกาหลีเป็นอันดับ 1 และจีนเป็นอันดับ 2)  ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่มีการใช้จ่ายสูงที่สุด จุดหมายปลายทางเหล่านี้ยังเป็นแหล่งช้อปปิ้งและร้านอาหารชื่อดังระดับโลกที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีนและเกาหลีใต้

ที่มา : ผลสำรวจ สุดยอดจุดหมายปลายทางในเอเชียแปซิฟิกของมาสเตอร์การ์ด ประจำปี 2560 เป็นส่วนขยายของผลสำรวจจุดหมายการเดินทางระดับโลกประจำปีของมาสเตอร์การ์ด (Mastercard Global Destination Cities Index) ไม่นานนี้ จำนวนเมืองต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่มีอัตราการเติบโตและการมาเยือนของนักท่องเที่ยวสูงที่สุดในโลก ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย 5 ใน 10 เมืองที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดของโลกนั้นอยู่ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก โดยเน้นสำรวจเทรนด์การท่องเที่ยวในเชิงลึกและโฟกัสมากขึ้น โดยจัดอันดับจุดหมายปลายทางทั้งหมด 171 แห่ง รวมถึงรีสอร์ตตามเกาะต่างๆ เมืองเล็ก และเมืองใหญ่ ทั่วทั้งภูมิภาค ผ่านเกณฑ์ต่างๆ อาทิ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาถึงในช่วงเวลากลางคืน เม็ดเงินการใช้จ่ายนอกประเทศ และจำนวนคืนที่พักในแต่ละจุดหมาย จุดหมายปลายทางทั้ง 171 แห่งนี้ ได้รับการคัดเลือกจาก 22 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก และนับเป็น 90% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ค้างคืนภายในภูมิภาคนี้