ทำไมสมาร์ทโฟนต้องตาย ?

ในช่วงนี้ สื่อต่างประเทศเริ่มมีการหยิบยกคำพูดของบุคคลสำคัญในแวดวงเทคโนโลยีเกี่ยวกับการสิ้นสุดของยุคสมาร์ทโฟนมาเผยแพร่มากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นคำพูดของผู้บริหารระดับสูงของไมโครซอฟท์ (Microsoft) และผู้ประดิษฐ์แว่นอัจฉริยะโฮโลเลนส์ (HoloLens) อย่างอเล็กซ์ คิปแมน (Alex Kipman) ที่บอกว่า “เทคโนโลยีสมาร์ทโฟนคือสิ่งที่ตายแล้ว เพียงแต่ผู้บริโภคอาจยังไม่รู้สึกตัวเท่านั้น”

โดยคิปแมนเชื่อว่า อุปกรณ์อย่างแว่นอัจฉริยะโฮโลเลนส์ที่รองรับประสบการณ์แบบมิกซ์ เรียลิตี้ (Mixed Reality) หรือประสบการณ์แบบลูกผสม ที่สามารถผสานภาพของโลกจริงกับโลกเสมือนเข้าด้วยกัน และผู้บริโภคสามารถสัมผัสได้ทั้งวัตถุจริง และวัตถุเสมือนที่ระบบสร้างขึ้นได้แบบเรียลไทม์ คือสิ่งที่จะเข้ามาแทนสมาร์ทโฟน

อเล็กซ์ คิปแมนไม่ได้ออกมาตามลำพัง เพราะผู้บริหารคนดังของเฟซบุ๊ก (Facebook) อย่างมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ต้องการให้ยุคของสมาร์ทโฟนสิ้นสุดลงเหมือนกัน

เหตุผลของมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก อาจวิเคราะห์ได้จากสิ่งที่เขาพูดในห้องพิจารณาคดีที่ดัลลัส (เป็นคดีความระหว่างโอคูลัส (Oculus) กับบริษัทผู้ผลิตเกมเซนิแม็กซ์ (ZeniMax)) ว่า เขารู้สึกเสียดายมากที่ในช่วงปี 2003 ที่เขาเริ่มต้นเฟซบุ๊ก เขาไม่ได้พัฒนาระบบปฏิบัติการ ทั้ง ๆ ที่ยุคนั้นก็เป็นยุคเริ่มต้นของระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟนเหมือนกัน

การที่เฟซบุ๊กไม่ได้ลงมาเล่นในตลาดผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการ ปล่อยให้เป็นกูเกิล (Google) และแอปเปิล (Apple) เข้าช่วงชิงส่วนแบ่งกันตามลำพังทำให้ทุกวันนี้ ต่อให้เฟซบุ๊กอยากนำเสนอประสบการณ์การใช้งานเฟซบุ๊กที่ดีมากเท่าใด ก็ไม่สามารถทำได้อย่างที่ใจคิด เนื่องจากเฟซบุ๊กไม่มี “แพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง”

แต่หากพิจารณาให้ลึกลงไป จะเห็นได้ว่า ทั้งเฟซบุ๊กและไมโครซอฟท์ต่างยืนอยู่ในจุดที่คล้าย ๆ กัน นั่นคือ ทั้งสองบริษัทไม่สามารถทำกำไรได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก หากยุคของสมาร์ทโฟนยังยืดเยื้อยาวนาน ดังนั้น เพื่อให้บริษัทของตนกลับมาได้เปรียบ การจบยุคของสมาร์ทโฟนให้ได้โดยไว และเข้าสู่ยุคของแว่นตาอัจฉริยะอาจเป็นคำตอบที่ซ่อนเอาไว้ข้างหลัง

อย่างไรก็ดี การใช้คำพูดของซีอีโอ หรือผู้บริหารระดับสูง ออกมาชี้นำเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้ถึงฝั่งฝันได้ โดยมีการเปิดเผยผลวิจัยชิ้นหนึ่งจากบริษัทที่ปรึกษา Magid เกี่ยวกับความรู้สึกของผู้บริโภคที่ได้รับชมประสบการณ์เวอร์ชวล เรียลิตี้ (Virtual Reality) และพบว่า ตลาดของอุปกรณ์เพื่อประสบการณ์เวอร์ชวลเรียลิตี้นั้นคงยังเกิดไม่ได้ในอนาคตอันใกล้

โดยสิ่งที่บริษัท Magid ค้นพบจากการทำแบบสอบถามผู้บริโภคจำนวน 1,000 คน อายุระหว่าง 18 – 64 ปี พบว่า แม้ในปี 2017 ผู้ตอบแบบสอบถามจะมีความสนใจในอุปกรณ์ VR สูงกว่าเมื่อปีที่ผ่านมาอย่างมาก แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีสัญญาณ “ซื้อ”

สำหรับการวิจัยนี้ ทางบริษัท Magid ได้แบ่งแว่นอัจฉริยะเอาไว้เป็นสี่แบบได้แก่
1. แว่น VR แบบกูเกิล คาร์ดบอร์ดที่ทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนได้ทุกชนิด
2. แว่น VR จากค่ายเพลย์สเตชั่น
3. แว่น VR ที่ออกแบบมาสำหรับสมาร์ทโฟนบางรุ่นเป็นการเฉพาะ
4. แว่น VR ที่ต้องต่อเชื่อมกับคอมพิวเตอร์พีซี

โดยในการสำรวจของ Magid พบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามถึง 70 เปอร์เซ็นต์ที่ยังไม่มีแผนจะซื้อแว่น VR สักชิ้นในเร็ว ๆ นี้เลย และเมื่อถามไปถึงช่วงเทศกาลหยุดยาวช่วงปลายปี ก็มีถึง 53 เปอร์เซ็นต์ที่ยอมรับว่า พวกเขาไม่มีแผนจะซื้อแว่น VR เลยเช่นกัน

เมื่อถามในกลุ่มผู้ที่มีความต้องการจะซื้อ แต่ยังไม่ซื้อว่าปัจจัยใดจะเป็นตัวขับเคลื่อนเงินในกระเป๋าของพวกเขาได้นั้น 64 เปอร์เซ็นต์บอกว่า การปรับลดราคาให้ถูกลงคือปัจจัยสำคัญที่สุด ส่วนเหตุผลที่รองลงมาคือ การมีคอนเทนต์ด้าน VR ที่มากกว่านี้ (34 เปอร์เซ็นต์) ได้ทดลองประสบการณ์ VR ด้วยตัวเองก่อน (26 เปอร์เซ็นต์) และการได้รับคำแนะนำ หรือชักชวนอย่างมากก็จะตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น (22 เปอร์เซ็นต์)

ไมค์ บล็อกแซม (Mike Bloxham) รองประธานอาวุโสฝ่ายมีเดียและเอนเตอร์เทนเมนต์ของ Magid กล่าวว่า ผู้บริโภคส่วนมากต่างรอเวลา โดยหวังว่าราคาของอุปกรณ์จะลดต่ำลง และประสิทธิภาพของอุปกรณ์จะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น

ในจุดนี้ อาจเป็นเพราะผู้บริโภคสินค้าเทคโนโลยีต่างเคยมีประสบการณ์กับคอมพิวเตอร์ กล้องดิจิตอล สมาร์ทโฟน ฯลฯ มาก่อนที่ว่า ยิ่งนานวันไป อุปกรณ์เหล่านี้ก็จะเก่ง และฉลาดมากขึ้น หน่วยความจำมากขึ้น และอีกสารพัดที่จะพัฒนามากขึ้นในราคาที่ถูกลง พวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องรีบร้อนต้องซื้อหามาอีกในวันที่เทคโนโลยีเหล่านี้ยังไม่เสถียรพอ

อีกทั้งอุปกรณ์ในมืออย่างสมาร์ทโฟนที่ใคร ๆ ก็พยายามบอกว่ามันกำลังจะตายนั้น ยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ดังที่มีการสำรวจของ App Annie ที่พบว่า ใน 9 ประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกนั้น ผู้บริโภคมีการใช้งานสมาร์ทโฟนต่อวัน นานขึ้น และมีการใช้งานแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนเฉลี่ยมากถึง 30 ตัวต่อเดือน ส่วนแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์ก็มีหลากหลาย ทั้งยูทิลิตี้ที่มากับตัวเครื่อง, แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดีย, เกม, แอปพลิเคชันด้านความบันเทิง ฯลฯ

นั่นจึงอาจเป็นบทสรุปที่ว่า “การรอคอยสิ่งที่ดีกว่าของผู้บริโภค” คือความท้าทายของบริษัทที่ต้องการจบยุคของสมาร์ทโฟนต้องก้าวข้ามไปให้ได้มากที่สุด

ที่มา : http://www.manager.co.th/cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000046066