หน้าฟีดข่าวของทุกคนบนเฟซบุ๊ก (Facebook) กำลังถูกตรวจสอบอย่างจริงจังว่าจะไม่มีข่าว “คลิกเบต” (clickbait) ปรากฏให้เห็นหรือเห็นน้อยลง โดยเฟซบุ๊กประกาศอัปเดตวิธีปราบปรามคลิกเบตเพิ่มเติมด้วยการตรวจสอบหัวข้อข่าวให้เจาะลึกในระดับโพสต์ของผู้ใช้แต่ละราย นอกเหนือจากระดับโดเมนของเว็บและเพจต่างๆ เบื้องต้นแตรียมขยายการตรวจสอบนี้สู่ภาษาอื่นเพิ่มเติม
“เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้คนมักไม่ชอบเรื่องราวที่ชวนให้เข้าใจผิด ยั่วยุอารมณ์ หรือคล้ายสแปมมากจนเกินไป ซึ่งรวมถึงพาดหัวข่าวแบบคลิกเบตที่ดึงดูดความสนใจให้ผู้คนกดลิงค์ดังกล่าว” แถลงการณ์ของเฟซบุ๊กระบุ “จากความพยายามในการสนับสนุนชุมชนให้เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเที่ยงตรง Facebook จึงพยายามอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบและแยกแยะว่าเรื่องราวใดที่มีพาดหัวแบบคลิกเบต เพื่อที่จะลดการแสดงผลเรื่องราวนั้นๆ ให้น้อยลงกว่าเดิม”
เฟซบุ๊กให้ข้อมูลว่าในปีที่ผ่านมา บริษัทได้อัปเดตฟีดข่าว เพื่อลดจำนวนเรื่องราวและข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่มักจะโพสต์แนวคลิกเบต ไม่ว่าจะเป็นการปิดบังข้อมูลบางส่วนหรือนำเสนอเกินจริง สำหรับปีนี้ เฟซบุ๊กได้อัปเดตวิธีการทำงานเพิ่ม เพื่อจัดการกับกรณีดังกล่าว ให้ผู้คนเห็นเรื่องราวแบบคลิกเบตน้อยลง และรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือบนฟีดข่าวมากยิ่งขึ้น
“วิธีแรก เรากำลังพยายามตรวจสอบหัวข้อข่าวคลิกเบต ให้เจาะลึกในระดับโพสต์ของผู้ใช้แต่ละราย นอกเหนือจากระดับโดเมนของเว็บและเพจต่างๆ เพื่อลดพาดหัวข่าวคลิกเบตอย่างแม่นยำยิ่งขึ้น วิธีที่สอง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เราได้แบ่งวิธีการตรวจสอบออกเป็นสองแนวทางที่ต่างกัน โดยจะพิจารณาว่าหัวข้อข่าวนั้นๆ ปกปิดข้อมูลบางส่วน หรือนำเสนอเรื่องราวอย่างเกินจริง ซึ่งจะทำการตรวจสอบแยกจากกันโดยสิ้นเชิง”
เฟซบุ๊กระบุว่าได้ทุ่มเทตรวจสอบและแยกแยะเนื้อหาประเภทต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด กรณีของคลิกเบตนั้นเป็นหัวข้อข่าวประเภทปกปิดข้อมูลบางส่วน ตั้งใจละทิ้งข้อมูลสำคัญหรือสร้างความเข้าใจผิดต่อผู้คน โดยบังคับให้ผู้อ่านต้องคลิกเพื่อค้นหาคำตอบ ยกตัวอย่างเช่น “เมื่อเธอพลิกเบาะโซฟาขึ้น ก็ต้องตื่นตะลึงเมื่อพบกับสิ่งนี้…” ในขณะที่หัวข้อข่าวประเภทเกินจริง นำเสนอข้อมูลด้วยภาษาที่หวือหวา มีแนวโน้มยกระดับให้เรื่องราวใหญ่โตกว่าที่เป็นจริงๆ อาทิ “ว้าว! รู้หรือไม่ว่าชาขิงเป็นเคล็ดลับสู่ความเยาว์วัยชั่วนิรันดร์ คุณจำเป็นต้องอ่านสิ่งนี้!”
“วิธีการจัดการกับกรณีดังกล่าวคล้ายกับความพยายามก่อนหน้านี้ของเราในการลดหัวข้อข่าวคลิกเบตโดยรวม เราจะทำการแจกแจงหัวข้อข่าวมากกว่าแสนหัวข้อว่าเป็นคลิกเบตหรือไม่ โดยพิจารณาว่าหัวข้อนั้นๆ เกินกว่าความเป็นจริงกว่าเรื่องราวที่นำเสนอ หรือปิดบังข้อมูลบางส่วน ทีมงานของ Facebook จะตรวจสอบหัวข้อข่าวโดยใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว และตรวจทานความถูกต้องของสมาชิกในทีม ก่อนที่จะระบุว่าเป็นหัวข้อข่าวคลิกเบตจำนวนมาก”
หลังจากนั้น เฟซบุ๊กจะวิเคราะห์ว่าวลีใดที่ถูกใช้ในหัวข้อข่าวแบบคลิกเบตอย่างแพร่หลาย และไม่ได้ใช้ในหัวข้อข่าวจริงๆ ซึ่งเป็นหลักการทำงานที่คล้ายกับการตรวจจับอีเมลสแปม
ไม่กระทบต่อเพจส่วนใหญ่
เบื้องต้น เฟซบุ๊กคาดว่าอัปเดทนี้จะไม่ส่งผลให้เพจส่วนใหญ่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใดๆ ในการโพสต์บนฟีด แต่สำนักข่าวหรือผู้ที่ผลิตเนื้อหาโดยอาศัยคลิกเบต อาจเห็นว่าโพสต์ของพวกเขาเข้าถึงผู้คนได้ลดน้อยลง ดังนั้น เพจต่างๆ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้หัวข้อข่าวที่ปิดบังข้อมูลที่จำเป็น หรือพาดหัวให้เกิดความเข้าใจผิด หากเพจนั้นๆ หยุดโพสต์คลิกเบตและหัวข้อข่าวที่ยั่วยุอารมณ์จนเกินไป โพสต์จากเพจดังกล่าวจะกลับสู่ภาวะปกติ และไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้
“เพจต่างๆ ควรศึกษาข้อปฏิบัติที่ดีในการนำเสนอข้อมูลอยู่เสมอ เราจะเรียนรู้จากผลตอบรับของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เพื่อลดคลิกเบตให้น้อยลงอย่างต่อเนื่อง และให้ฟีดข่าวเป็นพื้นที่ที่สื่อสารได้อย่างน่าเชื่อถือ”
ที่มา : http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000050441