OTT แย่งคนดูสะเทือนทีวี !!

ผู้ประกอบการโทรทัศน์ยุโรปและอเมริกาเร่งปรับตัว รับมือกับการมาของ OTT หวั่นรายได้ลด ล่าสุดทวิตเตอร์ถ่ายทอดสดกีฬาแล้ว

ความร้อนแรงของบริการ OTT (Over-the-Top) หรือเรียกสั้นๆ ว่าบริการ “วิดีโอ สตรีมมิ่ง” ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทีวีแล้ว โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่บริการนี้กำลังมีบทบาทต่อพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างชัดเจน

พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over the Top เปิดเผยหลังจากได้รับฟังความเห็นของผู้ประกอบการโทรทัศน์และผู้ผลิตเนื้อหารายการในงาน Connected TV World Summit ว่า ปัจจุบันพฤติกรรมการรับชมเนื้อหาโทรทัศน์ของประชาชนทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไป โดยมีความนิยมรับชมเนื้อหารายการประเภทเรียกชมตามความต้องการของตนเองมากกว่ารับชมเนื้อหารายการจากบริการโทรทัศน์แบบดั้งเดิมที่มีผังเวลาตายตัว

นอกจากนั้นแล้ว การรับชมโทรทัศน์ของผู้บริโภคในปัจจุบันมีแนวโน้มรับชมผ่านอุปกรณ์อื่นที่มิใช่เครื่องรับโทรทัศน์แบบดั้งเดิม อาทิ โทรศัพท์เคลื่อนที่ และแท็บเล็ต

พฤติกรรมดังกล่าวที่เกิดขึ้นทั่วโลกส่งผลให้ผู้ประกอบการโทรทัศน์แบบดั้งเดิมได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ OTT รายใหม่ๆ อย่างเช่น Netflix, Hulu Plus ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการโทรทัศน์รายเดิมมีแนวโน้มลดลง ซึ่งสวนทางกับรายได้ของผู้ประกอบการ OTT ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบัน มีรายได้ประมาณ 5,000 ล้านยูโรในภูมิภาคยุโรป และประมาณ 15,000 ล้านยูโรในสหรัฐอเมริกา และคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีรายได้รวมทั้งสองภูมิภาครวม 35,000 ล้านยูโร

ผู้ประกอบการโทรทัศน์แบบดั้งเดิมในภูมิภาคยุโรปจึงเริ่มปรับตัว โดยมีการปรับกลยุทธ์เริ่มให้บริการ OTT ที่แตกต่างกัน เช่น บีบีซี (ช่องสาธารณะของสหราชอาณาจักร) มีการให้บริการ iPlayer เพื่อให้ผู้บริโภคดูรายการของช่องย้อนหลังได้ (Catch up TV) ในขณะที่ เอบีซี (ช่องรายการฟรีทีวีในสหรัฐอเมริกา) ร่วมมือกับ Hulu Plus ในการให้บริการแบบดูรายการย้อนหลังและเรียกเก็บค่าสมาชิกจากผู้รับชมที่ต้องการรับชมเนื้อหารายการเฉพาะ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการบางรายที่มองว่า OTT เป็นโอกาสทางธุรกิจเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม และได้ลงทุนขยายบริการแบบ OTT เช่น Sky (ผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก) ในสหราชอาณาจักรที่ขยายไปให้บริการ OTT แก่ประชาชนในทุกรูปแบบ เช่น แบบรายการสดที่ดูได้เฉพาะในระบบ OTT เท่านั้น (Live stream) และแบบดูย้อนหลัง รวมถึงเพิ่มบริการแบบบอกรับสมาชิกที่เรียกเก็บค่าบริการรายครั้ง/รายเดือนในระบบ OTT

ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและการเกิดขึ้นของ OTT เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ประกอบการช่องโทรทัศน์รายเดิมจำเป็นที่จะต้องปรับกลยุทธ์ให้เท่าทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ในขณะเดียวกัน ต้องมองหาโอกาสเพื่อขยายฐานผู้ชมและเพิ่มรายได้จากการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่

พันเอก ดร.นที กล่าว

***OTT-ทวิตเตอร์ รุกคืบถ่ายทอดสดฟุตบอลกีฬา

พันเอก ดร. นที กล่าวด้วยว่า จากการหารือกับเอเจนซี่โฆษณาของสหราชอาณาจักร และผู้ประกอบการเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น ทวิตเตอร์ และกูเกิล ในงาน Connected TV World Summit เกี่ยวกับทิศทางการประกอบกิจการ OTT

เอเจนซี่โฆษณากล่าวว่า OTT เริ่มเข้ามาให้บริการในสหราชอาณาจักรในปี 2553 (ค.ศ. 2010) และปัจจุบันได้กลายเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงบริการโทรทัศน์ของประชาชน โดยเฉพาะการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา เช่น การแข่งขันฟุตบอล FA Cup ระหว่างแมนเชสเตอร์ ซีตี้และคริสตัล พาเลซ ผ่าน Periscope ซึ่งมียอดผู้เข้าชมมากถึง 140,000 คน

ผู้ให้บริการ OTT ทวิตเตอร์ ได้มีนโนบายที่จะขยายการให้บริการในรูปแบบโทรทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถ่ายทอดสดรายการกีฬา โดยทวิตเตอร์สร้างความแตกต่างจากบริการโทรทัศน์ทั่วไป โดยการให้ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในขณะรับชมรายการได้อย่างทันที

เราจะสร้างประสบการณ์การรับชมโทรทัศน์ผ่านทวิตเตอร์ให้เหมือนกับการรับชมในสถานที่จริง” ผู้แทนจากทวิตเตอร์กล่าว

ผู้ให้บริการ OTT กูเกิล (YouTube) ซึ่งเป็น Video sharing platform รายใหญ่ ได้กล่าวว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันก่อให้เกิดช่องทางในการรับชมโทรทัศน์ที่หลากหลาย โดยกูเกิลมองว่า YouTube จะเป็นหนึ่งในช่องทางในการเข้าถึงบริการโทรทัศน์ของผู้ชม และยินดีที่จะร่วมมือกับผู้ประกอบการโทรทัศน์ทุกรายในการเข้าถึงคนดู

“การรุกคืบของบริการ OTT สู่กิจการโทรทัศน์เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากคนไทยมีความตื่นตัวต่อเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการรับชมโทรทัศน์ ดังนั้น ผู้ประกอบการโทรทัศน์ของไทยจำเป็นอย่างยิ่งต้องปรับตัว เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น” พันเอก ดร. นที กล่าว