เจาะลึกการสร้าง ‘Enjoyment Journey’ ในแบบ ‘LINE TV’ เพราะคอนเทนต์ไม่ใช่ดูแล้ว ‘จบ’ แต่ต้องดังมากกว่าเดิม

เผลอแป๊บเดียว ‘LINE TV’ (ไลน์ ทีวี) หนึ่งในแพลตฟอร์ม OTT (Over The Top) ชื่อดังของไทยก็ให้บริการมาแล้วถึง 6 ปี ซึ่ง กณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ LINE ประเทศไทย ก็ได้มาเปิดเผยถึงทิศทางอนาคตของธุรกิจ OTT และกลยุทธ์ใหม่ ๆ จากนี้ของ LINE TV

กณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ LINE ประเทศไทย

3 ปียอดรับชม OTT จะเท่า TV

ปัจจุบันคาดว่ามีจำนวนชั่วโมงในการรับชมคอนเทนต์รวมกว่า 90,000 ชั่วโมง โดย 30% ดูผ่านออนไลน์ อีก 70% ผ่านทีวี แต่เพราะ COVID-19 ที่เป็นปัจจัยอัตราเร่งให้พฤติกรรมผู้บริโภคหันมารับชม OTT มากขึ้น อย่าง LINE TV เองมียอดดาวน์โหลดเพิ่มขึ้น 43% และใช้เวลาดูนานขึ้นรวม 43% นอกจากนี้ยังมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาเป็นทางเลือกของผู้บริโภค อีกทั้งการรับชมไม่ได้จำกัดแค่บนสมาร์ทโฟน แต่สามารถรับชม OTT ผ่านจอทีวีได้ โดยปีนี้การรับชม LINE TV ผ่านทีวีเติบโตขึ้นถึง 55% ดังนั้นคาดว่าภายในปี 2567 จำนวนการรับชมคอนเทนต์ผ่าน OTT จะมีสัดส่วนเทียบเท่ากับการรับชมทีวี หรือ 50:50

“เมื่อก่อนคนอาจยังไม่ดูผ่านสมาร์ทโฟน เพราะข้อจำกัดเรื่องจอเล็ก ดูไม่ถนัด แต่ตอนนี้เขารับชมผ่านทีวีมากขึ้น ดังนั้น ต่อไปการรับชม OTT กับทีวีจะมีสัดส่วนเท่ากัน แต่อย่างประเทศจีนการรับชม OTT แซงทีวีไปแล้ว”

แน่นอนว่าอีกปัญหาที่ตามมาหากสัดส่วนการรับชมของ OTT เท่ากับหรือมากกว่าทีวีก็คือ ‘เม็ดเงินโฆษณา’ ที่ปัจจุบันแน่นอนว่าสัดส่วนเม็ดเงินที่ลงในอุตสาหกรรมทีวีจะยัง ‘มากกว่า’ ที่ลงกับแพลตฟอร์มอย่างมาก ซึ่งเรื่องนี้ ‘กณพ’ เองก็ไม่กล้าที่จะตอบว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก

“คงประเมินได้ยากว่าเม็ดเงินโฆษณาของ OTT จะเท่ากับทีวีได้เมื่อไหร่ เพราะการย้ายเม็ดเงินโฆษณาน่าจะยังตามมาช้ากว่า เนื่องจากความคุ้นเคย การวัดผล และรูปแบบการขายโฆษณาที่วัดด้วยทีวีเรตติ้ง ดังนั้นการจะเปลี่ยนอาจจะช้านิดหนึ่ง ถ้าเทียบกับพฤติกรรมคนดู ยังไงคนก็เปลี่ยนเร็วกว่า”

การแข่งขันยังคง ‘ดุเดือด’

ไม่นานนี้มีข่าวลือว่า ‘Disney+’ กำลังสร้างทีมประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไทยกำลังจะมีผู้เล่นใหม่ใหญ่ระดับโลกเข้ามาทำตลาดอีกราย ขณะที่ปัจจุบันตลาด OTT ไทยมีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท (รวมทั้งดูฟรีและ Subscription) โดยมีผู้เล่นทั้งระดับโลกและผู้เล่นโลคอลที่ทำตลาดอยู่ราว 10 ราย อาทิ Netflix, Viu, WeTV, Iqiyi, MonoMax, Doonee และอื่น ๆ อีกมาก แน่นอนว่าผู้เล่นระดับโลกยิ่งมีเงินทุนผลิตคอนเทนต์ ส่งผลให้ผู้เล่นรายเล็กจะยิ่งลำบาก

อย่างไรก็ตาม คอนเทนต์ไทยถือเป็นคอนเทนต์ที่ดึงดูดผู้ชมได้มากที่สุด แต่ด้วยจำนวนผู้ผลิตที่มีจำกัด ส่งผลให้คอนเทนต์ไทยมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ เติบโตขึ้นถึง 2 หลักต่อปี ทั้งนี้ LINE TV มีพันธมิตรผู้ผลิตคอนเทนต์ไทยกว่า 250 ราย

“ตอนนี้การแข่งขันสูง ดังนั้นผู้เล่นแต่ละรายจะต้องเริ่มหาจุดโฟกัสไม่ใช่หว่านดึงคอนเทนต์มาหมด ซึ่งหลายคนเริ่มเห็นทิศทางของตัวเองที่จะโฟกัสแล้ว ดังนั้นเชื่อว่าอีก 2 ปีการแข่งขันจะคงที่ คือ มีทั้งคนที่หายไป และคนที่เห็นว่าทิศทางของเขาควรตอบโจทย์คนดูกลุ่มไหน”

เตรียมออก ‘วายแพ็กเกจ’ รับความแรงซีรีส์วาย

มีผู้บริโภคกว่า 40 ล้านรายที่เข้าถึง LINE TV ขณะที่ผู้ใช้กว่า 19 ล้านรายเคยรับชม ‘ซีรีส์วาย’ อย่างน้อย 1 ครั้ง นอกจากนี้ LINE TV ยังมีซีรีส์วายถึง 39 เรื่องมากที่สุดในไทย ส่งผลให้ LINE TV กลายเป็นจุดหมายของผู้ผลิตคอนเทนต์ประเภทนี้ เนื่องจากกลุ่มลูกค้ามีชัดเจน ขณะที่แบรนด์เองก็เปิดใจการลงโฆษณากับซีรีส์วายมากขึ้นเพราะได้ผลชัดเจน ดังนั้น LINE TV มีแผนที่จะออก ‘วายแพ็กเกจ’ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดเร็ว ๆ นี้

“ปีที่แล้วนักการตลาดที่จะลงการตลาดกับวายเขายังกังวล เพราะกลัวว่าจะเกิดภาพลบกับแบรนด์ แต่แค่ 1 ปีเราเห็นเทรนด์แล้วว่าเขาต้องไป ไม่เช่นนั้นจะตกรถไฟ เพราะด้วยจำนวนคนดูเยอะมากถึง 19 ล้านคน ดังนั้นนี่เป็นฐานที่ใหญ่มาก ประกอบกับผลศึกษาตัวล่าสุดที่ทำให้รู้ว่าซีรีส์วายไม่ใช่ข้อจำกัดในการลงโฆษณา”

อ่าน >>> เปิดคู่มือการใช้งาน ‘ซีรีส์วาย’ ที่แบรนด์ต้องรู้ หากอยากได้ใจ ‘สาววาย’ สายเปย์

 

‘As Seen On LINE TV’ เปิดขายของระหว่างชมซีรีส์ไปเลย

ปัจจุบันการรับชมคอนเทนต์มีรูปแบบที่เรียกว่า ‘Enjoyment Journey’ โดยการรับชมไม่ได้เกิดจากที่อยากกดดูคอนเทนต์ แต่ต้องมีการสร้างกระแสหรือสร้างความอยากดู ดังนั้นนี่เป็นเรื่องของ ‘อีโคซิสเต็มส์’ ที่จะทำให้คอนเทนต์เป็นมากกว่าการ ‘นั่งดู’ แต่ต้องมีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น สติกเกอร์และเสียงเรียกเข้าจากซีรีส์ที่ชอบ, การเปิด Open Chat ให้พูดคุยกันระหว่างการรับชม และล่าสุดกับฟีเจอร์ใหม่ ‘As Seen On LINE TV’ ที่เปิดให้แฟนซีรีส์สามารถซื้อสินค้าที่ปรากฏอยู่ในซีรีส์ ผ่านไลน์ได้ทันที ซึ่งไม่ใช่แค่ตอบสนอง Enjoyment Journey แต่ยังเป็นการเป็นการต่อยอดช่องทางจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ผลิตคอนเทนต์อีกด้วย

“ตลาด OTT กำลังโตขึ้นเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป แต่ทำอย่างไรให้เราเป็นผู้ช่วยให้ทุกท่านประสบความสำเร็จและช่วยขับเคลื่อนผู้ผลิตไทยสู่ดิจิทัล เพราะเราไม่ได้อยากให้ดูแล้วจบไป แต่คอนเทนต์มันต้องดังขึ้นเรื่อย ๆ”