ซีรีส์วาย (Yaoi : ยาโอย) หนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ไทย ที่สร้างชื่อเสียงให้ไทยในฐานะผู้นำการผลิตซีรีส์วายเบอร์ 1 ของโลก สะท้อนจากการออกอากาศที่มากกว่า 340 เรื่อง และนับตั้งแต่ปี 2565 เปิดตัวมากกว่าปีละ 50 เรื่อง
จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2557 ซีรีส์วายลอนช์ออกมาไม่ถึง 10 เรื่อง อาทิ Love Sick The Series ทว่าปี 2567 ซีรีส์วายเปิดตัวกว่า 71 เรื่อง (วายและยูริ) อาทิ ใจซ่อนรัก หยดฝนกลิ่นสนิม การุณยฆาต เขียนรักด้วยยางลบ เป็นต้น “เมื่อเทียบจากจุดเริ่มต้นกว่า ซีรีส์วายเติบโต 700%”
ซีรีส์วาย 6 ปี มูลค่า 4,900 ล้านบาท โต 479%
ขณะที่ SCB EIC ได้ประเมินมูลค่าตลาดซีรีส์วาย ปี 2568 จะมีมูลค่า 4,900 ล้านบาท เติบโต 17% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) และมีสัดส่วน 3.9% ของสื่อบันเทิงไทยโดยรวม
“ในแง่มูลค่า เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ตลาดซีรีส์วายมีมูลค่า 851 ล้านบาท แต่ขณะนี้ปี 2568 มีมูลค่า 4,900 ล้านบาท เท่ากับเติบโตราว ๆ 479%“
ประเมินว่า ซีรีส์วาย มีส่วนช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมบันเทิงไทยในปี 2568 ให้มีมูลค่า 126,000 ล้านบาท เติบโต 4.1% (YoY)
จากที่ผ่านมา การผลิตสื่อบันเทิงไทย ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้ในปี 2563 มูลค่าอุตฯบันเทิงไทย 102,000 ล้านบาท ลดลง 12% (YoY)
“สวนทางกับภาพยนตร์และซีรีส์วาย เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากการมีผู้ชมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ทั่วโลก“
ไทย เบอร์ 1 เอเชีย ครองมาร์เก็ตแชร์ซีรีส์วาย 53% ซีรีส์ยูริ 60%
ในปี 2567 ตลาดซีรีส์วายเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคหลักของการผลิตซีรีส์วาย ประเทศไทยได้ครองมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 1 ในสัดส่วน 53% ตามมาด้วยญี่ปุ่น (13%) เกาหลีใต้ (9%) และไต้หวัน (6%) ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของวายไทย
ส่วน ซีรีส์ยูริไทย ก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน โดยเมื่อปีก่อนภาพยนตร์ ซีรีส์ และเรื่องสั้น Girl love ของไทยออกอากาศมากกว่า 40 เรื่อง หรือคิดเป็น 60% ของเอเชีย รองลงมาเป็นฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นฐานผู้ชมสำคัญของซีรีส์วายไทย
ทำไมวายไทยได้ใจทั่วโลก?
- การแสดงออกถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครได้อย่างเปิดเผย จากวัฒนธรรมไทยที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศและเปิดกว้างให้กับการแสดงออกถึงตัวตนของทุกเพศวัย
- การสร้างสรรค์ผลงานที่มีเนื้อเรื่องแปลกใหม่ โดยผู้ผลิตซีรีส์วายไทยได้สร้างสรรค์ผลงานที่แตกต่างและมีคุณภาพออกมาอย่างต่อเนื่องทั้งด้านเนื้อเรื่อง บทละคร และเทคนิคการถ่ายทำ จึงทำให้ซีรีส์วายไทยในทุกวันนี้มีตัวเลือกที่หลากหลายและน่าติดตามมากขึ้น
- ความนิยมของสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม ทำให้ซีรีส์วายไทยเข้าถึงกลุ่มผู้ชมเป้าหมายในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบัน ไทยมีภาพยนตร์ ซีรีส์ และเรื่องสั้น Boy love / Girl love ที่ออกอากาศรวมแล้วมากกว่า 340 เรื่อง
ซีรีส์วาย โตได้มากกว่านี้ ถ้ารัฐให้การสนับสนุน
ปัจจุบันภาครัฐได้มีนโยบายสนับสนุนธุรกิจผลิตสื่อบันเทิงในภาพรวม โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นระยะเวลา 5 ปี และยกเว้นภาษีนำเข้าอุปกรณ์จำเป็น
แต่การสนับสนุนซีรีส์วายโดยเฉพาะยังอยู่ภายใต้นโยบาย Soft power ผ่านการออกงาน Roadshow โปรโมตในต่างประเทศ
ขณะที่การสนับสนุนการผลิตซีรีส์วายไทยอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ยังอยู่ระหว่างการกำหนดนโยบายหลังได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านละครและซีรีส์ไทยแล้วในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี หากภาครัฐพิจารณานโยบายสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายไทยเพิ่มเติม จะช่วยพัฒนาคุณภาพ ซีรีส์ของไทย และเพิ่มโอกาสในการส่งออกไปสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น เช่นเดียวกับภาครัฐในหลายประเทศที่กำหนดนโยบายสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ ได้แก่
1. การกระตุ้นเม็ดเงินลงทุนในการผลิตให้มากขึ้น
การผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ที่มีคุณภาพที่ดีทั้งด้านเนื้อหา การถ่ายทำ และการตัดต่อ จำเป็นต้องใช้เงินทุนที่สูง ขณะที่การผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ของไทยยังคงมีข้อจำกัดด้านเงินทุนผลิตต่อเรื่องที่ต่ำกว่าประเทศอื่น
ข้อมูลของ Nash Information Services พบว่า การผลิตภาพยนตร์ไทยมีเงินทุนต่อเรื่องอยู่ที่ราว 7.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 250 ล้านบาท ส่วนของเกาหลีใต้มีเงินทุนต่อเรื่องสูงกว่าไทยกว่าเท่าตัวอยู่ที่ราว 16.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 580 ล้านบาท (ได้รับทุนจากรัฐบางส่วน)
ข้อการปรับใช้นโยบายภาครัฐที่เหมาะสมในการส่งเสริมการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายของไทย เช่น
- การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ที่ถ่ายทำในประเทศ เช่นเดียวกันกับสหราชอาณาจักรที่ให้สิทธิลดหย่อนภาษี 25% ของค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่มีเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 15 ล้านปอนด์
- การขยายนโยบายคืนเงินค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำภาพยนตร์ให้ครอบคลุมภาพยนตร์และซีรีส์วายของผู้ผลิตชาวไทย เช่นเดียวกับการคืนเงินสูงสุดไม่เกิน 20% ให้กับการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยที่มีค่า ใช้จ่าย สูงกว่า 50 ล้านบาท
2.สนับสนุนการเผยแพร่สื่อบันเทิงไทยในต่างประเทศ
เพื่อให้ผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายมีโอกาสเข้าถึงตลาดต่างประเทศและขยายฐานผู้ชมให้กว้างขึ้น อาทิ การอำนวยความสะดวกและสนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ผลิตและ นักแสดงภาพยนตร์และซีรีส์วายที่มีศักยภาพส่งออกในการเดินทางไปเข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติและงานจับคู่ธุรกิจเพื่อซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์หรือชีรีส์ในต่างประเทศ
3.นโยบายอื่น ๆ ที่ส่งเสริมการพัฒนาการผลิตซีรีส์วาย เช่น
การสนับสนุนเงินทุนให้ผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายของไทยมีโอกาสร่วมงานกับผู้ผลิตซีรีส์วายต่างประเทศอย่างเกาหลี, ญี่ปุ่น และไต้หวัน
เช่นเดียวกับรัฐบาลฮ่องกง ที่เป็นสื่อกลางให้ผู้สร้างภาพยนตร์ท้องถิ่นและต่างประเทศได้ทำงานร่วมกันพร้อมสนับสนุนเงินทุนต่อโครงการสูงสุด 9 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงหรือประมาณ 40 ล้านบาท
เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้ผลิตซีรีส์ท้องถิ่นโดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเรียนรู้เทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพได้