ขบวนการ “คลิกฟาร์ม” ใช้มือถือ รับกดไลก์สินค้า-ให้ดาวแอปฯ บิดเบือนเรตติ้งสูงเกินจริง มีมานานแล้ว หลังจับ 3 ชาวมังกรได้ยกแก๊งที่สระแก้ว พร้อมมือถือเกือบ 500 เครื่อง ซิมการ์ด 3 แสนชิ้น พบมีมากในจีนและรัสเซีย แต่ทั่วโลกนิยมใช้บริการ ทั้งหมดนี้อาจเป็น “ภาพลวงตา” เจ้าของธุรกิจสิ้นเปลืองงบฯ-ผู้บริโภคไม่รู้เท่าทัน
กลายเป็นเรื่องฮือฮาสะเทือนอุตสาหกรรมออนไลน์ เมื่อตำรวจ สภ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เข้าตรวจค้นบ้านหลังหนึ่ง ในหมู่บ้านโก้เก๋ ต.บ้านใหม่หนองไทร อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ได้พบชายชาวจีน 3 คน และภรรยาชาวไทย พร้อมของกลางทั้งโทรศัพท์มือถือไอโฟนรุ่นต่างๆ รวม 474 เครื่อง ซิมการ์ดมือถือจากทุกค่ายทั้ง เอไอเอส ทรูมูฟ เอช และดีแทค รวม 347,200 ชิ้น พร้อมกับเครื่องอ่านซิม และคอมพิวเตอร์พกพา
ผู้ต้องหาให้การว่า เข้ามาทำงานเกี่ยวกับโปรแกรมเมอร์ เกี่ยวกับการขายสินค้า โดยรับจ้างกดไลก์ และเพิ่มยอดวิวให้แก่สินค้าที่ขายทางเว็บไซต์ในประเทศจีน แต่ที่มาไทย เพราะค่าบริการอินเทอร์เน็ตในไทยถูกกว่าประเทศจีน จึงถูกแจ้งข้อหาลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าหนีภาษี หรืออินเทอร์เน็ตผิดกฎหมาย เนื่องจากผิด พ.ร.บ.ศุลกากร
คดีนี้ นับว่าการตอกย้ำว่า พฤติกรรมรับจ้างกดไลก์ ให้คะแนนรีวิวแอปพลิเคชั่น รวมทั้งกระตุ้นยอดดาวน์โหลดนั้นมีอยู่จริง และทำกันเป็นขบวนการ โดยสถานที่ตั้งไม่จำเป็นต้องอยู่ในออฟฟิศ แค่ทำกันในบ้านพักธรรมดาๆ ไม่ต่างไปจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มาเช่าบ้านในไทยก่อเหตุแต่อย่างใด
และน่าคิดว่า อาจจะเกิดขึ้นกับธุรกิจออนไลน์ในไทย จนสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมออนไลน์ของไทยโดยภาพรวม ด้วยเรตติ้งที่สวนทางกับคุณภาพจากที่ผู้ใช้งาน หรือผู้บริโภคได้รับ
ขบวนการ “ปั่น” รับจ้างกดไลก์สินค้า กดให้ดาวรีวิวแอปพลิเคชั่น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นมานานแล้ว ถูกเรียกขานนามว่า “คลิกฟาร์ม” (Click Farm) ซึ่งเป็นพฤติกรรมสีเทาของธุรกิจอินเตอร์เน็ต
เช่นเดียวกับการทำเว็บไซต์ที่เรียกว่า “คลิกเบท” (Clickbait) โดยใช้พาดหัวล่อเป้า หรือหยิบข่าวเก่ามาพาดหัวชี้นำให้คนเข้ามาชม กระจายข่าวด้วยเนื้อหาเดียวกันไปยัง 10-20 เว็บไซต์ แล้วแทรกโปรแกรมโฆษณา (Affiliate Program) เพื่อรับผลตอบแทน ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้
เว็บไซต์ Business Insider เคยรายงานเมื่อปี 2558 พบภาพหญิงชาวจีนบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ “เวยโป๋” (Weibo) นั่งทำงานโดยใช้มือจิ้มหน้าจอโทรศัพท์สมาร์ทโฟนนับร้อยเครื่อง ซึ่งกำลังดาวน์โหลดและให้คะแนนแอปพลิเคชั่นต่างๆ จนทำให้การจัดอันดับแอปพลิเคชั่นยอดนิยมบน App Store สูงขึ้นผิดปกติ
โดยพบว่า มีการใช้วิธีลบการติดตั้ง และดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นอีกครั้งเพื่อติดตั้งใหม่ บนมือถือแต่ละเครื่องเพื่อเพิ่มยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นนั้น ๆ แม้แอปเปิลจะเป็นผู้เดียวที่รู้ว่าจะจัดอันดับอย่างไร แต่เมื่อจำนวนการดาวน์โหลดสูงขึ้น การจัดอันดับแอปพลิเคชั่นก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ นักพัฒนาพยายามที่จะให้แอปพลิเคชั่นเหล่านั้น ถูกกระตุ้นในการจัดเรตติ้งว่าจะได้กี่ดาว หรือจัดอันดับว่าจะได้ลำดับที่เท่าไหร่ โดยมีบริการที่จะสามารถการันตีได้ว่า แอปพลิเคชั่นเหล่านั้นจะได้เรตติ้ง 5 ดาว หรือติดอันดับ 1 ใน 10 แอปพลิเคชั่นประจำสัปดาห์ ด้วยค่าใช้จ่าย 65,000 เหรียญสหรัฐ ต่อสัปดาห์
มาถึงเดือนพฤษภาคม 2560 บทความในเว็บไซต์ ladbible.com อ้างถึงผู้ใช้ทวิตเตอร์ @EnglishRussia1 ระบุว่า ชายชาวรัสเซียรายหนึ่งได้ไปเยี่ยมคลิกฟาร์มของชาวจีน ซึ่งพวกเขากำลังปั่นเรตติ้งแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ซึ่งพวกเขากล่าวว่า มีมือถือที่ทำเช่นนี้นับหมื่นเครื่อง ทำให้เกิดไวรัลบนโลกออนไลน์ และสร้างความสนใจกับผู้ใช้จำนวนมาก
Russian man visited Chinese click farm.They make fake ratings for mobile apps and things like this.He said they have 10,000 more phones pic.twitter.com/qE96vgCCsi
— English Russia (@EnglishRussia1) May 11, 2017
ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี กล่าวว่า วิธีการเช่นนี้มักดำเนินการในประเทศจีนและรัสเซีย แต่ก็ยังมีบริษัททั่วโลกใช้บริการเช่นนี้ ที่ผ่านมาบริษัทด้านโซเชียลมีเดียต่างๆ พยายามต่อสู้กับผู้ใช้ที่เป็นบอท ไม่มีตัวตนจริง เช่น อินสตาแกรม เพิ่งประสบความสำเร็จในการปิดบอทที่ชื่อว่า “อินสตาเกรส” ซึ่งเป็นการเพิ่มยอดไลก์และความคิดเห็นเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ชม
ขณะเดียวกัน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย (USC) และมหาวิทยาลัยอินเดียนา ของสหรัฐฯ พบว่าบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์มากถึง 15% อาจเป็นของปลอม
สิ่งที่พบเห็น ทำให้ต้องย้อนมานึกกลับไปว่า ปัจจุบันโซเชียลมีเดียกลายเป็นธุรกิจ เมื่อเฟซบุ๊กเพจ บัญชีทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรมถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างฟรีๆ และเมื่อมีผู้ติดตามจำนวนมาก กลายเป็น Online Influencer ก็สามารถนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจอื่นๆ แน่นอนว่าวิธีการสีเทาด้วยการ “ปั่น” อาจจะมีส่วนถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มยอดไลก์ เพิ่มผู้ติดตาม
โดยที่คนภายนอกอาจยังไม่รู้ว่า ยอดไลก์มหาศาล ยอดผู้ติดตามจำนวนมาก อาจเป็นเพียงภาพลวงตาที่ทำลายอุตสาหกรรมออนไลน์โดยภาพรวม
เจ้าของธุรกิจจะต้องสิ้นเปลืองกับเรตติ้งที่หลอกลวง ไม่ได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง ส่วนนักพัฒนาแอปพลิเคชั่น ผู้ผลิตเนื้อหา จะต้องถูกกลุ่มคนเหล่านี้เอารัดเอาเปรียบอย่างไม่จบสิ้น ในยุคที่ผู้บริโภคอาจเป็นเพียงแค่ผู้ใช้ที่ผ่านหูผ่านตา ถูกชี้นำจากไวรัลที่ถูกปั่นแล้วเกิดความสนใจ โดยไม่ได้รู้เท่าทันถึงขบวนการเหล่านี้
ที่มา : http://manager.co.th/OnlineSection/ViewNews.aspx?NewsID=9600000059945