กสทช. แจงผลตรวจสอบการใช้งาน “ซิม” แก๊งปั๊มยอดไลก์ที่ถูกจับได้ที่สระแก้ว พบซิมกว่า 3.47 แสนเบอร์ ใช้ปั่นยอดวิวจริง ลงทะเบียนทั้งหมด ยังเปิดใช้งานอยู่ 50,000 เบอร์ เชื่อทำมานาน กว้านซื้อจากหลายแหล่ง พบค่ายทรู ถูกลงทะเบียนสูงสุด 1 คนเกือบ 3,000 เบอร์ กสทช. มั่นใจระบบสแกนลายนิ้วมือแก้ปัญหาระยะยาวได้
ความคืบหน้าจากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จับกุมชาวจีน 3 คน พร้อมของกลางเกือบ 40 รายการ ในจำนวนนี้มีซิมโทรศัพท์มือถือกว่า 3 แสนเบอร์ พร้อมอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือประมาณ 500 เครื่อง และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2560 โดยกลุ่มคนจีนอ้างว่า ใช้ปั่นยอดวิวเพจสินค้า โดยใช้ซิม 3.47 แสนเบอร์ จากผู้ประกอบทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น), บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี)
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยถึงผลตรวจสอบซิม พบว่า ทุกเบอร์มีการลงทะเบียนซิมกับ กสทช. ทั้งหมด และนำไปใช้ปั่นยอดวิวจริง โดยยังเปิดใช้งานอยู่ประมาณ 50,000 เบอร์ ส่วนที่เหลือไม่ได้เติมเงิน จึงหมดอายุการใช้งานไปแล้ว โดยคาดว่าทำกันมานานแล้ว
ส่วนการลงทะเบียนซิมพบ พบว่า
• ค่ายทรูฯ สูงสุดที่ 2,972 เบอร์ต่อ 1 คน โดยซิมของกลางเป็นของทรูฯ จำนวน 105,458 เบอร์ ถูกเปิดใช้งาน และยังสามารถใช้งานได้อยู่ จำนวน 9,777 เบอร์
• เอดับบลิวเอ็น (เอไอเอส) มีจำนวน 105,485 เบอร์ ถูกเปิดใช้งาน และยังสามารถใช้งานได้อยู่จำนวน 6,650 เบอร์ ในจำนวนนี้เป็นซิมที่ลงทะเบียนทั้งหมด โดยคนที่ลงทะเบียนสูงสุดมีจำนวน 413 เบอร์
• ดีแทค มีซิมของกลาง จำนวน 104,339 เบอร์ ถูกเปิดใช้งาน และยังสามารถใช้งานได้อยู่จำนวน 42,471 เบอร์ โดยพบคนคนเดียวที่ลงทะเบียนสูงสุด จำนวน 413 เบอร์
สำหรับการซื้อซิมนั้น พบว่า เป็นลักษณะการกว้านซื้อจากหลายแหล่งกระจายยังจังหวัดต่าง ๆ ในแต่ละภาค โดยตัวแทนจำหน่ายเป็นผู้ลงทะเบียนในนามบุคคล และนำไปจำหน่ายต่อ เนื่องจาก กสทช. ไม่ได้จำกัดสิทธิการซื้อ และลงทะเบียนซิม ทำให้หนึ่งคนสามารถลงทะเบียนซิมกี่เบอร์ก็ได้ แต่หากซิมนั้น ถูกนำไปกระทำความผิด ผู้ที่ลงทะเบียนจะมีความผิด แต่เบื้องต้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. หลังจากตรวจสอบของกลางแล้ว ได้แจ้งข้อหากลุ่มคนจีน มีและใช้วิทยุโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคำให้การ ทางคนจีนยืนยันว่า สั่งซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวผ่านทางไปรษณีย์ ซึ่งทางตำรวจจะต้องไปสืบอีกทีว่า ไปรับมาจากใคร
กสทช. ขอให้ทั้ง 3 รายส่งรายละเอียดทั้งหมดว่า ซื้อจากแหล่งไหนบ้าง ลงทะเบียน 1 คน มีเบอร์ไหนบ้าง ทั้งนี้ กสทช. จะไม่สามารถบอกรายละเอียดกับสื่อทั้งหมดได้ แต่จะส่งรายละเอียดทั้งหมดให้ตำรวจดำเนินการสืบสวน โดย กสทช. ยังดำเนินคดีทางอาญากับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. วิทยุโทรคมนาคม พ.ศ. 2498 โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหาแหล่งที่มาของอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ใช้ในการอ่านซิม โดยไม่ต้องแกะซิมออกมาจากซอง ว่า ซื้อมาจากไหน ซึ่งคำให้การอาจไม่จริงก็ได้ เพราะอาจผลิตเองก็ได้ และจากคำให้การนั้น ระบุว่า สั่งซื้อผ่านไปรษณีย์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของตำรวจเพื่อสืบหาความจริง
นอกจากนี้ กสทช. จะทำหนังสือแจ้งโอเปอเรเตอร์ว่า ถ้ามีการลงทะเบียนแทนกัน โดยตัวแทนจำหน่าย หรือลูกตู้แล้วซื้อในนามบุคคล คนที่นำซิมไปลงทะเบียน หรือตัวแทนจำหน่ายที่ลงทะเบียนจะตกเป็นผู้ต้องหาคนแรกด้วย
กสทช. จะเร่งให้มีการการลงทะเบียนแบบสแกนลายนิ้วมือ เชื่อว่าจะทำให้ความมั่นคงของประเทศทั้งภายในประเทศ และเศรษฐกิจดีขึ้น โดยระบบใหม่จะสร้างความมั่นใจเรื่องโมบายอีเพย์เมนต์ เงินในบัญชีก็จะไม่หายไปแน่นอน ยืนยันว่าการสแกนลายนิ้วมือเป็นการยืนยันตัวตนเท่านั้น ไม่ได้ตรวจสอบใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งจากรายงานพบว่าในแต่ละเดือนมีการขายซิมอยู่ในท้องตลาดที่ 2-3 ล้านซิม