ออนไลน์มาแล้วจ้า เซ็นทรัล อัด 100 ล้าน แปลงโฉม Zalora เป็นลุคสิ (LOOKSI)

หลังจากที่เป็นดีลสะท้านวงการอีคอมเมิร์ซ เมื่อกลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าซื้อกิจการ “ซาโลร่า” แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของกลุ่มร็อคเก็ต อินเตอร์เน็ต เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ทั้งในไทย และเวียดนาม เพื่อเสริมทัพธุรกิจออนไลน์ของเซ็นทรัลให้แข็งแกร่งขึ้น

แต่การเข้าซื้อซาโลร่าของกลุ่มเซ็นทรัลไม่ใช่ครั้งแรกที่ได้ใช้กลยุทธ์นี้ กลุ่มเซ็นทรัลเคยเข้าซื้อกิจการของ “ออฟฟิศเมท” เพื่อเป็นทางลัดในการเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์อย่างเต็มตัว โดยไม่ต้องเสียเวลาลงทุนเองตั้งแต่ศูนย์ แถมได้ผู้เชี่ยวชาญมือฉมังมาช่วยบริหาร

คีย์สำคัญของซาโลร่าที่ทางกลุ่มเซ็นทรัลต้องการก็คือ “Know how” ความเชี่ยวชาญในการบริหารอีคอมเมิร์ซ รวมถึงกระบวนการต่างๆ คลังสินค้า อินฟราสตรัคเจอร์ ระบบหลังบ้าน คอลเซ็นเตอร์ และฐานลูกค้าที่เป็นหัวใจสำคัญ

ในปีนี้เมื่อครบรอบหนึ่งปีที่ได้ซื้อกิจการ กลุ่มเซ็นทรัลหันมาแปลงโฉม “ซาโลร่า” ประเดิมด้วยการทุ่มงบ 100 ล้านบาท รีแบรนด์ใหม่ เปลี่ยนชื่อจากซาโลร่าเป็น Looksi หรือ ลุคสิ เพื่อบุกตลาดอีคอมเมิร์ซด้านแฟชั่นให้หนักขึ้น พร้อมตั้งแม่ทัพคนใหม่ พรชนก ตันสกุล” กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจออนไลน์ บริษัท เซ็นทรัล กรุ๊ป ออนไลน์ จำกัด ลูกหม้อเซ็นทรัลที่อยู่กับเซ็นทรัลมายาวนาน 13 ปี มาดูแลด้านชอปออนไลน์โดยเฉพาะ จากเดิมดูแลด้านกลยุทธ์และการพัฒนาธุรกิจ

พรชนก ตันสกุล

โดยโครงสร้างของธุรกิจออนไลน์ของกลุ่มเซ็นทรัลจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ก็คือ 1.ซีโอแอล ประกอบด้วย 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ออฟฟิศเมท บีทูเอส เซ็นทรัลออนไลน์ และเซ็นเนอร์จี อินโนเวชั่น 2. เซ็นทรัลกรุ๊ปออนไลน์จะดูแลเว็บไซต์ลุคสิโดยเฉพาะแต่ในตอนนี้กลุ่มเซ็นทรัลมีการปรับโครงสร้างอยู่ตลอดเวลา

เปลี่ยนชื่อให้จำง่าย-เข้าจริตคนไทย

พรชนก เล่าว่า กลุ่มเซ็นทรัลมีแผนที่จะเปลี่ยนชื่อเว็บไซต์ตั้งแต่ตอนซื้อกิจการมาแล้ว เพราะชื่อซาโลร่าผู้บริโภคจดจำไม่ได้ หรือมักจำสลับกับลาซาด้า เวลาค้นหาก็สะกดไม่ถูก จึงเปลี่ยนชื่อให้จำง่ายขึ้น และเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของเซ็นทรัล เป็นชื่อเฉพาะไม่เหมือนที่อื่น คำว่า look พ้องกับ Total look เป็นสไตล์แฟชั่นที่เปลี่ยนทุกวัน และคนไทยมีคำที่ติดปากอย่างคำว่านะ, สิ เลยมาลงตัวที่คำว่าลุคสิ เพื่อให้ติดหูติดปาก ค้นหาง่าย

ได้ระบบหลังบ้าน ผนึกกับเครือข่ายเซ็นทรัล

หลังจากที่ทำการซื้อกิจการมาเรียบร้อย คำถามที่เกิดขึ้นคือกลุ่มเซ็นทรัลจะได้อะไร พรชนกบอกว่าสิ่งที่ยากที่สุดของอีคอมเมิร์ซคือเรื่องระบบหลังบ้าน การบริหารจัดการให้สมบูรณ์ การซื้อซาโลร่าในครั้งนี้ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลได้เรื่องระบบคลังสินค้า การส่งสินค้า อินฟราสตรัคเจอร์ คอลเซ็นเตอร์ ทีมงานที่เข้าใจระบบออนไลน์กว่า 50 คน และฐานลูกค้าที่มีมากกว่า 1.2 ล้านคน ทำให้มาต่อยอดกับธุรกิจออนไลน์อื่นๆ ของเซ็นทรัลได้

ทิศทางต่อไปนั้น เซ็นทรัลได้วางยุทธศาสตร์ผนวกเป็น Omni Chanel ดังนั้นจึงนำไปผนึกกับธุรกิจอื่นๆ เริ่มต้นด้วยการนำซัพพลายเออร์ที่เป็นชอปหน้าร้านจากสาขาต่างๆ เข้าไปจำหน่ายในลุคสิ ในไตรมาส 3 จะมีบริการ Click & Collect ซื้อสินค้าจากออนไลน์ แล้วไปรับที่สาขาต่างๆ ของเซ็นทรัลได้ และผนึกกับฐานลูกค้าเดอะวันการ์ดด้วย

ออนไลน์แข่งกันโต เซ็กเมนต์แฟชั่นโอกาสสูง

แม้ธุรกิจชอปออนไลน์มีการเติบโตขึ้นทุกปี แต่การแข่งขันกันสูงมาก ทุกรายต้องการลูกค้า แข่งกันโตให้มากที่สุด บางสินค้าก็เติบโตได้ดีอย่างสินค้าไอที เพราะเป็นสินค้าที่คนรู้จักอยู่แล้ว แค่ดูคุณสมบัติก็ซื้อได้ง่าย ทำให้ตลาดสินค้าไอทีมีมูลค่าสูง

ส่วนความยากคือการขายสินค้าแฟชั่นทางออนไลน์ เพราะมีเรื่องของ Size เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ตลาดก็เติบโตสูงเพราะคนไทยหันมาชอปออนไลน์มากขึ้น ให้ความเชื่อมั่นกับการชอปออนไลน์ ทำให้ตอนนี้สินค้าแฟชั่นออนไลน์มีมูลค่าสูงรวม 2,000-3,000 ล้านบาท

และอีคอมเมิร์ซที่เน้นแฟชั่นแบบมัลติแบรนด์ยังมีไม่มาก คู่แข่งไม่เยอะเท่าอีคอมเมิร์ซที่รวมหลายๆ สินค้าด้วยกันอย่างลาซาด้า ความท้าทายของลุคสิในตอนนี้ก็คือการผนึกกำลังร่วมกับเซ็นทรัล และสร้างการเติบโต

วางจุดยืนเป็น Online Fashion Destination

กลุ่มเซ็นทรัลวางจุดยืนให้ลุคสิเป็นอีคอมเมิร์ซที่เน้นแฟชั่นเป็นหลัก มีความหลากหลายของแบรนด์ และเพิ่มแบรนด์ Exclusive เข้ามาจำหน่ายที่ลุคสิเท่านั้น

กลยุทธ์ที่ลุคสิทำในตอนนี้คือเพิ่มคอนเทนต์สร้างแรงบันดาลใจ และเพิ่มบริการต่างๆ ให้ใช้งานสะดวก มี Exclusive Brand ที่หาได้เฉพาะที่ลุคสิ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้ใช้บริการ

กลุ่มเป้าหมายของลุคสิจะเน้นกลุ่มเด็กวัยรุ่นอายุ 18-25 ปี กลุ่มนักเรียนนักศึกษา และกลุ่ม First Jobber แบ่งสัดส่วนเป็นต่างจังหวัด 70% และใน กทม. 30%

จุดยืนนี้จะแตกต่างจาก 2 เว็บไซต์เดิมของกลุ่มเซ็นทรัลอย่าง www.central.co.th และ www.robinson.co.th ที่เน้นเป็น One Stop Shopping มีจำหน่ายสินค้าทุกอย่างที่มีในเซ็นทรัล และกลุ่มลูกค้าจะเป็นกลุ่มผู้ใหญ่

ปัจจุบันลุคสิมีแบรนด์สินค้ากว่า 1,000 แบรนด์ กว่า 50,000 รายการ เป็นตัวเลขที่ลดลงจากตอนเป็นซาโลร่า ตอนนั้นมี 3,000 แบรนด์ กว่า 70,000 รายการ เพราะได้ทำการคัดเลือกแบรนด์ที่นำมาจำหน่ายมากขึ้น อย่างแบรนด์ที่จำหน่ายใน Market Place สัดส่วน 50% ก็มีเกณฑ์คัดเลือกหนักขึ้น ต้องถ่ายรูปดูดี มีสต๊อกสินค้าพร้อม เพราะแต่ก่อนจะมีปัญหาเรื่องสินค้าไม่ตรงกับรูปถ่ายด้วยเช่นกัน

เป้าหมายของลุคสิในปีนี้มีรายได้ 500 ล้านบาท ภายใน 3 ปีจะมีรายได้เกิน 1,000 ล้านบาท และจะต้องเป็นขาสำคัญของธุรกิจออนไลน์ให้เซ็นทรัลให้ได้