1 ใน 7 ประเด็นแรงของ “อาลีบาบา กรุ๊ป” ที่ผู้ก่อตั้งมือทอง “แจ็ค หม่า” กล่าวย้ำไว้ในงานวันนักลงทุน 2017 คือ การประกาศเป้าหมายให้อาลีบาบามียอดขายรวมทะลุ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2020 ถือเป็นสัญญาณร้อนแรงที่สะท้อนว่า อาลีบาบาในช่วง 3 ปีข้างหน้า จะมีขนาดมหึมา น่าเกรงขามเพียงไร
ในขณะที่อีก 6 ประเด็นที่เหลือนั้น แจ็ค หม่า ได้ประกาศในงาน 2017 Investor Day เมื่อวันที่ 8-9 มิถุนายน 2017 สำนักงานใหญ่ของอาลีบาบา ในเมืองหังโจว ประเทศจีน ตอกย้ำว่า อาลีบาบามีวิสัยทัศน์ระยะยาว และเป้าหมายท้าทายจริงจัง
1. หวังลูกค้าทะลุ 2 พันล้านคน
“เป้าหมายของผม คือ การทำให้อาลีบาบามียอดขายรวมทั้งสิ้น 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปีงบประมาณสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 และการสร้างงาน 100 ล้านตำแหน่ง พร้อมรองรับผู้บริโภคกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก” แจ็ค หม่า ประกาศชัดเจน
สำหรับปีงบประมาณ 2018 อาลีบาบา กรุ๊ป ได้ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ไว้ที่ร้อยละ 45-49 โดยจะมาจากหลายปัจจัยรวมกัน เช่น ความแข็งแกร่งในธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศจีน ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของอาลีบาบา การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคชาวจีนที่เติบโตต่อเนื่อง และการเติบโตของผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ การคาดการณ์การเติบโตที่แข็งแกร่งดังกล่าวยังมาจากรายได้ที่เกิดจากช่องทางใหม่ และการขยายการลงทุนนอกเหนือจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซภายในประเทศ เช่น ด้านสื่อดิจิตอลและบันเทิง อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน บริการต่างๆ ในท้องถิ่น การตลาดดิจิตอล และสาขาอื่น
2. ธุรกิจดาต้าโตกระฉูด
“เราเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีรากฐานมาจากข้อมูลดาต้า” แดเนียล จาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอาลีบาบา กรุ๊ป กล่าว “ธุรกิจของอาลีบาบา มีความหลากหลาย และครอบคลุมมากกว่าบริษัทอินเทอร์เน็ตทั่วไป โดยเราได้นำเทคโนโลยีการจดจำภาพและเสียงพูด ปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงระบบประมวลผลคลาวด์ที่เร็วที่สุดในโลกมาปรับใช้ และผนวกรวมไว้ในธุรกิจต่างๆ ของเรา ปัจจุบัน เรามีผู้ใช้งานกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก โดยธุรกิจขนาดย่อมเกือบ 10 ล้านรายทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มของเราทุกวัน”
“อาลีบาบา ไม่ได้เป็นเพียงช่องทางการขาย หรือแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมการตลาด แต่เราสร้างโอกาสให้แก่ร้านค้า และแบรนด์ต่างๆ ในการบริหารจัดการลูกค้าตลอดวงจรการซื้อสินค้า ตั้งแต่การทำให้ลูกค้าเกิดการรับรู้ ให้ความสนใจในสินค้า ตัดสินใจสั่งซื้อ และเกิดความภักดีอย่างต่อเนื่อง นี่คือมูลค่าทางธุรกิจที่แท้จริงที่เรามอบให้แก่ผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มของเรา” แมกกี้ วู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินของอาลีบาบา กรุ๊ป กล่าว
3. ยอดชมเพจสินค้าบนอาลีฯ เพิ่มขึ้น 140%
อาลีบาบา ทำให้ผู้ใช้งานมีส่วนร่วมเพิ่มมากขึ้นด้วยคอนเทนต์ เช่น วิดีโอถ่ายทอดสดออนไลน์แนะนำสินค้าใหม่ๆ โดยยอดการแชร์คอนเทนต์ และยอดการแชร์เพจสินค้า เพิ่มสูงขึ้นถึง 80% ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียว กันในปีก่อน อีกทั้ง ยอดการเข้าชมเพจสินค้าที่ให้คอนเทนต์เป็นหลักเพิ่มขึ้นมากกว่า 140% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยิ่งไปกว่านั้น พบว่ายิ่งผู้บริโภคชาวจีนใช้เวลาบนแพลตฟอร์มของอาลีบาบามากเท่าไร จะยิ่งใช้จ่ายมากขึ้นเท่านั้น โดยยอดการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อราย เพิ่มขึ้นจาก 3,000 หยวนในปีแรก เป็น 12,000 หยวนในปีที่ 5 ของการใช้งาน
เจ็ท จิง รองประธานของ Tmall กล่าวว่า “เว็บไซต์ B2C ของอาลีบาบา ได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำหรับสิ่งที่เราเรียกว่า “การบริโภคเชิงคุณภาพ” ของชนชั้นกลางในประเทศจีนที่กำลังเพิ่มมากขึ้น โดยผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง และสินค้าแบรนด์ต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”
4. ไม่ได้ฆ่า แต่ยื่นมือช่วยค้าปลีกแบบเก่า
อาลีบาบา ระบุว่า ตัวเองคือผู้ริเริ่มและผู้ขับเคลื่อนการค้าปลีกรูปแบบใหม่ (New Retail) โดยการผสมผสานระหว่างการค้าออนไลน์ และออฟไลน์ ผนวกกับการนำระบบดิจิตอลมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจค้าปลีก อาลีบาบา คาดการณ์ว่า เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต และบิ๊กดาต้า จะจุดประกายให้เกิดการปฏิวัติโมเดลธุรกิจห้างร้านที่ล้าสมัยให้ฟื้นคืนขึ้นมาในรูปแบบใหม่
“เป้าหมายของเราไม่ใช่การแย่งส่วนแบ่งตลาดจากห้างร้านต่างๆ แต่คือการสนับสนุนให้ร้านค้าเหล่านั้น ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการตลาด และการขายออนไลน์ของอาลีบาบา เพื่อพัฒนาการดำเนินธุรกิจ ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า และเพิ่มยอดขายต่อตารางฟุต” นายจาง กล่าว
5. อนาคตคลาวด์สดใส
ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา อาลีบาบา คลาวด์ ได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไอดีซี ระบุว่า อาลีบาบา คลาวด์ เป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต คลาวด์ ที่ทำรายได้มากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในประเทศจีน ด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเว็บไซต์กว่า 37 เปอร์เซ็นต์ในประเทศจีนที่ใช้บริการคลาวด์ของอาลีบาบา
“อาลีบาบา คลาวด์ สามารถทำรายได้เติบโตเป็นตัวเลขสามหลักติดต่อกันเป็นปีที่ 8 และเรายังมองเห็นการเติบโตที่ต่อเนื่องจากทั้งลูกค้ารายใหม่ๆ และการเพิ่มปริมาณการใช้งาน” นางวู กล่าว
การสร้างมูลค่าระยะยาวสำหรับอาลีบาบา
6. ปูพรมหลายธุรกิจ
ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา อาลีบาบาได้ใช้เงินลงทุนกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ จากเงินลงทุนทั้งหมดสองหมื่นหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ ไปในธุรกิจสื่อดิจิตอลและบันเทิง การขยายธุรกิจในต่างประเทศ ลอจิสติกส์ รวมทั้ง ออนไลน์ ทู ออฟไลน์ และธุรกิจบริการในท้องถิ่น
“วัตถุประสงค์ คือ การสร้างมูลค่าในระยะยาวสำหรับอาลีบาบา และวิธีเดียวในการเพิ่มมูลค่า คือ การทำให้เกิดความร่วมมือ” โจ ไฉ่ รองประธานบริหาร อาลีบาบา กรุ๊ป กล่าว “การลงทุนหรือการเข้าซื้อกิจการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ต้องสอดคล้องกับ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ การพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า การหาผู้ใช้และผู้ใช้รายใหม่ การขยายตัวของอาลีบาบาในทางภูมิศาสตร์ หรือการผลักดันบริษัทไปสู่ธุรกิจรีเทลแบบใหม่”
7. ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กับอาลีบาบา
อาลีบาบาได้ใช้งานโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ประเภทแชตบอต (Chatbot) ซึ่งสามารถตอบคำถามลูกค้าได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และยังขยายขอบเขตการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หลายรูปแบบ ไปยังส่วนงานต่างๆ เช่น
ลอจิสติกส์และการค้นหาผลิตภัณฑ์ บริษัทฯ ยังลงทุนอย่างมากในการพัฒนาเทคโนโลยีจดจำเสียงพูด (Speech Recognition) และในปีนี้จะมีการเปิดตัวชุดผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานแพลตฟอร์มอัจฉริยะที่สั่งการด้วยเสียง ซึ่งสามารถใช้งานได้ในหลากหลายธุรกิจ เช่น อุตสาหกรรมโรงแรม และตลาดการศึกษา
“หลายบริษัทบอกว่า พวกเขามีฝ่าย AI แต่ที่อาลีบาบา AI แทรกซึมอยู่ในทุกส่วนของธุรกิจของเรา” นายไฉ่ กล่าว
ที่มา : https://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000062093