ชอปกระจาย ! “ร้านราคาเดียว” ถูกกระชากใจ แม่เหล็กใหม่ทุกห้างต้องมี

ร้านค้าปลีกในรูปแบบชอปไลฟ์สไตล์ที่มีจุดขายที่ราคาเท่ากันหมดทุกชิ้น กำลังเป็นที่นิยมจากนักชอปชาวไทย ด้วยความที่สินค้าราคาไม่แพง ซื้อง่ายขายคล่อง ทำให้มีทั้งแบรนด์ไทยแบรนด์นอก ทยอยเข้ามาทำตลาด

แบรนด์ร้านราคาเดียว ที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดีคงหนีไม่พ้น “ไดโซ” รวมถึงแบรนด์อื่นๆ ได้แก่ Komonoya, Just Buy, Arcova, โตคูโตคูยะ และ Can Do ส่วนใหญ่จะมีราคาเริ่มต้นที่ 60 บาท ต้นแบบจากร้าน 100 เยนในประเทศญี่ปุ่น

แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้เริ่มมีร้านใหม่ๆ เข้ามา พร้อมกับโมเดลใหม่ด้วยราคาที่ย่อมเยาลงกว่าเดิม แถมสินค้าหลากหลายมากขึ้น มีตั้งแต่เริ่มต้นที่ 12 บาท จนถึง 60 บาท เช่น เพนกวิน, แบร์ สโตร์, โมชิโมชิ และมินิโซ มีทั้งแบรนด์นอกแบรนด์ไทย ที่กำลังยึดพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าฯ กันเนืองแน่น จนกลายเป็นอีกหนึ่งในแม่เหล็กที่ห้างฯ ต้องมี จนเวลานี้แต่ละห้างฯ ต้องมีไม่น้อยกว่า 2-3 ร้านเข้าไปแล้ว

ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจนี้มีการเติบโตเพราะราคาไม่สูง ซื้อง่ายขายคล่อง โดยมีทั้งที่ซื้อมาจากประเทศจีน แต่ช่วงหลังก็ไปหาซื้อมาจากประเทศญี่ปุ่น คนไทยชื่นชอบสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้ว เมื่อสินค้าราคาไม่แพง และมีดีไซน์ สีสันสวยงาม ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ง่าย ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ทำให้สินค้าเหล่านี้เป็นที่นิยมมากขึ้น

ร้านไดโซ

สำหรับรายแรกๆ ที่เข้ามาบุกเบิกตลาด “ไดโซ” ขายสินค้าจากญี่ปุ่น ราคาเดียว 60 บาท ได้รับความนิยมอย่างดี จนปัจจุบันมีจำนวนสาขากว่า 100 สาขาแล้ว มีทั้งบริหารเองและขายแฟรนไชส์ เพื่ออัปสปีดในการขยายสาขาได้เร็วขึ้น เมื่อการแข่งขันที่มีมากขึ้น “ไดโซ” จึงต้องปรับตัวมากขึ้นเช่นกัน เพิ่มสินค้าด้านความสวยความงามเข้ามามากขึ้น เช่น ครีม เครื่องสำอาง และขนมต่างๆ เพื่อไม่ให้ลูกค้าจำเจ ตกแต่งร้านในโทนสีชมพูเพื่อความโมเดิร์น และดึงดูดลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นให้มากขึ้น จากเดิมที่เป็นลูกค้ากลุ่มแม่บ้านเสียส่วนใหญ่

อีกทั้งยังเพิ่มช่องทางในส่วนชอปออนไลน์เข้ามาเสริม ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคนี้ และเอาใจคนต่างจังหวัดให้สามารถสั่งสินค้าได้ ซึ่งไดโซยังคงมีข้อได้เปรียบเรื่องแบรนด์ที่เข้าถึงผู้บริโภคในระดับหนึ่งแล้ว โจทย์ต่อไปก็คือต้องดึงผู้บริโภคให้มีลอยัลตี้กับแบรนด์ให้ได้

แบรนด์ใหม่แห่ทำตลาด ดัมพ์ราคาเหลือ 12 บาทขาดตัว

ทางด้านแบรนด์ใหม่ๆ ที่เข้ามาทำตลาด ใช้ราคาต่ำกว่าเหลือแค่ 12 บาทมาใช้สร้างจุดขาย อย่าง เพนกวิน 12 shop ทุกอย่าง 12 บาท สินค้าภายในร้านมีหลายกลุ่ม สินค้าของใช้ภายในบ้าน เครื่องเขียน ของตกแต่ง เครื่องประดับ และอื่นๆ แต่สินค้าจะมีความหลากหลายคล้ายคลึงกันกับร้านโลคอลทุกอย่าง 20 บาท ปัจจุบันมี 3 สาขา ได้แก่ พระราม 4, เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ และบางแสน และกำลังจะเปิดที่สาขาโลตัส พลัสมอลล์ ศรีนครินทร์ เป็นสาขาที่ 4 ซึ่งเพนกวินเองก็กำลังขยายสู่การขายแฟรนไชส์อยู่เช่นกัน ตอนนี้เปิดรับผู้สนใจอยู่

ร้าน โมชิโมชิ

แบรนด์โมชิโมชิที่เริ่มทำตลาดตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 ชูจุดขายเป็นสินค้าในสไตล์ญี่ปุ่นเช่นกัน แต่ราคาเริ่มต้นแค่ 20 บาท กลุ่มสินค้าก็ไม่ได้แตกต่างจากแบรนด์อื่นมากนัก ขึ้นอยู่กับดีไซน์ของแต่ละแบรนด์ ปัจจุบันมี 7 สาขา ได้แก่ The Platinum Fashion Mall, Happy Square, Terminal 21 โคราช, ห้างเสรีลำปาง, MAYA Lifestyle Shopping Center, ซอยละลายทรัพย์ สีลม และคลังพลาซ่า โคราช

“มินิโซ” น้องใหม่ เตรียมขยายครบ 100 สาขาใน 2 ปี

MINISO (มินิโซ) เป็นแบรนด์ชอปไลฟ์สไตล์ล่าสุดจากญี่ปุ่นก็เข้ามาบุกตลาดไทย ได้เริ่มมาเปิดสาขาแรกเมื่อกลางปี 2559 จนถึงปัจจุบันมี 15 สาขาแล้ว

MINISO

ร้านนี้เปิดตัวในปี 2556 ในญี่ปุ่น แต่มีผู้ร่วมลงทุนใหญ่เป็นคนจีนก็คือ เย่ กั๋ว ฟู่ เป็นประธานบริษัท และมี จุนยะ มิยาเกะ เป็นหัวหน้านักออกแบบ ปัจจุบันมีกว่า 1,400 สาขา ใน 56 ประเทศทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย “บริษัท ชิ่งไท่ เทรดดิ้ง จำกัด” เป็นผู้ซื้อแฟรนไชส์มินิโซเข้ามาทำตลาดในไทย

ชิ่งไท่ เทรดดิ้ง แต่เดิมประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นำเข้าส่งออกสินค้า และได้ขยายธุรกิจมายังบริหารแฟรนไชส์แบรนด์จากต่างประเทศ ร้านมินิโซเป็นแบรนด์แรกที่นำแฟรนไชส์เข้ามา สาเหตุที่ทางบริษัทเลือกแบรนด์นี้เข้ามาเพราะเป็นแบรนด์ที่มีการเติบโตสูง ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีแต่มีสาขามากมาย รวมถึงมองเห็นโอกาสในตลาดร้านค้าไลฟ์สไตล์ในไทยยังมีช่องว่าง และการเติบโต เพราะคนไทยชอบของดี ราคาถูก

ไช่ เสี้ยว ซิง ประธานกรรมการบริษัท มินิโซ ไทยแลนด์ จำกัด เล่าว่า “ตลาดร้านแบบไลฟ์สไตล์ในไทยตอนนี้มีการแข่งขันสูงมาก มีผู้เล่นหลายรายทยอยทำตลาด แต่ก็มีโอกาสในตลาดสูงเช่นกัน ตลาดยังมีการเติบโตอยู่ เพราะคนไทยชอบสินค้าคุณภาพดี ราคาถูก ด้วยราคาหลักสิบหลักร้อยทำให้ตัดสินใจซื้อได้ง่าย ร้านค้าเหล่านี้เข้ามาตอบโจทย์ จุดยืนของมินิโซจะเน้นเรื่องดีไซน์แบบมินิมอล เน้นสินค้าเป็นแบบ Fast Fashion มีการเปลี่ยนตลอดเฉลี่ยแล้ว 100 รายการ/เดือน ในขณะที่แบรนด์อื่นจะขายสินค้าเดิมๆ ตลอด”

ร้านมินิโซจะไม่ใช่ราคาเดียวกันทั้งร้าน จะมีราคาหลากหลายเริ่มต้นตั้งแต่ 39 บาท ไปจนถึง 699 บาท โดยราคา 69 บาทเป็นราคากลาง มองว่าเป็นราคาที่คนยอมจ่ายได้มากที่สุด สินค้าจะครอบคลุมเกือบทุกกลุ่มตั้งแต่เครื่องสำอาง ตุ๊กตา ของเล่น ของใช้ในบ้าน เครื่องครัว น้ำหอม สินค้าไอที เครื่องประดับ เป็นต้น สินค้าที่ขายดีที่สุดเป็นกลุ่มไอที ความงาม ในอนาคตจะมีกลุ่มอาหาร ขนมต่างๆ กำลังอยู่ในช่วงรอเอกสารกับทาง อย.

ในปัจจุบันมีทั้งหมด 15 สาขา ตั้งเป้าว่าจะมี 50 สาขาให้ได้ภายในปีนี้ และ 100 สาขาภายใน 2 ปี เน้นที่กรุงเทพฯ ก่อน ที่ต่างจังหวัดมีไปแค่พัทยา และกำลังเจรจากับทางเดอะมอลล์โคราช รูปแบบการลงทุนยังเป็นการลงทุนเองก่อน ใช้งบลงทุนเฉลี่ย 15 ล้านบาท/สาขา มีแผนว่าให้มีสาขาครบ 80 สาขาก่อนถึงจะขายแฟรนไชส์ให้ผู้สนใจ

แต่ละสาขามีพื้นที่เฉลี่ย 200-300 ตารางเมตร สาขาเมกะบางนาจะมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดคือ 900 ตารางเมตร มีสินค้าในร้านเฉลี่ย 2,000-2,500 รายการ ยังมีสินค้าอื่นๆ สามารถนำเข้ามาได้อีก เพราะบริษัทแม่มีสินค้ารวม 7,000 รายการ แต่สามารถนำเข้ามาได้แค่ 3,000 รายการเท่านั้น ในแต่ละวันมีทราฟฟิกคนเข้าร้านเฉลี่ย 200-300 คน/สาขา และมียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 400-500 บาท/บิล

“แบร์ สโตร์” ทุกอย่าง 20 บาท คนต่างจังหวัดยังบินมาชอป

ในขณะที่สินค้าสไตล์ญี่ปุ่นส่วนใหญ่ราคา 60 บาทกัน แบร์ สโตร์จึงต้องแหกแนวทำให้สินค้าทุกอย่างราคา 20 บาท เพราะมองว่าเป็นราคาที่คนไทยตัดสินใจซื้อง่าย แต่เน้นคุณภาพเทียบเท่ากับสินค้าราคา 40-60 บาท

“ปภาดา ชัยพันธุ์” และ “วุฒิชัย สารยศ” ผู้จัดการฝ่ายบริหารงานทั่วไป มองว่า แบร์ สโตร์ไม่ใช่ใครจะทำได้ง่ายๆ เพราะพวกเขาใช้เวลาเตรียมการนานถึง 6 ปี! ด้วยการศึกษาหาข้อมูลในเรื่องเทรนด์สินค้า หาโรงงานผลิตสินค้าที่ตรงความต้องการ เน้นในเรื่องต้นทุนและคุณภาพเป็นสำคัญ เพื่อให้สินค้าทุกชิ้นขายในราคา 20 บาทได้เทียบเท่าราคา 40-60 บาท อย่างขวดน้ำพลาสติก จะใช้พลาสติกเกรดเดียวกับขวดนมเด็ก แต่ขายในราคาเพียง 20 บาทเท่านั้น

แบร์ สโตร์

โจทย์แรกที่ทั้งสองคิด คือ ทำไมสินค้าราคา 20 บาทจะขึ้นห้างไม่ได้ เพราะราคานี้ผู้คนพร้อมจับจ่าย และหากยิ่งเน้นคุณภาพ ประโยชน์ใช้สอย ยิ่งทำให้ผู้คนตอบรับเป็นเท่าตัว จึงทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจเลือกทำเลเปิดสาขาแรกที่เมเจอร์ ปิ่นเกล้า เพราะผู้คนพลุกพล่านและใกล้สถานศึกษาหลายแห่ง

หลังจากการเปิดตัวของร้านได้เพียง 1 เดือน ได้รับผลตอบรับดีเกินคาด จากสินค้าที่สต๊อกไว้สำหรับการขายใน 1 เดือนกลับเกลี้ยงภายใน 10 วันแรกที่เปิดร้าน ซึ่งกระแสดังกล่าวโด่งดังไปถึงต่างจังหวัด มีลูกค้านั่งเครื่องเพื่อมาชอปที่ร้านโดยตรงเลยก็มี ชี้ให้เห็นได้ว่าธุรกิจนี้ขึ้นอยู่ที่การจับจริตคนได้ถูก คนไทยชอบสินค้าสไตล์ญี่ปุ่นอยู่แล้ว ยิ่งมีราคาที่เหมาะสมทำให้ตรงกับความต้องการได้

สินค้าทุกชิ้นของแบร์ สโตร์นำเข้ามาจากหลากหลายประเทศในแถบเอเชีย เช่น ฮ่องกง จีน อินเดีย อินโดนีเซีย และไต้หวัน ที่พวกเขาต้องลงพื้นที่ตระเวนไปดูสินค้าใหม่ๆ จากโรงงานแต่ละประเทศเป็นประจำ รวมถึงมีทีมงานด้านการตลาดประจำที่ประเทศญี่ปุ่นทำการสำรวจตลาด และเทรนด์สินค้าใหม่ในแต่ละซีซัน เพื่อนำมาปรับปลี่ยนสินค้าของพวกเขาไปเรื่อยๆ

สาขาแรกที่เมเจอร์ ปิ่นเกล้า มีสินค้า 800-1,000 รายการ กับ 12 หมวดหมู่ ได้แก่ 1. หมวดสินค้าไอเดีย 2. หมวดอุปกรณ์ในครัว 3. หมวดของใช้ในบ้าน 4. หมวดสินค้าเพื่อความปลอดภัย 5. หมวดเครื่องเขียน 6. หมวดกิฟต์ชอป
7. หมวดสินค้าประเภทกระเป๋า 8. หมวดไอที 9. หมวดของใช้ในห้องน้ำ 10. หมวดงานพลาสติก 11. หมวดงานเครื่องแก้ว และ 12. หมวดสติกเกอร์ และ DIY

ปัจจุบัน แบร์ สโตร์มีเพียงแค่ 1 สาขาเท่านั้นที่เมจเอร์ ปิ่นเกล้า การขยายสาขาเน้นทำเลต้องอยู่ในห้างสรรพสินค้า หรือซูเปอร์สโตร์เท่านั้น บนพื้นที่ตั้งแต่ 140 ตร.ม.ขึ้นไป รวมถึงการขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ ตั้งเป้าภายใน 3-5 ปีจะขยายให้ครบ 30 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเงินลงทุนเบื้องต้นอยู่ที่ 3-6 ล้านบาท เร็วๆ นี้จะเปิดที่บิ๊กซี จ.เพชรบุรี และเมเจอร์ สาขาเซ็นทรัล พระราม 2 เมเจอร์ สาขาปากเกร็ด และห้างสรรพสินค้าในเครือเซ็นทรัล และเดอะมอลล์ในอนาคต

ตลาดร้านค้าไลฟ์สไตล์รูปแบบนี้มีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จริง แต่ก็มีแบรนด์ที่ล้มหายตายจากไปเช่นกัน การสร้างความแตกต่างให้สินค้าจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ เพราะในเรื่องราคามีความใกล้เคียงกัน รวมถึงเรื่องโลเคชันสถานที่ต้องเข้าถึงผู้บริโภคด้วย