สุดท้าย “ทราวิส คาลานิก” ก็ลาออกจนได้ หลังถูกผู้ถือหุ้นของ Uber กดดันอย่างหนักมานานหลายเดือน จากเรื่องอื้อฉาวมากมาย
เมื่อสัปดาห์ก่อน ทราวิส คาลานิก เพิ่งจะบอกว่าเขาขอพักจากงานอย่างไม่มีกำหนด หลังมารดาของเขาเสียชีวิตอย่างกะทันหันจากอุบัติเหตุทางเรือ แต่สุดท้ายซีอีโอคนดังแห่งบริษัทที่เติบโตอย่างร้อนแรงที่สุดแห่งยุค ก็ได้ตัดสินใจที่จะถอนตัวจากตำแหน่งบริหารของ Uber ไปเรียบร้อยแล้ว แต่เขายังจะมีตำแหน่งในบอร์ดของบริษัทต่อไป
New York Times รายงานว่าผู้ลงทุนรายใหญ่ทั้ง 5 รายของ Uber ได้เรียกร้องให้ ทราวิส คาลานิก ลงจากตำแหน่งมาพักใหญ่แล้ว ขณะที่ตัวของเขาได้กล่าวว่า “ผมรัก Uber มากกว่าสิ่งใดในโลก และในช่วงที่ชีวิตส่วนตัวของผมเองก็ยากเย็น ผมจึงได้ตัดสินใจที่จะยอมรับข้อเรียกร้องของผู้ลงทุนในการลงจากตำแหน่ง เพื่อให้ Uber ได้กลับไปเดินหน้าอีกครั้ง แทนที่จะต้องมาคอยวอกแวกกับเรื่องอื่นๆ”
ขณะที่บอร์ดของ Uber ก็กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า “ทราวิส ให้ Uber มาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ และนี่คือการตัดสินใจอย่างกล้าหาญ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเท และความรักต่อ Uber ของเขา … การลงจากตำแหน่งคราวนี้ จะทำให้เขาได้มีเวลาเยียวยาความโศกเศร้าส่วนตัว และในเวลาเดียวกันก็จะทำให้บริษัทได้เข้าสู่ยุคใหม่ และเขารอพร้อมที่จะทำงานกับเขาในคณะกรรมการของ Uber ต่อไป”
แน่นอนว่านี่คือ “ดราม่า” ใหญ่อีกครั้งของ Uber ที่เจอข่าวฉาว และเรื่องในแง่ลบมาขนาดใหญ่ รวมถึงการออกจากตำแหน่งของ คาลานิก ที่แสดงให้เห็นว่า “ถ้าเขายังถูกเตะจาก Uber ได้…ก็คงไม่มีใครปลอดภัย 100%”
ภายใต้การนำของ คาลานิก ด้วยทัศนคติว่า “ทุ่มทุกอย่างเพื่อความสำเร็จ” ทำให้ Uber ก้าวขึ้นไปเป็นยักษ์ใหญ่ด้านระบบ “บริการร่วมเดินทาง” อย่างไร้คู่แข่ง กลายเป็น Startup ที่โตเร็วชนิดที่ว่า Uber สามารถระดมทุนได้มากกว่า Startup “ทั้งหมด” ในสหราชอาณาจักรเมื่อปีก่อนรวมกัน แต่ในเวลาเดียวกัน คาลานิก ก็ถูกกล่าวหามาตลอดว่าทำธุรกิจแบบ “เล่นไม่ซื่อ” Uber ต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ในหลายๆ ประเทศเรื่องกฎระเบียบการจราจร, พฤติกรรมของผู้ขับรถ, ถูกกล่าวหาว่าให้ท้ายผู้ขับรถ, มีปัญหากับผู้ลงทุน ถึงขั้นมีข้อกล่าวหาว่าขโมยข้อมูลของคู่แข่ง
สุดท้ายผู้ลงทุนจึงต้องตัดสินใจว่า “อะไรคือความเสี่ยง” สำหรับบริษัทกันแน่ ระหว่างการเขี่ยคนที่ปั้น Uber ทิ้ง หรือ การปกป้องเขาเอาไว้? ซึ่งสุดท้ายทุกฝ่ายก็ตัดสินใจได้ว่า ทราวิส คาลานิก ควรจะ “ออกไป”
ก่อนหน้านี้ แดน พรีแม็ค บก. ด้านธุรกิจของ Axios คือคนแรกที่ได้กลิ่นว่า คาลานิก อาจจะถูกเด้ง เขาบอกว่า บิล กัวลีย์ แห่ง Benchmark คือคนที่กดดัน คาลานิก มากที่สุด “ต้องเข้าใจก่อนว่า ทราวิส ควบคุมเสียงโหวตในบอร์ด มันจึงเป็นเรื่องยากมากๆ กว่าที่ กัวลีย์ และคนอื่นๆ จะทำสำเร็จ” ซึ่ง พรีแม็ค บอกว่าหลังจากนี้อนาคตของ Uber “ค่อนข้างจะสดใส” ทีเดียว
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา Uber เติบโตอย่างร้อนแรง เป็น Startup ที่ทำให้คำว่า Startup กลายเป็นของร้อนแห่งแวดวงธุรกิจ และสั่นสะเทือนธุรกิจโดยสารสาธารณะไปทั่วโลก
แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน Uber ก็ต้องเจอกับเรื่องฉาวๆ มากมาย หลายเรื่องทำลายภาพลักษณ์ของบริษัทไปไม่น้อย ทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานของ Uber โดยตรง อย่างการขโมยข้อมูล, โปรแกรมสอดแนม และบางครั้งก็เป็นประเด็นอื้อฉาวอย่างการล่วงละเมิด และเลือกปฏิบัติทางเพศ
ซึ่งหลายครั้งเป็นปัญหาจากผู้บริหารระดับสูง รวมถึงตัวของ ทราวิส คาลานิก เอง และนี่คือลิสต์เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดกับ Uber ตั้งแต่ต้นปี 2014 เป็นต้นมา ที่ทำให้ภาพของบริษัทต้องมัวหมอง และทำให้เส้นทางที่ร้อนแรงสุดๆ ของ ทราวิส คาลานิก ต้องลงเอยด้วยการดิ่งลงเหว
ก.พ. 2014 พูดตลกเหยียดเพศ
ทราวิส คาลานิก ไปให้สัมภาษณ์ และพูดคำเหยียดเพศออกมา แม้จะเป็นการพูดเล่น แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของข้อกล่าวหา “เหยียดเพศ และเลือกปฏิบัติ” ที่กลายเป็นภาพจำของ Uber ไปเลย จนถูกมองว่าเป็น “วัฒนธรรมองค์กร” มากกว่าจะเป็นแค่พฤติกรรมไม่เหมาะสมธรรมดาๆ มีการสำรวจพบว่าบริษัทไล่ผู้บริหารหญิงออกเป็นจำนวนมาก และเกิดกรณีที่ผู้บริหารชายมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับพนักงานหญิง
ส.ค. 2014 โจมตีคู่แข่ง
Uber โดนกล่าวหาว่าสร้างข้อมูลเท็จด้วยการปลอมคำสั่งจองคนขับรถของ Lyft เป็นพันๆ ครั้ง เพื่อตัดรายได้ และทำลายระบบการให้บริษัทของ Lyft ที่เป็นคู่แข่ง นอกจากนั้นส่วนจัดหาคนขับรถของ Uber ยังถูกกล่าวหาว่าสแปมข้อมูลเท็จไปยังคนขับรถของ Lyft เพื่อทำลายประสิทธิภาพของระบบ Lyft และหวังดึงคนขับรถเหล่านั้นให้มาอยู่กับ Uber แทน
พ.ย. 2014 เทคโนโลยี “ดวงตาพระเจ้า” God View
อีมิล ไมเคิล ผู้บริหารของ Uber ถูกกล่าวหาแอบขโมยข้อมูลส่วนตัวของนักข่าวหญิงที่ลงข่าววิจารณ์บริษัท และยังนำข้อมูลดังกล่าวไปเผยแพร่ แม้เขาจะขอโทษ แต่เรื่องนี้ก็ทำให้ Uber ถูกเปิดโปงว่ามีเทคโนโยลีที่เรียกว่า God View ที่ทำให้บริษัทสามารถติดตามตำแหน่งที่อยู่ของลูกค้าบริษัท จน Uber ต้องโดนข้อกล่าวหาละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นอีกครั้ง
ธ.ค. 2016 ส่อง “บียอนเซ”
การสอบสวนการทำงานของ Uber พบว่าบริษัทมักจะสอดแนมคนดังทั้ง ดารา, ผู้บริหารของบริษัทต่างๆ และนักการเมืองอยู่เสมอ รวมถึงศิลปินซูเปอร์สตาร์อย่าง บียอนเซ ด้วย
ธ.ค. 2016 ทดลองระบบ “ขับเอง” บนถนนจริงโดยไม่ได้รับอนุญาต
เจ้าหน้าที่ของแคลิฟอร์เนียสั่งให้ Uber ถอดระบบ “ขับเอง” จากรถทั้งหมด เพราะมีการนำระบบไปทดสอบบนถนนจริง โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยในวันแรกของการทดสอบมีรถยนต์ที่ฝ่าไฟแดง ส่วนที่ซานฟรานซิสโก รถก็ขับล้ำเข้าไปในเลนจักรยาน ขณะที่บริษัทโทษว่าเป็นปัญหาจาก “บุคคล” ไม่ใช่เทคโนโยลี แต่ New York Times ได้เปิดเผยข้อมูลที่ยืนยันว่าเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่มีปัญหาอย่างแน่นอน
ม.ค. 2017 โฆษณาเป็นเท็จ อ้างรายได้เกินจริง
Uber ต้องจ่าย 20 ล้านเหรียญฯ เพื่อยอมความคดีที่บริษัทถูกกล่าวหาว่าโฆษณา “เกินจริง” เรื่องรายได้ ซึ่งเป็นการชักจูงให้คนจำนวนมากมาสมัครเป็นคนขับรถของ Uber ขณะที่คณะกรรมการการค้าได้เปิดเผยว่าคนขับรถของ Uber ใน 18 เมืองใหญ่ มีรายได้ต่ำกว่าที่บริษัทอ้างในสื่อโฆษณาออนไลน์
ม.ค. 2017 แท็ค #DeleteUber ว่อนเน็ต
เกิดข้อกล่าวหาว่า Uber เป็นการเฉพาะกิจระหว่างคนจำนวนมากมาร่วมประท้วงประธานาธิบดี ทรัมป์ ที่นิวยอร์กเมื่อต้นปี 2017 จนคนไม่พอใจและคิดว่า Uber ฉวยโอกาส จึงเกิดกระแสแอนตี้ และแท็ค #DeleteUber ที่มีข่าวว่ามีคนถึง 5 แสนที่ลบแอ็คเคาน์ Uber ทิ้งจากเรื่องนี้
ก.พ. 2017 อยู่ฝ่าย “ทรัมป์”
คนจำนวนไม่น้อยไม่พอใจที่ เทรวิส คาลานิก ไปนั่งอยู่ในสภาที่ปรึกษาของ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จนมีการขู่ “แบน” Uber แม้ตัวของ คาลานิก จะบอกว่าการรับตำแหน่งดังกล่าว “ไม่ได้หมายความว่าผมสนับสนุนประธานาธิบดี หรือนโยบายของเขา น่าเศร้าที่เรื่องนี้ถูกตีความไปในทางนั้น” แต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว
ก.พ. 2017 ข้อกล่าวหาล่วงละเมิดทางเพศ
ซูซาน ฟาวเลอร์ อดีตวิศวกรของ Uber อ้างว่าบริษัทมีการปล่อยให้เกิดพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศ และเลือกปฏิบัติทางเพศมากมาย จนทำให้ Uber ลงทุนว่าจ้าง อีริก โฮลเดอร์ มาสืบสวนข้อกล่าวหาดังกล่าว เรื่องนี้ยังทำให้บริษัทด้าน IT ในซิลิคอนวัลเลย์แห่งอื่นโดนตั้งคำถามไปด้วย
ก.พ. 2017 คดีกับ Google
Waymo บริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ขับเองของ Alphabet (บริษัทแม่ของ Google) ได้ยื่นฟ้อง Uber ว่าขโมยเทคโนโลยีของบริษัท โดยทาง Waymo อ้างว่า แอนโทนี เลวานดาวสกี ที่เคยทำงานกับ Waymo ได้ขโมยข้อมูลลับของบริษัทไปให้ Uber ซึ่งเป็นที่ทำงานแห่งใหม่ของเขา สุดท้าย Uber ไล่ ลวานดาวสกี ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายพัฒนารถยนต์ขับเองของบริษัทออกทันที และคดีความนี้ก็ทำให้ความพยายามในการพัฒนารถยนต์ขับเองของ Uber ต้องสะดุดทันที
มี.ค. 2017 เลี่ยงการโดนจับด้วยเทคโนโลยี
Uber มีอุปกรณ์ที่เรียกว่า Greyball ที่ใข้สำหรับตรวจผู้ใช้บริการ เพื่อหลีกเลี่ยงลูกค้าที่ไม่พึงประสงค์ (เช่น เรียกแล้วปิดโปแกรมอะไรทำนองนั้น) แต่ในเวลาเดียวกัน Greyball กลับสามารถใช้หลีกเลี่ยงการถูกจับ หรือดำเนินคดีได้ด้วย เพราะ Greyball สามารถจำแนกได้ว่าผู้ที่เรียกใช้ Uber อาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่กำลังล่อซื้อ จากประเภทของอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือที่ใช้ เพราะเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่มักจะใช้มือถือราคาถูกบางยี่ห้อ
มี.ค. 2017 “คาลานิก” ว๊ากคนขับรถ Uber
คาลานิก ถูกจับภาพเอาไว้ได้ระหว่างพูดถกเถียงกับคนขับรถของ Uber ที่อีกฝ่ายออกปากบ่นเรื่องว่าชีวิตของเขาเริ่มมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อลูกค้าที่ Uber ป้อนให้เริ่มลดลง … “บางคนไม่ค่อยชอบรับผิดชอบปัญหาของตัวเอง … เวลาเกิดเรื่องอะไรขึ้น พวกนี้จะโทษคนอื่นตลอด โชคดีก็แล้วกัน” คาลานิก กล่าว และสุดท้ายต้องขอโทษในสิ่งที่ตัวเองพูดลงไป แต่ก็ยังอ้างว่าเขาแค่พยายามช่วยกระตุ้นอีกฝ่ายเท่านั้น
มี.ค. 2017 เที่ยวบาร์นั่งดริ้งก์ หิ้วสาวกลับที่พักที่กรุงโซล
เว็บไซต์ Information ปูดข่าวนี้ว่าผู้บริหารหลายคนรวมถึง คาลานิก ได้ไปเที่ยวบาร์นั่งดริ้งก์ และคาราโอเกะที่กรุงโซลเมื่อปี 2014 เป็นสถานที่เที่ยวซึ่งสาวๆ จะมาร้องเพลงกับลูกค้า สุดท้ายก็ควงกลับไปบ้าน ซึ่งทำให้พนักงานหญิงบางคนไม่พอใจ ถึงขั้นมีการร้องเรียนกันเลยทีเดียว
เม.ย. 2017 ขโมยข้อมูลคู่แข่ง
เว็บไซต์ข่าวได้เปิดเผยว่า Uber จะมีโปรแกรมพิเศษเรียกว่า Hell ที่สามารถเช็คข้อมูลของ Lyft ที่เป็นคู่แข่ง ว่ามีคนขับรถคนใดทำงานให้กับทั้งคู่ จนทำให้ Uber สามารถเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ขับรถ Lyft และยังสร้างบัญชีผู้ขับรถปลอมของ Lyft เพื่อหลอกระบบให้เชื่อว่าบัญชีผู้ขับรถที่ไม่มีตัวตนอยู่จริงได้เดินทางไปในที่ต่างๆ ด้วย
พ.ค. 2017 จ่ายเงินคนขับรถน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
Uber ได้ยอมที่จะจ่ายเงินให้กับคนขับรถหลายคน รวมเป็นเงินหลายล้านเหรียญสหรัฐ หลังยอมรับตรงๆ ว่าบริษัทจ่ายเงินใหบุคคลเหล่านี้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นในตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะทาง Uber ต้องจ่ายเงินให้กับคนขับรถยนต์ต่อคนสูงถึง 900 เหรียญฯ เลยทีเดียว
มิ.ย. 2017 ไล่พนักงานออกมากกว่า 20 คนจากข้อกล่าวหาล่วงละเมิดทางเพศ
Uber ยอมรับว่ามีการไล่พนักงานออกมากกว่า 20 คน หลังการสอบสวนกรณีล่วงละเมิดทางเพศในบริษัท
มิ.ย. 2017 ตั้งข้อสงสัยกับเหยื่อถูกพนักงาน Uber ข่มขืน
สื่อรายงานว่าผุ้บริหาของ Uber ได้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อที่ถูกคนขับรถของบริษัทข่มขืนในอินเดีย และแสดงออกว่าไม่ค่อยเชื่อถือข้อกล่าวหาที่เหยื่อพยายามอ้าง สุดท้ายเมื่อเรื่องนี้เป็นข่าว อีริค อเล็กซานเดอร์ ผู้บริหารระดับสูงของ Uber ได้ถูกไล่ออก ส่วนหญิงที่เป็นเหยื่อก็ฟ้องบริษัทที่มาละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของเธอ
มิ.ย. 2017 มุกตลก “เหยียดเพศ” (อีกแล้ว) จากบอร์ดของ Uber
เดวิด บอนเดอร์แมน ลาออกจากคณะกรรมการบริหารของ Uber หลังพูด “มุกตลก” ที่เข้าข่ายเป็นการเหยียดเพศว่าหากมีผู้หญิงในบอร์ดเพิ่มขึ้นอีก ก็คงมีการ “เม้าท์” กันมากขึ้น จนทำให้เขาต้องขอโทษ และลาออกทันที
ที่มา
- http://www.bbc.com/news/business-40351859
- https://www.theguardian.com/technology/2017/jun/18/uber-travis-kalanick-scandal-pr-disaster-timeline