ผ่าธุรกิจ ร้านราคาเดียว เกาะกระแสญี่ปุ่นดูแพงขายถูก ปูพรมสาขา ตลบหลังค้าปลีกซบออนไลน์

ขณะที่เจ้าตลาดค้าปลีกรายใหญ่ คิดหนักกับการลงทุนหน้าร้าน หรือ Physical Store ที่มีต้นทุนสูง ทั้งค่าเช่าที่ ตกแต่ง สต็อกสินค้า จ้างพนักงาน สวนทางกับยุคที่ค้าปลีกออนไลน์กำลังเฟื่องฟู และเลือกที่จะหันไปวางกลยุทธ์หาแนวทางเติบโตจากอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น แต่ร้านค้าประเภททุกอย่างราคาเดียว กลับคิดตรงกันข้าม ทั้งแบรนด์เก่าแบรนด์ใหม่ แบรนด์ไทยแบรนด์เทศ ลุยหาแฟรนไชส์ เร่งเปิดสาขา จนกลายเป็นร้านที่เข้าไปทดแทนพื้นที่ค้าปลีกในทุก ๆ ห้าง หรือแม้กระทั่งห้างสรรพสินค้าอย่างโรบินสัน ก็เลือกที่จะเล่นเกมนี้ด้วยตัวเอง ด้วยการเปิดร้านราคาเดียวของตัวเองออกมาเสียเลย

***จุดขายทุกอย่างราคาเดียวแค่สินค้าและราคาตอบโจทย์ไม่ครบ***

สิ่งที่เหมือนกันของร้านสินค้าราคาเดียวที่แข่งกันเปิดแพร่ไปทุกพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ไม่ใช่ชูจุดขายแค่ราคาเดียว ราคาถูก แต่มีสินค้าหลากหลายให้เลือกในระดับที่พอยอมรับได้สมกับราคาเท่านั้น แต่วันนี้ แม้แต่ร้าน 20 บาททุกอย่างก็ขึ้นห้างทำกำไรได้ ถ้ามีส่วนประกอบของร้านที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า และมีกลยุทธ์ที่ทำให้ลูกค้าหยิบสินค้ามากกว่าหนึ่ง โดยไม่ต้องกังวลเรื่องราคา เพราะเห็นคุณค่าที่สูงกว่าสินค้าที่จับต้องได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นสินค้าจำเป็นที่ตั้งใจมาซื้อ หรือสินค้าประเภท Impulse Buy ที่ไม่ได้วางแผนมาก่อนแต่เห็นแล้วถูกใจก็คว้าเลย

เรียกว่าด้วยคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนก็สามารถเปิดขยายร้านง่ายและขยายได้เร็ว โดยส่วนมากนิยมใช้ระบบแฟรนไชส์ให้กับกลุ่มคนที่สนใจอยากลงทุนมีธุรกิจของตัวเอง พร้อมกับแนวคิดง่าย ๆ ว่า ตราบใดที่คนยังเดินห้าง โอกาสค้าขายก็ยังมีอยู่ เพียงแต่จะทำให้อย่างไรให้คนเลือกหยิบและซื้อสินค้าได้เร็วและไม่ลังเล

****ใช้ความเป็นญี่ปุ่นชูคุณภาพ***

สิ่งแรกที่ทุกร้านของกลุ่มร้านขายสินค้าราคาเดียวที่มีอยู่ในปัจจุบันเลือกใช้นอกเหนือจากการใช้กลยุทธ์ราคาถูกราคาเดียว ก็คือ ดีไซน์ การตกแต่งร้าน รวมถึงสินค้า ที่ชูความเป็นญี่ปุ่น แต่จะเป็นญี่ปุ่นแถวย่านฮาราจูกุ กินซ่า โอซาก้า ชินจูกุ หรือแบบไหนก็แตกต่างกันไปในรายละเอียดที่แต่ละร้านจะเลือกใช้

ความเป็นญี่ปุ่นนี้ยังรวมไปถึงตัวสินค้า บรรจุภัณฑ์ ชุดพนักงาน สไตล์การให้บริการ และแน่นอน แม้กระทั่งชื่อร้าน ก็ล้วนแต่ตั้งชื่อที่ฟังดูแล้วเป็น ญี่ปุ๊นญี่ปุ่นแทบทุกร้านเช่นกัน

ตัวอย่างร้านทุกอย่างราคาเดียวที่มีอยู่ตอนนี้ และทั้งหมดล้วนเป็นและอยากดูเป็นแบรนด์ญี่ปุ่น เช่น

ร้านโตคูยะ

แฟรนไชส์ร้านค้าราคาเดียวที่ขายทุกอย่าง 60 บาท ร้านนี้มาจากญี่ปุ่นแท้ ๆ เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ของเซ็กเมนต์นี้ที่ทำธุรกิจร้านทุกอย่างราคา 100 เยนอยู่ในญี่ปุ่นและมีสาขาอีกในหลายประเทศทั่วโลก มีบริษัท โตคูยะ (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์รายแรกและรายเดียวในประเทศไทย สินค้าประมาณครึ่งหนึ่งของร้านผลิตที่ญี่ปุ่น ที่เหลือผลิตจากจีนและไต้หวัน เกือบ 100% ขายในราคา 60 บาทตามที่บอกไว้จริง ๆ มีเพียงแค่ 3% ที่เป็นสินค้าพรีเมียมเกรดซึ่งจะมีราคาตั้งแต่ 80-300 บาท

ภาพจาก : facebook.com/TokutokuyaThailand

จุดเด่นของร้านสำหรับนักลงทุนที่อยากมีกิจการร้านทุกอย่างราคาเดียว สามารถลงทุนได้ในวงเงิน 3 ล้านบาทสำหรับร้านขนาด 90 ตารางเมตรขึ้นไป โดยเป็นค่าแฟรนไชส์ประมาณ 3 แสนบาท ซึ่งแฟรนไชซีจะได้รับความช่วยเหลือในการเลือกทำเลพร้อมวิเคราะห์สินค้าที่จะจำหน่ายในร้าน ซึ่งโดยเฉลี่ยแต่ละร้านจะขายสินค้าได้ประมาณ 6,000-20,000 ชิ้นต่อเดือน มีกำไรอยู่ที่ 40% ขึ้นกับทำเล เฉลี่ยมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 3-5 ปี

ร้านเอโกะ

ชื่อญี่ปุ่นแบรนด์ไทย ขายทุกอย่าง 20 บาท ของบริษัท เอกดำรง มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เน้นขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์สำหรับคนที่มีทุนค่าแฟรนไชส์เริ่มต้น 3 แสนบาทขึ้นไป ไม่รวมค่าสินค้าภายในร้านตั้งแต่ 1.5-4.0 แสนบาท ซึ่งทางบรษัทจะจัดความเป็นญี่ปุ่นในร้านให้ตั้งแต่ป้ายหน้าร้าน ชั้นวางสินค้า การจัดเรียงและตกแต่งร้าน รวมไปถึงอุปกรณ์เสริมความเป็นญี่ปุ่นในส่วนสินค้าสมนาคุณ อาทิ ผ้ากันเปื้อนชื่อร้าน ธงขาวญี่ปุ่น โคมไฟญี่ปุ่น ธงปลาคาร์ฟ ถุงใส่ของ ตะกร้าชอปปิ้ง ฯลฯ

Bear Store

สินค้าสไตล์ญี่ปุ่นในราคา 20 บาท ตกแต่งร้านแนวญี่ปุ่นน่ารักทันสมัย และเน้นสินค้าที่ดูแพงกว่าราคา เป็นร้านที่มีเจ้าของเป็นคนไทย และทำการศึกษามาอย่างดีทำให้รู้ว่า ถ้าจะจับจุดลูกค้าไทยต้องเสนอสินค้าสไตล์ญี่ปุ่น และถึงจะราคาถูกแต่ก็ต้องนำเสนอสินค้าที่เป็นเทรนด์ เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะต้องหาโรงงานผลิตได้ต้นทุนต่ำเพื่อให้ได้คุณภาพที่ดูเกินราคา 20 บาท พร้อมกับมีทีมตลาดประจำที่ญี่ปุ่นเพื่อคอยตามเทรนด์สินค้าในแต่ละฤดูกาล และเน้นสินค้าหลากหลาย ทำให้ลูกค้ามาแล้วจะต้องหยิบสินค้าติดมือไปมากกว่าที่ตั้งใจมาซื้อ

ภาพจาก : facebook/BearStore
ภาพจาก : facebook/BearStore

และถึงจะเป็นแบรนด์ไทยก็ใส่ใจความเป็นญี่ปุ่นถึงขนาดสั่งยูนิฟอร์มจากฮาราจูกุ ให้พนักงานใส่เพิ่มบรรยากาศความเป็นญี่ปุ่น เอาจริงขนาดนี้แบร์สโตร์กะว่าจะขยายให้ครบ 30 สาขาภายใน 3-5 ปี ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเลือกเปิดเฉพาะร้านที่อยู่ห้างหรือซูเปอร์สโตร์เท่านั้น

Moshi Moshi

อีกแบรนด์จากญี่ปุ่น ที่เพิ่งครบรอบ 1 ปี นอกจากชื่อการจัดร้านก็ฟรุ้งฟริ้งมุ้งมิ้งแบบญี่ปุ่น ร้านนี้ถึงจะมาจากญี่ปุ่นแท้ แต่ก็ดึงดูดด้วยราคาเริ่มต้นที่ 20 บาทเช่นกัน แต่ของส่วนใหญ่ในร้านราคาพรีเมียมกว่าราคาโปรโมต แน่นอนลูกค้ารับได้ด้วยลุคแอนด์ฟิลที่เชื่อว่าราคาสูงกว่า 20 บาท แล้วก็มีแผนเตรียมขยายสาขาร้านเพิ่มเช่นเดียวกัน แต่อาจจะไปแบบเนิบ ๆ กว่ารายอื่นเล็กน้อยด้วยเป้าการเพิ่มเพียงแค่ 3 สาขาในปีนี้

ภาพจาก : facebook/moshimoshi

Miniso

แบรนด์นี้ชื่อไม่ชัดว่าเป็นญี่ปุ่นจ้า แต่ลุคแอนด์ฟีลไม่ผิดเพี้ยน แถมด้วยแท็กไลน์ใต้ชื่อร้านที่ติดไว้ในร้านว่า เป็น Japanese Designer Product ชัดเจน แม้จะมีผู้ร่วมก่อตั้งเป็นชาวจีนและมีแหล่งผลิตสินค้าในจีนเป็นหลัก ราคาเริ่มต้นแพงกว่าทุกแบรนด์รวมถึงต้นตำรับ เพราะโฆษณาหน้าร้านด้วยป้ายราคา 69 บาท ซึ่งราคาสินค้าต่ำสุดจะมีอยู่ไม่ถึงครึ่งเพียง 30-40% เท่านั้น ส่วนที่เหลือจะเป็นสินค้าที่เกรดพรีเมียมขึ้นไปที่มีราคาสูงกว่าไล่ไปตั้งแต่ 99, 139 จนถึง 199 บาท

Miniso ถือว่ามาแรงที่สุดด้วยเป้าหมายที่จะขยายร้านให้ได้ถึง 100 สาขาภายใน 2 ปี (2016-2017) นั่นเท่ากับการไล่จี้ต้นตำรับร้านราคาเดียวอย่าง Daiso ที่ตอนนี้มีอยู่ 100 กว่าสาขามาติด ๆ โดยตอนนี้มีจำนวนสาขามากกว่า 50 สาขา คาดว่าเป้าหมายการขยายสาขาของบริษัทน่าจะประเมินจากจำนวนห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์เซ็นเตอร์ ที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย เพราะแม้โดยกลยุทธ์ของ Miniso ในประเทศต่าง ๆ กว่า 60 ประเทศ โดยเฉพาะในจีนที่มีอยู่กว่า 1,000 สาขาจากจำนวนสาขาของมินิโซทั่วโลกตอนนี้ที่มีอยู่ประมาณ 1,400 สาขา จะเลือกทำเลถนนชอปปิ้งสายสำคัญเป็นทำเลหลักในการเปิดร้าน แต่สำหรับเมืองไทย Miniso เลือกเปิดเฉพาะในห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์เซ็นเตอร์ที่ผู้บริโภคไทยนิยมไปชอปปิ้งเท่านั้น เหมือน ๆ กับแบรนด์อื่น

ภาพจาก : facebook.com/minisothai/

เพนกวิน

รายนี้ชื่อไม่ชัดว่าเป็นญี่ปุ่น กลยุทธ์เรื่องราคาแรงที่สุดด้วยราคาเริ่มต้น 12 บาท ถูกกว่าร้านทุกอย่าง 20 บาท ที่เปิดขายในตลาดนัดเสียอีก แต่คุมโทนเป็นญี่ปุ่นด้วยคาแร็เตอร์การ์ตูนรูปเพนกวินที่เห็นชัดว่าเป็นแบบญี่ปุ่นมากกว่าจะเลือกใช้ลายเส้นการ์ตูนแบบตะวันตก ด้วยโพสิชันนิ่งแบบนี้ ร้านเพนกวินก็จะเน้นเปิดอยู่แถวห้างชานเมืองอย่างเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด ถ้าขยับเข้าเมืองก็จะเลือกเปิดร้านในไฮเปอร์มาร์เก็ต เช่นที่เทสโก้ โลตัส พระราม4

ภาพจาก : facebook.com/penguin12shop

นอกจากตัวอย่างที่ยกมานี้ ร้านต้นแบบที่ทำให้ทุกคนรู้จักร้านราคาเดียวสไตล์ญี่ปุ่นในไทยอย่าง ไดโซะ (Daiso) ก็ยังอยู่แต่หันไปมุ่งออนไลน์หนักขึ้น และแบรนด์อื่นอีก เช่น Komonoya (โคโมโนยะ) Just Buy (จัสท์บายจากโรบินสัน) Arcova (อาร์โควา) Can Do (แคนดู) ฯลฯ

***ออนไลน์ปัจจัยทำให้ร้านราคาเดียวแพร่พันธุ์เป็นดอกเห็ด***

ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมค้าปลีกไทย ให้ข้อสังเกตถึงปัจจัยที่ทำให้ร้านทุกอย่างราคาเดียวซึ่งจัดอยู่ในร้านสเปเชียลตี้สโตร์ ได้เกิดขึ้นมากมายต่อเนื่อง และขยายตัวเร็วกว่าการเข้ามาของร้านค้าปลีกกลุ่มสเปเชียลตี้สโตร์ ประเภทที่มีสินค้าประเภทเครื่องสำอางหรือเวชสำอางเป็นตัวนำ ที่เคยมาแรงในช่วง 1-2 ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าโลกออนไลน์ ซึ่งทุกคนมองว่าจะทำให้ร้านค้าปลีกขาดลูกค้า จะกลายเป็นตัวผลักดันให้เกิดกระแสการเกิดขึ้นของร้านค้าประเภทนี้โดยตรง

เนื่องจากผู้บริโภครับรู้ข้อมูลข่าวสารได้เร็วจากการอยู่ในโลกดิจิทัล ทำให้เห็นโลกกว้าง รับข้อมูลข่าวสารไว ซึ่งมีผลกระทบต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคโดยตรง และส่งผลให้เทรนด์ต่าง ๆ ทั้งสินค้าใหม่ ไม่เฉพาะเรื่องของแฟชั่น มาไวไปไวด้วยเช่นกัน

ส่งผลให้พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็ว จนนักการตลาดบ่นไปตาม ๆ กันว่า ยุคนี้ต้องตามพฤติกรรมผู้บริโภคให้ทัน และที่สำคัญคือทัศนคติที่มีผลโดยตรงต่อร้านค้าประเภททุกอย่างราคาเดียว ที่ผู้บริโภคจำนวนมากหันมาซื้อสินค้าราคาประหยัด ตัดสินใจซื้อง่าย และไม่เสียดายที่จะต้องซื้อหรือเปลี่ยนใหม่อย่างรวดเร็วตามเทรนด์ที่เปลี่ยนไป

***ถึงทุกอย่างราคาเดียว แต่สินค้าต้องหลากหลาย ****

อย่างไรก็ตาม การที่ลูกค้าซื้อสินค้าง่ายขึ้นในราคาที่ถูกลง แต่ก็ไม่ได้หมายความร้านสินค้าราคาเดียวจะอยู่ได้ด้วยการนำเสนอสินค้าเพียงไม่กี่ชนิด ซึ่งแต่ละร้านเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคในจุดนี้ดี และจัดแบ่งหมวดหมู่พร้อมจำนวนสินค้าจำนวนมากไว้ให้ลูกค้าเลือกอย่างจุใจในพื้นที่จำกัด เรียกว่าการบริหารร้านสินค้าราคาเดียวทุกอย่างต้องกระชับและชัดเจน เพื่อทำให้สินค้าขายได้ไวและหมุนเวียนสินค้าเข้ามาใหม่ในลักษณะของ Very Fast Moving Product เลยทีเดียว

แต่ละร้านแม้จะมีพื้นที่ร้านตั้งแต่ 90 ตารางเมตร ไปจนถึงแฟลกชิปสโตร์ขนาด 300 ตารางเมตร แต่ขนาดพื้นที่ร้านที่นิยมส่วนใหญ่จะอยู่แค่ 100 ตารางเมตรบวกลบ จึงอัดแน่นเป็นด้วยการจัดเรียงสินค้าตั้งแต่ใกล้ ๆ 1,000 ไปจนถึง 5,000 ไอเท็ม แน่นอนว่าสินค้าต้องจัดเรียงให้ดูง่าย หยิบสะดวก และยังสวยงามด้วย ตั้งแต่ตัวสินค้า แพ็กเกจจิ้ง ไปจนถึงการจัดเรียงในแบบญี่ปุ่น

****สินค้าส่วนใหญ่จับกลุ่มวัยรุ่น-วัยเริ่มทำงาน***

เมื่อร้านราคาเดียวส่วนใหญ่ชูความเป็นญี่ปุ่น เน้นให้ดูมีคุณภาพเหนือราคา พัฒนาสินค้าตามเทรนด์ ทำให้ตีโจทย์ได้ไม่ยากเลยว่า แทบทุกร้านเล็งกลุ่มเป้าหมายไปที่กลุ่มวัยรุ่นถึงวัยเริ่มทำงานเป็นหลัก เพราะสินค้าส่วนใหญ่เป็นทั้งของที่คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องใช้ไปจนถึงซื้อด้วยอารมณ์ความรู้สึกทันทีที่ถูกใจแบบ Impulse Buy ซึ่งเป็นสูตรของส่วนผสมหลักของสินค้าในร้านเหล่านี้

จนแม้กระทั่ง Daiso เจ้าตลาดซึ่งเคยเด่นเรื่องสินค้าในกลุ่มของใช้ในครัวที่มุ่งเจาะกลุ่มแม่บ้าน ก็ยังต้องปรับตัวมาเพิ่มไอเท็มสำหรับกลุ่มวัยรุ่นและวัยเริ่มทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะในหมวดสกินแคร์และเครื่องสำอาง รวมทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งเป็นสินค้าไฮไลต์จากญี่ปุ่นเข้ามาเพิ่มเติม

Miniso เองที่ไล่บี้ Daiso มาติด ๆ ทั้งจำนวนสาขา และความเป็นญี่ปุ่น ที่เลือกดีไซน์เป็นแบรนด์น้อง ๆ MUJI ด้วยสไตล์การออกแบบร้านก็มีสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว และอุปกรณ์ไฟฟ้าเสริมความงาม เช่น เครื่องนวดหน้า ที่ได้รับกระแสตอบรับดีเช่นกัน

สินค้าของร้านทุกอย่างราคาเดียวแต่ละร้าน จะมีครบแทบทุกหมวดในลักษณะครอบจักรวาลกันเลยทีเดียว ตั้งแต่หมวดสินค้าไอเดีย ใช้ในครัว ของใช้ในบ้านทั่วไป เครื่องเขียน กิ๊ฟต์ชอป ของใช้ในห้องน้ำ ของใช้สำหรับสตรี ภาชนะ ของตกแต่ง ของกินเล่น ไปจนถึงอุปกรณ์ไอที หรืออุปกรณ์สำหรับใช้งานที่ผู้บริโภคคิดไม่ถึงหรือไม่เคยใช้มาก่อน ให้ทดลองนำไปซื้อใช้ในราคาไม่แพงตามคอนเซ็ปต์ร้าน

หากจะให้สรุปหัวใจที่ทำให้ร้านทุกอย่างราคาเดียวเติบโตขยายได้รวดเร็ว สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การที่ร้านค้าเหล่านี้เฝ้าติดตามเทรนด์สินค้า ติดตามพฤติกรรมผู้บริโภค แล้วนำสองสิ่งนี้มาเจอกันภายใต้ผลิตภัณฑ์ราคาถูก ซึ่งของใช้จำเป็นผู้บริโภคซื้อซ้ำเมื่อใช้หมด หรือกรณีสินค้าหมดอายุการใช้งานก็เกิดการซื้อซ้ำโดยไม่เสียดายหรือคาดหวังว่าจะต้องใช้ได้นาน ขณะที่สินค้าที่ตอบเรื่องเทรนด์และไลฟ์สไตล์ก็พร้อมจะตอบรับได้ง่ายด้วยราคาที่ไม่แพง ไม่ตกยุค รวมถึงอาจเป็นการชอปปิ้งบำบัดไปด้วยในตัวสำหรับนักชอปประเภท Shopaholic ที่ต้องซื้อสินค้าตลอดเวลา.