รถยนต์เกียร์ฝืด อืดทุกค่าย

“อาจแรงอย่างต่อเนื่องและไม่รู้ว่าจะอ่อนแรงเมื่อไหร่ จะปีหรือสองปี” เป็นคำตอบที่ได้รับจากผู้บริหารค่ายรถยนต์ ใหญ่ในบ้านเรา กับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์อเมริกาแล้วเริ่มลุกลามไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทย แม้จะชื่อว่าเป็นดีทรอยต์ ออฟ เอเชีย แต่ก็ได้รับผลกระทบต่อเนื่องไปด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ออกมาคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของรถยนต์ในปีหน้าจะชะลอตัว 10-20%

ทำให้ค่ายรถยนต์สัญชาติอเมริกัน หรือค่ายรถยนต์จากแดนอาทิตย์อุทัย ที่ลงหลักปักฐานในประเทศไทยด้วยมูลค่าการลงทุนมหาศาล ตอนนี้ต้องเร่งปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์ ทำให้ผู้บริหารหลายๆ ค่ายบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “เหนื่อยแน่” และยอดขายรถยนต์รวมอาจจะตกลงมาอยู่ที่ 630,000 คัน จากที่ตั้งเป้าไว้ตอนต้นปี 650,000 คัน

ฟอร์ด-เร่งระบายสต๊อก หวังกำเงินสด

ตัวเลขยอดขาย 9 เดือนแรกที่ผ่านมาบวกกับตลาดส่งออกที่ชะลอตัว เป็นสัญญาณที่ส่ง ให้กับ “สาโรช เกียรติเฟื่องฟู” รองประธานอาวุโส ฟอร์ด ประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดในประเทศไทย ที่ต้องรีบปรับตัวทำงานอย่างหนัก เร่งระบายสต๊อกเพื่อกำเงินสดในมือให้มากที่สุดและต้องวางแผนการผลิตให้สอดรับการสถานการณ์

“สิ่งที่ฟอร์ดทำตอนนี้นี้คือ Control Stock ของบริษัทให้น้อยลงที่สุด พร้อมกับควบคุมสต๊อกของตัวแทนจำหน่ายให้น้อยลง เช่น ฟอร์ด โฟกัส รุ่นเก่าต้องรีบระบายที่เหลือ 100-200 คัน โดยการจัดเคมเปญ ดอกเบี้ย 0% นาน 48% และแถมฟรีประกันภัยชั้นหนึ่ง” สาโรช เชื่อว่าจะถึงสิ้นปีจะหมดเกลี้ยงพอดี สถานการณ์ตอนนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการซื้อรถของคนที่มีเงินเย็น

ส่วนในเรื่องการลดค่าใช้จ่าย ฟอร์ดได้ Lay off พนักงานในส่วนของสำนักงานออกไปบางส่วนเมื่อกลางปีที่ผ่านมา รวมถึงการที่ต้องตัดงบในการโฆษณาและทำการตลาดลง เพราะมองว่าการใช้เงินมากในช่วงนี้ไม่สามารถกระตุ้นยอดขายได้ เพราะ “แม้แคมเปญจะแรงแค่ไหน ถ้าลูกค้าเครดิตไม่ดี ไฟแนนซ์ไม่ปล่อย”

นอกเหนือจากนั้นเร่งประสานงานกับไฟแนนซ์เพื่อโปรแกรมเช่าซื้อรถยนต์ให้กับลูกค้าสะดวกขึ้น เนื่องจากปัจจุบันสถาบันการเงินเริ่มเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์มากขึ้น เพราะทิศทางของอุตสาหกรรมนี้ยังเป็น “สีเทา” อึมครึมอยู่

เนื่องจากไฟแนนซ์เป็นตัวกำหนดทิศทางการขายรถยนต์ในอนาคต เพราะ 90% ของการขายรถยนต์มาจากการปล่อยสินเชื่อ เมื่อสถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อรถยนต์มากขึ้น เพราะกลัวหนี้เสีย จึงทำให้ยอดขายลดลง

ฟอร์ด จึงมีการจัดสินเชื่อโดย ฟอร์ด ลิสซิ่ง มีสัดส่วน 25% ของยอดขายทั้งหมด ทำให้ฟอร์ดต้องเจรจากับสถาบันการเงินให้มากขึ้นไม่ว่าการแลกเปลี่ยนข้อมูล ระวังการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงมีการจัดแคมเปญที่สมเหตุสมผล เพื่อป้องกันหนี้เสีย และการตามยึดรถ ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ตามมา

อัดขายตรงในตลาดภูธร

ด้วยเหตุผลที่ว่า 75% ของยอดขายรวมของฟอร์ด คือรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ หรือฟอร์ด เรนเจอร์ ที่อยู่ต่างจังหวัดเป็นหลัก ทำให้สาโรชเตรียมวางแผนการจัดกิจกรรมการตลาดแบบสายตรง ต่อไปถึงลูกค้า ปีหน้าเน้นอีเวนต์ในต่างจังหวัดเป็นหลัก เหมือนอย่างที่เคยทำมา เช่น การทำแคมเปญตรงสำหรับอาชีพพิเศษ อาทิ สมาคมชาวไร่อ้อย มีการจัดไฟแนนซ์เป็นปี หนึ่งปีจ่ายครั้งเดียว ผ่อนสี่ปีจ่ายสี่ครั้ง เป็นต้น และแผนการตลาดปีหน้าของฟอร์ดมีเป้าหมายอยู่ที่กลุ่มเกษตรกรที่มีรายได้จากธุรกิจการเกษตร แต่สาโรชบอกว่า “ถ้าราคาพืชผลเกษตรตกลง ก็ต้องรอดูอีกที” และจะเห็นแคมเปญลักษณะแบบนี้จากค่ายรถยนต์รายอื่นในปีหน้ามากยิ่งขึ้น

ฮอนด้า- ยังยิ้มได้

ถึงแม้ว่าผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นกำลังหวาดหวั่นกับผลกระทบด้านการส่งออกรถยนต์ และยอดขายที่หดตัว แต่ฮอนด้ายังยิ้มได้ เนื่องจากตัวเลขยอดขาย 9 เดือนที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว “ฮอนด้า” ถือว่าเป็นค่ายรถยนต์ที่มีการเติบโตสูงสุดถึง 32.56% ตามด้วยเชฟโรเลต 16.16% ส่วนค่ายยักษ์ใหญ่ โตโยต้า อีซูซุ พากันติดลบ 1.87% และ 1.61% ตามลำดับ

ทำให้ฮอนด้ายังไม่ได้ “วิตก” มากนัก และเชื่อว่าสามารถรับมือได้ เนื่องจากมีประสบการณ์จากวิกฤตเมื่อปี 2540 มาแล้ว ส่วนแผนการลงทุนนั้นยังเดินหน้าต่อไปไม่มีการชะลอ เนื่องจากเป็นการลงทุนระยะยาว โดยใช้เงินลงทุน 6,200 ล้านบาท จะทำให้มีกำลังผลิตปีละ 120,000 คัน ซึ่งเมื่อรวมกับโรงงานแห่งแรกแล้ว จะทำให้ฮอนด้ามีกำลังผลิตรถยนต์รวมทั้งสิ้นปีละ 240,000 คัน

“ฮอนด้าส่งออกรถยนต์ 30 กว่าประเทศทั่วโลก และสหรัฐฯไม่ใช่ตลาดส่งออกหลัก เราส่งออกไปออสเตรเลียเป็นตลาดหลัก ซึ่งมีมากกว่า 20% ของการส่งออกทั้งหมดของฮอนด้า จึงทำให้ไม่มีผลกระทบมากนัก และคาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกปี 2551 จะใกล้เคียงกับปี 2550 อยู่ที่ 6,400 ล้านบาท “อดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท เอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด บอก

โตโยต้า
ลดการสั่งซื้อวัตถุดิบเฉลี่ย 20-25% ตั้งแต่พฤศจิกายน 2551 – เมษายน 2552
ลดเวลาการทำงานของพนักงานในโรงงาน

ฟอร์ด
ลดพนักงานในส่วนของสำนักงานออกเมื่อกลางปี
ควบคุมสต๊อกที่เหลืออยู่ให้หมดก่อนสิ้นปี
ลดงบโฆษณาและประชาสัมพันธ์
เพิ่มการจัดอีเวนต์ต่างจังหวัด เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้จากธุรกิจเกษตรกรรม
ยอดขายรวม 800 คันต่อเดือน

อีซูซุ
หาตลาดส่งออกใหม่ ทั้งออสเตรีย และยุโรปตะวันออก เพื่อกระจายความเสี่ยง
ตั้งเป้ายอดขายปี 2551 อยู่ที่ 150,000 คัน
ลดฐานการผลิต พฤศจิกายน 2551 คาดจะผลิตที่ 11,295 ปรับลดครั้งที่ 2 11,130 คัน และครั้งที่ 3 เหลือแค่ 10,995 คัน ลดจากครั้งแรก 2.56%

ฮอนด้า
ตั้งเป้ายอดขายปี 2551 อยู่ที่ 85,000 คัน
ยอดขายตั้งแต่ มกราคม- ตุลาคม 72,145 คัน
ได้รับผลกระทบจากตลาดออสเตรีย 20%

จีเอ็ม
ลดฐานกำลังการผลิตโดยมีนัยสำคัญ คือ ครั้งแรก พฤศจิกายน 2551 คาดจะผลิตที่ 8,065 คัน ปรับลดครั้งที่ 2 เหลือ 7,218 คัน และครั้งที่ 3 เหลือแค่ 6,350 คัน ลดจากครั้งแรกถึง 25.80%