ต่อไปนี้เราอาจไม่สามารถแชร์ภาพถ่ายโปรไฟล์ของผู้อื่นกันบนเฟซบุ๊ก (Facebook) ได้ง่าย ๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะล่าสุด เฟซบุ๊ก ประเทศอินเดีย ได้เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ อนุญาตให้ผู้ใช้งาน ควบคุมดูแลการเข้าถึงรูปภาพส่วนตัวของตนเองจากผู้ใช้งานรายอื่น ๆ ได้แล้ว
สังคมดรามาที่นิยมการแคปหน้าจอโปรไฟล์ผู้อื่นบนเฟซบุ๊กมาเผยแพร่ อาจถึงคราวต้องหามุกใหม่ เมื่อเฟซบุ๊ก อินเดีย พัฒนาเทคโนโลยี “โฟโต้ การ์ด” (Photo Guard) สำหรับปกป้องภาพถ่ายโปรไฟล์ของผู้ใช้งานออกมาแล้ว โดยใครก็ตามที่เปิดใช้งานฟีเจอร์นี้จะปรากฏกรอบสีฟ้าครอบภาพโปรไฟล์ และมีโลโก้ของ Photo Guard ปรากฏขึ้นว่า ภาพนี้ได้รับการปกป้อง
โดยฟีเจอร์ดังกล่าวเหมาะสำหรับผู้หญิง หรือใครก็ตามที่ไม่ต้องการให้ภาพของตนเองถูกแคปหน้าจอไปได้โดยง่าย
นอกจากนั้น ระบบ Photo Guard ยังสามารถป้องกันภาพโปรไฟล์จากการกระทำอื่น ๆ ได้อีกมาก เช่น
- ป้องกันไม่ให้ยูสเซอร์รายอื่นดาวน์โหลดภาพโปรไฟล์ หรือแชร์ภาพโปรไฟล์กับผู้อื่น
- ป้องกันการแทกภาพโปรไฟล์ส่วนตัวกับผู้ใช้งานรายอื่น
- ป้องกันภาพถ่ายโปรไฟล์จากการถูกแคปหน้าจอ (ในช่วงเริ่มต้นเปิดให้บริการเฉพาะเฟซบุ๊ก เวอร์ชันแอนดรอยด์เท่านั้น เนื่องจากในอินเดีย การใช้งานแอนดรอยด์นั้น สูงกว่า iOS อย่างมาก)
โดยเฟซบุ๊ก อธิบายถึงความจำเป็นของฟีเจอร์นี้ในบลอกว่า มาจากการที่ผู้หญิงบางคนเลือกที่จะไม่แชร์ภาพโปรไฟล์ส่วนตัวที่ปรากฏใบหน้าออกสู่โลกสาธารณะ เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัยว่า ภาพถ่ายของตนเองจะถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมจากผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตรายอื่น ๆ
ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก ระบุว่า การพัฒนาโฟโต้การ์ด อาจพอช่วยได้ และในช่วงเริ่มต้นการทดสอบ ระบบยังพบว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้งานมีแนวโน้มจะลดการกอปปีภาพถ่ายโปรไฟล์ลง หากพบว่า ผู้ใช้งานรายนั้น เปิดฟีเจอร์โฟโต้การ์ดเอาไว้
ที่สำคัญหากเป็นผลดี เฟซบุ๊กก็มีแผนจะเปิดตัวฟีเจอร์นี้ในอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกด้วย
ที่มา : http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000064019