“ทากาตะ” ยื่นล้มละลายแล้ว หลังเจอหนี้สินอ่วมจากปัญหา “ถุงลมนิรภัยระเบิด”

เอเอฟพี – บริษัทผลิตถุงลมนิรภัย “ทากาตะ” ยื่นขอความคุ้มครองล้มละลายจากศาลญี่ปุ่นแล้วในวันนี้ (26 มิ.ย.) หลังถูกฟ้องร้องและเรียกค่าปรับเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์จากปัญหาถุงลมนิรภัยระเบิด ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 16 ราย และนำไปสู่การเรียกคืนรถยนต์จำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ยานยนต์โลก 

ทั้งนี้ ทากาตะ อาจต้องรับผิดชอบมูลค่าความเสียหายสูงกว่า 1 ล้านล้านเยน แต่ไม่มีการยืนยัน

คีย์ เซฟตี ซิสเต็มส์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในอเมริกาซึ่งเป็นบริษัทในเครือ นิงโบ จอยสัน อิเล็กทรอนิก คอร์ป (Ningbo Joyson Electronic Corp) ของจีน เตรียมเข้าซื้อกิจการและทรัพย์สินของ ทากาตะ ด้วยวงเงินประมาณ 1,588 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวได้ระงับการซื้อขายหุ้นทากาตะเช้าวันนี้ (26) พร้อมประกาศจะเพิกถอน (delist) ออกจากสภาพการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในวันที่ 27 ก.ค.

“ในการประชุมบอร์ดบริหารวันที่ 26 มิ.ย. บริษัทของเราได้ตัดสินใจเริ่มต้นกระบวนการยื่นขอศาลพิทักษ์ทรัพย์จากการล้มละลาย” ทากาตะ แถลงหลังจากที่มีการยื่นคำร้องต่อศาลแขวงกรุงโตเกียว และศาลได้อนุมัติรับคำร้องแล้ว

บริษัทลูกของทากาตะ 12 แห่งในต่างประเทศก็ได้ยื่นขอล้มละลายเช่นกัน

เจสัน ลัว ประธานและซีอีโอของ คีย์ เซฟตี ซิสเต็มส์ แสดงความเชื่อมั่นในแผนฟื้นฟูกิจการของทากาตะ

แม้ ทากาตะ จะได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนถุงลมนิรภัย แต่บริษัทยังคงมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งด้วยแรงงานฝีมือ การเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในทางภูมิศาสตร์ (geographic reach) รวมไปถึงธุรกิจด้านพวงมาลัย เข็มขัดนิรภัย และผลิตภัณฑ์ด้านความปลอดภัยอื่นๆ

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (23) ราคาหุ้นทากาตะขยับขึ้นกว่า 40 เปอร์เซ็นต์หลังจากที่ตกต่ำมาตลอดทั้งสัปดาห์ ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนระยะสั้นหวังเก็งกำไรจากส่วนต่างของราคาหุ้นที่ผันผวน

ความบกพร่องของถุงลมนิรภัยทากาตะส่งผลให้ต้องมีการเรียกคืนรถยนต์เกือบ 100 ล้านคันทั่วโลก รวมถึง 70 ล้านคันในสหรัฐฯ ซึ่งปัญหาที่ว่านี้เกิดจากสารเคมีขับเคลื่อนซึ่งทำให้ถุงลมนิรภัยกางออกอย่างรุนแรงเกินไป ส่งผลกระบอกสูบโลหะแตก และพ่นเศษโลหะมีคมปลิวกระจายออกมาใส่ร่างผู้ขับขี่และผู้โดยสาร

แม้ขณะนี้จะยังไม่สามารถสรุปต้นตอความบกพร่องของถุงลมนิรภัยทากาตะได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ สารแอมโมเนียมไนเตรตที่ทำปฏิกิริยากับความชื้นจนอานุภาพการระเบิดรุนแรงขึ้น, สภาพอากาศที่เลวร้าย เช่น ความร้อนและความชื้นสูง และความผิดพลาดในการออกแบบ


ที่มา : http://astv.mobi/AmoWxAc