กลายเป็นประเด็นร้อนในวงการโฆษณา เมื่อสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ได้ขอแยกตัวบินเดี่ยวมาจัดตั้ง “ชมรมตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ (ประเทศไทย)” เพื่อตรวจพิจารณา “โฆษณาโทรทัศน์” เอง มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป
ถือเป็นการประกาศแยกทาง “คณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์” โดยไม่มีการแจ้งให้สมาคมฯ ซึ่งเป็นผู้ประสานงานได้รับทราบแต่อย่างใด
จุดเริ่มต้นของ “กองเซ็นเซอร์” โฆษณาในประเทศไทย เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2518 โดยคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ หรือ กบว. เพื่อตรวจพิจารณาเนื้อหาของรายการประเภทต่างๆ เช่น รายการทั่วไป ละคร ภาพยนตร์ และโฆษณา
ต่อมาในปี 2537 เมื่อ กบว. ถูกยกเลิก ในส่วนของ “โฆษณา” สถานีโทรทัศน์ ช่อง 3, 5, 7 และ 9 ร่วมกับตัวแทนจากสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย รวมตัวกันจัดตั้ง “คณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์” ขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณาตรวจพิจารณาโฆษณาทั้งหมดร่วมกัน
คณะกรรมการ ประกอบไปด้วย สถานีโทรทัศน์ช่อง 3, 5, 7, 9 ตัวแทนจากสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ 2 ช่อง และตัวแทนจากสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย
กระบวนการทำงานของการเซ็นเซอร์จะมีตารางการเซ็นเซอร์ที่ผลัดเปลี่ยนสถานที่กันไปตามแต่ละสถานี เช่น วันจันทร์ไปช่อง 3 วันอังคารไปช่อง 5 วันพุธไปช่อง 7 วันพฤหัสบดีไปช่อง 9 ส่วนวันศุกร์จะผลัดเปลี่ยนกันใน 4 ช่อง มีการเปิดโฆษณาแล้วคณะกรรมการฯ ก็ร่วมกันประเมินด้วยดุลยพินิจว่าจะให้ผ่านหรือไม่ผ่าน
จากนั้นในปี 2557 เมื่อวงการโทรทัศน์มีการเปลี่ยนแปลง มีทีวีดิจิทัลเข้ามา จำนวนโฆษณาจึงเพิ่มมากขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 9,000-18,000 ชิ้น จึงต้องหาแนวทางปรับปรุงกระบวนการในการเซ็นเซอร์โฆษณาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงได้ร่วมลงนามความเข้าใจร่วมกัน (MOU) จัดตั้ง “คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านการตรวจพิจารณาโฆษณาทางโทรทัศน์” โดยมีผู้แทนจากทีวีช่องหลัก 10 องค์กร คือ ทีวีช่องหลัก ช่อง 3, 5, 7, 9 และผู้แทนจากทีวีดิจิทัลที่แต่งตั้งโดยสมาคมโทรทัศน์ดิจิทัล 2 ช่อง, ผู้แทนจากทีวีดิจิทัลที่แต่งตั้งโดยสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ 2 ช่อง และผู้แทนจากสมาคมโฆษณาฯ รวม 9 คน
ในส่วนของ ทีวีดิจิทัล 2 รายเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการฯ นั้น ในช่วงแรก ยังเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ เพราะถือว่ายังเป็นมือใหม่อยู่ ต้องผ่านการฝึกอบรมจากทางสมาคมก่อนถึงจะได้รับการรองรับเป็นคณะกรรมการได้
“แต่ปัญหาคือที่ผ่านมา ช่อง 5 กับช่อง 7 ไม่ยอมเข้าร่วมประชุมหลังจากประชุมครั้งที่ 2 แต่กลับได้มีการตั้งชมรมฯ ดังกล่าวโดยไม่เชิญช่องอื่นและสมาคมฯ ทั้งหลายร่วม เราสอบถามช่อง 7 แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ จึงใม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะตลอดเวลา 23 ปีที่ผ่านมาซึ่งเราตรวจสอบกันเองโดยไม่มี กบว. ก็ไม่มีปัญหา” อ่อนอุษา ลำเลียงพล นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าวในงานแถลงข่าว
ในวันที่ 27 มิถุนายน 2560 ช่อง 5 และช่อง 7 ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวตั้งชมรมเซ็นเซอร์โฆษณา พร้อมกับระบุว่า จะเริ่มงานในวันที่ 28 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นตามคิวของการตรวจงานโฆษณาจะเป็นคิวของช่อง 7 พอดี
ส่งผลให้ผู้ประกอบการและเอเยนซีเกิดความสับสนว่าจะต้องทำอย่างไร ส่งงานไปให้ใครตรวจกันแน่ และถ้าหากว่างานโฆษณาผ่านการตรวจและรับรองผ่านแล้วจากทางชมรมฯ ของช่อง 7 จะสามารถนำไปใช้ออนแอร์กับช่อง 3 กับช่อง 9 ได้หรือไม่ รวมทั้งงานผ่านการตรวจจากหน่วยงานเดิมแล้ว จะสามารถนำไปออนแอร์ที่ช่อง 5 กับช่อง 7 ได้หรือไม่
“ช่อง 5 และช่อง 7 ต้องคำตอบกับสังคมว่า ตั้งชมรมฯ นี้ขึ้นมาเพื่ออะไร ทำไมต้องให้มี 2 มาตรฐาน” ชัยประนิน วิสุทธิผล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย
เช่นเดียวกับ สุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า การตั้งชมรมฯ ของช่อง 5 กับช่อง 7 นำไปสู่ความสับสนอย่างมาก โดยฝ่ายที่คิดจะมาล้มกระดานงานนี้จะเป็นการทิ้งตราบาปไว้ในวงการอย่างมาก
พลากร สมสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ให้เหตุผลถึงการตั้งชมรมฯ ว่า เพื่อขานรับนโยบายของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการสร้างบรรทัดฐานการตรวจสอบงานโฆษณายุคใหม่ให้มีมาตรฐาน
สมาชิก นอกจากช่อง 5 และช่อง 7 ยังได้ดึงเอาเครือข่ายต่างๆ เช่น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีโกลบอล เน็ตเวิร์ค, สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย, สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน, สมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพร, สมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย), สมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย), สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย, ตัวแทนกลุ่มนักวิชาการ 13 สถาบัน, สมาคมนักการตลาดแบบตรงไทย และบริษัท NS Media Group จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 60 เป็นต้นไป
“เรา ไม่ปิดกั้นว่าใครจะนำงานโฆษณาไปให้หน่วยงานคณะกรรมการฯ เดิมตรวจพิจารณาก็ได้ หรือให้ชมรมฯ ตรวจก็ได้” พลากร บอก
พล.อ.ราชรักษ์ เรียนพืชน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เล่าให้ฟังว่า ชมรมนี้ได้เตรียมก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2556 แล้ว เพื่อรวมตัวในการตรวจสอบโฆษณา เพื่อให้เป็นประกาศ กสทช. ที่ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มของผู้ได้รับใบอนุญาตฯ เพื่อกำกับดูแลกันเอง โดยจุดเด่นคือ ยกสถานะจากคณะกรรมการฯ เป็นชมรม
โดยชมรมฯ จะนำระบบ My Censor ที่ทางช่อง 7 ได้ลงทุนนับ 20 ล้านบาทมาเป็นมาตรฐานในการตรวจเซ็นเซอร์โฆษณา เป็นระบบคอมพิวเตอร์สามารถส่งชิ้นงานโฆษณาผ่านเว็บไซต์กลาง รวมทั้งส่งเอกสารในตอนเช้า ตอนบ่ายทำการตรวจงาน ตอนเย็นก็ทราบผลได้ มองว่าสามารถทำงานได้เร็วขึ้นจากการตรวจงานโดยปกติ
เบื้องต้นที่ตั้งของชมรมฯ จะอยู่ที่สถานีช่อง 5 แต่ต้องมีการตั้งอนุกรรมการให้เสร็จสิ้นก่อน ถึงจะเปิดสำนักงานเป็นทางการ ตอนนี้ต้องใช้พื้นที่ที่สถานีช่อง 7 ก่อน
แต่ที่อดแปลกใจกันไม่ได้ คือ ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เห็นด้วยกับตั้งชมรมฯ นี้ขึ้นมา พร้อมให้การสนับสนุนหากมีผู้ใด หรือหน่วยงานใดต้องการตั้งหน่วยงานในการเซ็นเซอร์ขึ้นมา เพราะหากเซ็นเซอร์ผ่านแล้วและมีปัญหาในภายหลัง กสทช.ก็จะเป็นผู้พิจารณาในขั้นสุดท้าย
เปิดปมขัดแย้ง มาตรฐานไม่ตรงกัน
ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตั้งข้อสังเกต ถึงที่ช่อง 5 และช่อง 7 ออกตั้งชมรมเซ็นเซอร์ แยกทางคณะกรรมการฯ ที่ร่วมงานกันมากว่า 20 ปี ว่า น่าจะมาจากปมขัดแย้งในเรื่องมาตรฐานในการตรวจเซ็นเซอร์ เพราะทางช่อง 7 ได้พัฒนาระบบ My Censor ของตัวเอง และใช้ระบบนี้มาตลอด ในขณะที่สถานีอื่นก็เป็นการตรวจด้วยสายตาปกติ
“ที่ผ่านมาการตรวจงานมีการขัดแย้งกันระหว่างการตรวจด้วยสายตา กับตรวจด้วยระบบ ทำให้มีความเห็นไม่ตรงกัน ช่อง 7 จึงอยากใช้ระบบในการ My Censor เป็นหลักในการตรวจงานมากกว่า”
ส่วนอีกประเด็นหนึ่งก็คือการทีวีดิจิทัล 2 ช่องเข้ามาร่วมเป็นกรรมการพิจารณางานโฆษณา ซึ่งช่อง 7 ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่า ยังขาดประสบการณ์ ไม่เหมือนกับทีวีช่องเดิมที่ทำมานาน
เอเจนซีกุมขมับ ค่าใช้จ่ายขยับเพิ่ม สับสน 2 หน่วยงาน
ความขัดแย้งในครั้งนี้ ผู้ได้รับผลกระทบหนักสุดจากกรณีนี้เห็นจะเป็นเอเยนซีผู้วางแผนสื่อโฆษณา และเจ้าของแบรนด์สินค้า เมื่อมี 2 หน่วยงาน ทำให้ต้องส่งชิ้นงานโฆษณา 2 ที่ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ใช้เวลามากขึ้น รวมทั้งในแง่ของมาตรฐานในการตรวจชิ้นงานของ 2 หน่วยงานที่จะสร้างความซับซ้อน และสับสนได้
ถึงแม้ทางชมรมฯ โดยช่อง 5 และช่อง 7 จะบอกว่า ยอมรับกับโฆษณาที่ผ่านการตรวจโดยคณะกรรมการฯ มาลงที่ช่องได้ แต่ทางคณะกรรมการฯ โดยเฉพาะช่อง 3 และช่อง 9 ยืนยันเลยว่าไม่รับโฆษณาที่ผ่านการตรวจจากทางชมรมฯ โฆษณาที่จะลงในช่อง 3 และช่อง 9 ต้องผ่านการตรวจจากคณะกรรมการฯ ชุดนี้เท่านั้น เรียกว่าเป็นการเปิดศึกกันอย่างเต็มตัว
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือถ้ามาตรฐาน 2 หน่วยงานไม่ตรงกันใน 1 โฆษณา ทำให้เพิ่มค่าใช้จ่ายในการปรับแก้ชิ้นงาน ค่าโปรดักชั่น เป็นสิ่งที่ทางเอเยนซียังสับสนอยู่
เป็นที่ต้องจับตามองกันต่อไปว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้ทั้ง 2 ฝ่ายต่างเดินหน้า ไม่มีใครยอมใคร และต่างฝ่ายก็ยังเชื่อมั่นในการทำงานของตนเองกันอีกด้วย นักการตลาดจึงต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์