เกมพลิก กสทช. ล้มเส้นตาย เฟซบุ๊ก-ยูทิวบ์ ลงทะเบียน 22 ก.ค. หลังโฆษณาออนไลน์ป่วนหนัก

ต้องนับเป็นความพยายามของ กสทช. หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ต้องการออกกฎระเบียบผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโอทีที (Over The Top) เฟซบุ๊ก (Facebook)  และยูทิวบ์ (YouTube) มาเข้าระบบ เพื่อควบคุมเนื้อหาไม่ให้ขัดต่อระเบียบ กสทช. และจะต้องชำระค่าใช้คลื่นความถี่ เพื่อสร้างกติกาที่เท่าเทียมกับสถานีโทรทัศน์

กสทช.จึงต้องการจัดระเบียบผู้ประกอบการโอทีที ในส่วนที่เป็น Content คือ การแพร่ภาพกระจายเสียง เพราะปัจจุบันมีผู้ชมเป็นจำนวนมาก ทั้งแนวโน้มและบทบาทในตลาดก็เพิ่มขึ้น แถมทำรายได้ทั้งค่าสมาชิกและโฆษณา

ตัวเลขจากสมาคมโฆษณาดิจิทัลแห่งประเทศไทย ระบุว่า ผู้ให้บริการ OTT มีรายได้จากโฆษณา 5 พันล้านบาท เฉพาะเฟซบุ๊ก มีรายได้ 2,842 ล้านบาท  ยูทิวบ์ มีรายได้ 1,663 ล้านบาท ส่วนทีวีช่อง 3,7, เวิร์คพอยท์ ช่องวัน ทำรายได้ผ่านโอทีที รวมกัน 502 ล้านบาท

ในขณะที่ทีวีดิจิทัล เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม และผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่ กสทช.เป็นผู้กำกับดูแล ต้องจ่ายค่าใช้คลื่นความถี่ เนื้อหา และโฆษณาต้องไม่ให้ขัดต่อระเบียบของ กสทช. แต่ผู้ให้บริการโอทีที ซึ่งนับวันก็ยิ่งมีบทบาทต่อผู้บริโภค กลับไม่อยู่ภายใต้กฎหมายใดๆ เพราะเป็นสื่อใหม่ เกิดหลังกฎหมายคลื่นความถี่ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

กสทช.จึงตั้งคณะอนุกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมามีชื่อว่า คณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ OVER The Top หรือ OTT มี พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.เป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อศึกษาหามาตรการที่จะกำกับดูแลโอทีที และกำหนดกติกาที่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ประกอบการในระบบคลื่นความถี่ คือทีวีและผู้ให้บริการ OTT

พ.อ.นที ได้ทยอยเรียกผู้ให้บริการโอทีทีมาเจรจา และขอให้ลงทะเบียนภายใน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายนจนถึงวันที่ 22 กรกฎาคม ผู้ให้บริการ OTT ส่วนใหญ่ รวมทั้งผู้ผลิตเนื้อหาเผยแพร่บน YouTube และ LINE TV ก็ให้ความร่วมมือ ขาด 3 ราย ซึ่ง Netflix บอกว่า จะมาต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ส่วนเฟซบุ๊กกับยูทิวบ์ ไม่เคยมาประชุม และยังไม่บอกว่าจะมาลงทะเบียนหรือไม่

ทำให้ พ.อ.นที ต้องใช้วิธี “กดดัน” อย่างหนัก ด้วยการเรียกเอเยนซี่โฆษณา มีเดียเอเยนซี่ และผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ 47 ราย ใน 7 อุตสาหกรรม ซึ่งใช้งบโฆษณาจำนวนมาก เข้ามาชี้แจงว่า หากเฟซบุ๊ก และยูทิวบ์ ไม่มาลงทะเบียนภายในกำหนดวันที่ 22 กรกฎาคมแล้ว ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มเถื่อน ผิดกฎหมาย หากใครยังคงซื้อโฆษณา จะถือว่าเป็นผู้สนับสนุนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผิด พ.ร.บ.คลื่นความถี่ และผิดกฎหมายอาญา

หลังประกาศได้วันเดียว สหพันธ์อินเทอร์เน็ตแห่งเอเชีย (Asia Internet Coalition) หรือ AIC ซึ่งมี เฟซบุ๊ก, กูเกิล, ไลน์, ยาฮู, ทวิตเตอร์ เป็นสมาชิก ได้ส่งหนังสือมาที่ กสทช. ระบุว่า ข้อบังคับของ กสทช.เรื่อง OTT  นั้น ขัดกับข้อตกลงทางการค้าที่ไทยทำไว้กับนานาชาติ และอาจเกิดภาวะกีดกันการลงทุน ซึ่งเชื่อกันว่า AIC เป็นตัวแทนให้กับ ยูทิวบ์-เฟซบุ๊ก

..นที จึงโต้กลับทันทีว่า “ไม่ให้ราคา” กับ AIC เพราะมองว่าเป็นแค่ล็อบบี้ยิสต์ ซึ่ง AIC ก็เคยส่งให้หน่วยงานที่กำกับดูแลของทั้งเวียดนาม และอินโดนีเซียในลักษณะคล้ายกันมาแล้ว

ส่วนการที่ทั้งเฟซบุ๊ก และยูทิวบ์ ยังไม่กล้าตัดสินใจลงทะเบียน OTT กับ กสทช. นั้น เพราะกลัวว่าจะถูกเรียกเก็บภาษี พ.อ.นที ยืนยันว่า หน้าที่เก็บภาษีไม่ใช่หน้าที่ กสทช. ส่วนการที่ กสทช.ต้องออกมาทำเรื่องนี้ เพราะต้องการกำจัดเนื้อหาที่ไม่ดีออกไปจากสังคม ซึ่งเฟซบุ๊ก และยูทิวบ์ มีคนเข้าถึงจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องมาลงทะเบียนก่อนวันที่ 22 .. นี้
พ.อ.นที ยังยืนยันด้วยว่า ไม่ว่าจะเรื่องเก็บภาษี หรือการให้มาลงทะเบียนเพื่อควบคุมเนื้อหานั้น สามารถทำได้เลย อย่างประเทศเวียดนามเอง ก็ใช้วิธีสั่งรัฐวิสาหกิจ ที่อยู่ในอุตสหกรรมยานยนต์ และบริษัทนม ให้งดลงโฆษณาบนเฟซบุ๊ก และยูทิวบ์ จนท้ายที่สุด ทั้ง 2 แพลตฟอร์มต้องยอมปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ

บอร์ด กสทช.ทุบมติ สั่งยกเลิกเฟบุ๊กยูทิวบ์ยังไม่ต้องลงทะเบียน 22 ..

แต่ล่าสุด ที่ประชุมบอร์ด กสทช. สั่งทุบ ให้ พ.อ. นที ยกเลิกการกำกับ OTT ที่ทำมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา พร้อมกับยกเลิกการลงทะเบียน OTT ของผู้ให้บริการทั้งหมดที่ได้ลงทะเบียนมาก่อนหน้านี้ รวมถึงยกเลิกเส้นตายที่ให้เฟซบุ๊กและยูทิวบ์ต้องมาลงทะเบียนภายในวันที่ 22 กรกฎาคม

โดยให้ให้ร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ โดยให้อนุกรรมการ OTT ไปยกร่างหลักเกณฑ์ ภายใน 30 วัน มาเสนอบอร์ด จากนั้นจะทำประชาพิจารณ์ และเสนอบอร์ดอนุมัติประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา โดยมีกรอบเวลาดำเนินงานทั้งหมด 90 วัน คาดว่าจะเสร็จก่อน 6 ตุลาคม 2560

นับเป็นการลดแรงกดดันเพื่อให้ทั้งเฟซบุ๊ก และยูทิวบ์ มีเวลาเจรจาหาข้อตกลงได้มากขึ้น ส่วนเอเยนซี่โฆษณา และองค์กรธุรกิจต่างๆ มีเวลา “เตรียมตัว” รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ทัน ไม่ต้องเจอแรงกดดันทางด้านเวลา และข้อบังคับด้านกฎหมายห้ามไม่ให้ลงโฆษณาใน 2 แพลตฟอร์มดังกล่าว

Google ให้ฝ่าย กม.สิงคโปร์ศึกษา

ก่อนหน้าจะมีมติจาก บอร์ด กสทช. ออกมา ตัวแทนจาก Google ประเทศไทย ระบุว่า กำลังศึกษาในประเด็นนี้อยู่ เพราะตั้งแต่ที่มีประกาศออกมายังไม่มีกฎระเบียบที่เป็นลายลักษณ์อักษรออกมาว่า ข้อกฎหมายคืออะไร ระเบียบมีอะไรบ้าง ถ้าเซ็นลงทะเบียนไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ทุกอย่างยังไม่ชัดเจน ทางกูเกิลประเทศไทยได้ให้ทีมกฎหมายที่สิงคโปร์ศึกษาเพิ่มเติมอยู่  พร้อมกับมอบหมาย AIC เป็นตัวแทนเข้าไปกับ กสทช. จะได้เป็นเสียงเดียวกันกับแพลตฟอร์มอื่นด้วย จึงยังบอกในเวลานี้ไม่ได้ว่าจะไปลงทะเบียนในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้หรือไม่

ส่วนผู้ที่ลงโฆษณากับทางยูทิวบ์ก็มีความกังวลอยู่บ้าง แต่ยังไม่มีการหยุดลงโฆษณา แจ้งไปว่ากำลังศึกษาอยู่ แต่ถ้ายังขาดความชัดเจนและเกิดอะไรขึ้นจริง ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่สุดก็คือ Content Creator เพราะหารายได้โดยตรงจากยูทิวบ์

แต่อย่างไรก็ตาม ยูทิวบ์ และกูเกิล เป็นแพลตฟอร์มใหญ่ เรื่องรายได้ไม่กระทบมาก และถ้าจะลงโฆษณาก็สามารถซื้อได้จากต่างประเทศได้อยู่ดี อย่างเอเยนซี่ที่เป็นบริษัทข้ามชาติ สามารถสั่งซื้อโฆษณาผ่านเครือข่ายในต่างประเทศได้ ผลกระทบจะเกิดกับเอเยนซี่รายเล็ก ที่ไม่มีเครือข่ายต่างประเทศ อาจได้รับผลกระทบ เพราะซื้อโดยตรงจากต่างประเทศไม่ได้”

ส่วนเอเยนซี่โฆษณา และองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เองก็กังวลกับการที่ต้องรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หลังจากวันที่ 22 กรกฎาคม เนื่องจากทั้ง 2 แพลตฟอร์ม มีผลต่อการสร้างการรับรู้อย่างมาก

เอเยนซี่เตรียมงดลงโฆษณา

ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการ ธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัทมีเดียอินเทลลิเจนซ์ จํากัด ตอนนี้ทั้งทางเอเยนซี่ และลูกค้าก็มีการตั้งรับสถานการณ์อยู่ โดยรอดูทีท่าถึงวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ เบื้องต้นในขณะนี้เอเยนซี่ยังคงลงตามปกติ แต่หลังจากวันที่ 23 ก็จะหยุดการลงโฆษณาใน 2 แพลตฟอร์มนี้ เพราะหากยังลงต่ออาจส่งผลกระทบต่อแบรนด์ลูกค้าได้ เพราะ กสทช.มองว่าไม่มีธรรมาภิบาล ไม่มีคุณธรรม จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้ายังลงโฆษณาต่อไปอาจถูกตอบโต้จากสังคมได้

หลังจากนั้นก็มีการวางแผนไปแต่ละแคมเปญของลูกค้า ดูว่าจะทดแทนด้วยอะไร อาจจะกลับไปที่สื่อทีวี วิทยุ เม็ดเงินอาจจะเหวี่ยงกลับมาที่สื่อดั้งเดิม หรือออนไลน์อื่นๆ อย่างไลน์ ทีวี หรือเว็บ พอร์ทัล แต่บอกลูกค้าเลยว่าไม่สามารถทดแทนได้ 100% เพราะ 2 แพลตฟอร์มนี้คนไทยใช้เยอะมาก

ตอนนี้เอเยนซี่มีการมอนิเตอร์สถานการณ์วันต่อวัน ส่วนตัวคิดว่าจะมีการประนีประนอมกันได้ อาจจะขึ้นทะเบียนแต่มีเงื่อนไข หรือขอยืดเวลา คิดว่าจะมีทางออกที่ดีอยู่แล้ว

กระทบหนักต้องหาแผนสำรอง

วรรณี รัตนพล ประธานบริหาร ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย บอกว่า เอเยนซี่อยู่ระหว่างพูดคุยลูกค้าเพื่อหาแผนสำรอง ยอมรับว่าเหนื่อยมาก เพราะมีเวลาน้อยมาก กสทช.ให้เวลาถึง 22 กรกฎาคมนี้เท่านั้น หากใครไปลงโฆษณาใน 2 แพลตฟอร์มนี้ จะมีโทษทางอาญา

โดยแผนสำรองที่คาดว่าจะทำในเรื่องเสิร์ช เพราะยังลงผ่านกูเกิลได้ รวมไปถึงเรื่องโปรแกรมเมติก หรือไม่ก็กลับไปที่สื่อดั้งเดิม แต่ก็คงเหนื่อยกว่า เพราะ 2 แพลตฟอร์มนี้มีผู้ใช้งานเยอะ มีอิมแพคต่อคนมาก หรืออีกทางเลือกคือ LINE  ก็ต้องมาทำ Optimization อีกว่าจะตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ตรงกับแบรนด์ และคอนเทนต์หรือไม่ เพราะไม่ใช่สินค้าทุกตัวจะเหมาะกับไลน์

ไม่คิดว่าเฟซบุ๊ก และกูเกิลจะเพิกเฉย ต้องมีทางออกที่ดี อยู่ที่การคุยกันให้เข้าใจ อีกฝ่ายก็ต้องการทำให้ถูกกฎหมาย มิเช่นนั้นเงินไหลออกนอกประเทศหมด แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องให้เวลาซึ่งกันและกัน ทั้งแพลตฟอร์ม กสทช. และเอเยนซี่ ปกติยังต้องมีการวางแผนสื่อล่วงหน้า 1 เดือนเลย ตอนนี้เอเยนซี่มีการวางแผนกันอย่างกะทันหันมาก ก็ต้องปรับตัวกัน

สุนาถ ธนสารอักษร กรรมการผู้จัดการ บริษัท แรบบิทส์ เทลล์ จำกัด มองว่า ข่าวเวลานี้ยังคลุมเครือ ต้องแบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ การกำกับดูแลเนื้อหา และการเสียภาษี โดยมองว่าปัญหาใหญ่สุดคือเรื่องการเสียภาษีเพราะเป็นเรื่องการสูญเสียรายได้ เนื่องกลุ่มทีวีดิจิทัลการเสียค่าประมูลใบอนุญาตไปมหาศาล แต่แบรนด์กลับไปลงโฆษณาออนไลน์กันหมด ประเทศเองก็เสียรายได้ให้ต่างชาติมากขึ้น การเก็บภาษีให้ถูกต้องก็เป็นทางออกที่ดี แต่ต้องอยู่บนข้อตกลง และเป็นธรรมในทุกๆ ฝ่าย

ส่วนในเรื่องของการกำกับดูแล ยุคนี้คนทั่วไป ใครก็สามารถผลิตคอนเทนต์ได้ การกำกับดูแลเนื้อหาตรงนี้อันตราย จะทำให้ประเทศไทยถอยกลับไป อยากให้เปิดกว้าง แต่ก็ต้องให้ความรู้แก่ประชาชนให้เท่าทัน และเสพสื่ออย่างถูกต้อง และต้องให้ประชาชนเลือกเอง

หากห้ามลงโฆษณาจริง ทางด้านเอเยนซี่ หรือแวดวงโฆษณาต้องได้รับผลกระทบแน่ๆ เพราะเฟซบุ๊กและกูเกิลเป็นแพลตฟอร์มใหญ่ที่คนใช้เยอะ จะกระทบไปถึงการวางแผนเรื่องคอนเทนต์ต่างๆ ก็ถูกจำกัด แต่ก็สามารถไทอินสินค้ากับเพจ หรืออินฟลูเอ็นเซอร์โดยตรงได้ เพราะเมื่อทางเพจได้รับเงินจะมีการเสียภาษีอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถบูทโพสต์ได้ แต่ถ้าไม่บูทโพสต์ ยอดเอ็นเกจเมนต์จะน้อย ทำให้ต้องวางแผนไปลงช่องทางอื่นเพิ่มเติม แต่แบรนด์ก็ยังไม่กล้าลงเพราะผู้บริโภคก็ยังกระจุกตัวอยู่ที่ 2 แพลตฟอร์มนี้ เท่ากับว่าจะโดนปิดล็อกอยู่ในหลายๆ ทาง

ทางออกมี 2 แนวทาง สื่อทีวีที่สูญเสียรายได้ ออนไลน์ ให้หาวิธีชดเชยตามความเป็นธรรม แต่ส่วนโฆษณาที่เป็นตัวหนังสือ คอนเทนต์บนเฟซบุ๊กให้สามารถทำได้อยู่ เพราะไม่กระทบกับทีวีอยู่แล้ว

วีระชัย ลีฬหาทร Senior Digital Marketing Supervisor ฝ่ายพัฒนาแบรนด์ บริษัท ไทย ออปโป้ จำกัด มองวา เฟซบุ๊ก และกูเกิลเป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญมากในการลงโฆษณา เพราะมียอดแอคทีฟสูง ดังนั้นถ้า 2 บริษัทไม่ยอมมาลงทะเบียนกับทาง กสทช. ในแง่การตลาดเท่ากับสื่อนี้ถูกชัตดาวน์ลงเพราะไม่สามารถลงโฆษณาได้ การทำตลาดบนออนไลน์ของแบรนด์จะเปลี่ยนไป นักการตลาดต้องปรับตัว อาจต้องหันตลาดผ่านสื่อเทรดิชันนอลแทน แต่จะทำแบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคได้น้อยกว่าเดิม ส่งผลกระทบต่อแบรนด์มาก เมื่อไม่มีออนไลน์จาก 2 แพลตฟอร์มนี้ การเอ็นเกจเมนต์ที่ผู้บริโภคมีต่อแบรนด์น่าจะหายไปเป็นครึ่ง

“เวลานี้การวางแผนเผื่อไว้ ยังไม่ถึงกับเป็น Crisis เพราะการเข้าหาผู้บริโภคก็ยังมีอีกหลายไปลงลงทางอ้อม ในรูปแบบอื่นๆ เช่น ไปไทอินกับเจ้าของเพจดังๆ หรือเข้าทาง Youtuber โดยตรง

บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่า บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด มองว่า ไม่ว่า 2 บริษัทจะลงหรือไม่ลงทะเบียนก็ไม่มีผลกระทบให้กับแบรนด์มากนัก แต่ถ้าลงทะเบียนแล้ว ก็ต้องมาดูว่าโครงสร้างราคาโฆษณาจะเปลี่ยนไปหรือไม่หลังจากที่มีการเก็บภาษี แต่ถ้าคำนวณแล้วยังคุ้มอยู่ก็ยังคงใช้ต่อ

แต่ถ้า 2 แพลตฟอร์มไม่ลงทะเบียนก็เลือกหาสื่ออื่นๆ มาใช้ทดแทน โดยเลือกสื่อที่ประสบความสำเร็จ ได้ผลตอบรับที่ดี แต่ละสื่อก็มีจุดประสงค์ต่างกัน ซึ่งสื่อโฆษณาในทีวีก็ยังมีผลตอบรับที่ดี ส่วนไลน์ก็มีการทำตลาดแต่ก็ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์แต่ละครั้ง

2 สมาคมโฆษณาฯ เตรียมหารือ

ไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซีและธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย รอความชัดเจนวันที่ 22 กรกฎาคม จากนั้นพูดคุยร่วมกันของสมาคมมีเดียเอเยนซี่ สมาคมโฆษณาดิจิทัล และสมาคมโฆษณา เพื่อหาแนวทางร่วมกันต่อไป แต่หลีกเลี่ยงข้อกฎหมายไม่ได้ จึงอยากให้ทั้ง 2 แพลตฟอร์มทำให้ถูกต้องตามกฎหมายไทย แต่ยังไม่ชัดเจน เพราะต่างฝ่ายต่างพูดคุยผ่านสื่อ ยังไม่คุยกันตรงๆ เชื่อว่าจะมีการตกลงกันได้ เพราะต่างฝ่ายก็มีเหตุผลของตนเอง สุดท้ายแล้วก็ต้องหาวิธีที่เป็นธรรมในทุกๆ ฝ่าย

ศุภชัย ปาจริยานนท์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัลแห่งประเทศไทย (DAAT) มองว่า สิ่งสำคัญคือให้ทุกฝ่ายมานั่งคุยกัน ทั้งเจ้าของแพลตฟอร์ม และ กสทช. เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน ให้ทุกคนเข้าใจถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของแต่ละฝ่าย ซึ่งต่างก็มีเหตุผลของตัวเอง เพื่อหาข้อสรุปที่ดีที่สุดให้กับประเทศ ตอนนี้หมดยุคของการบังคับกันแล้ว ต้องทำให้ทุกฝ่าย Win-Win ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งหมด

“ตอนนี้ทุกอย่างอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตหมดแล้ว ทั้งกูเกิลและเฟซบุ๊กต่างก็เป็นสื่อใหญ่ ภายในสัปดาห์นี้ทางสมาคมโฆษณาดิจิทัลฯ จะพูดคุยหารือกัน แล้วไปคุยกับ กสทช. เพื่อขอทราบถึงความชัดเจนเอเยนซี่โฆษณาต้องทำตัวอย่างไร แต่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง ต้องรอผลสรุปก่อน

ควรผลักดันทั้งคุมเนื้อหาและเก็บภาษีคู่กัน

ในขณะที่ ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสื่อสาธารณะ มองว่า กสทช.มีอำนาจโดยตรงในการกำกับดูแลผู้ให้บริการ OTT ไม่ว่าจะเป็นคนทำคอนเทนต์ เจ้าของแพลตฟอร์มอย่าง เฟซบุ๊กไลฟ์ หรือทางยูทิวบ์ ให้มาขึ้นทะเบียนทางกฎหมาย

แต่นอกจากคุมเรื่องคอนเทนต์แล้ว ยังมีเรื่องของจ่ายภาษีให้ถูกต้องเข้ามาด้วย ซึ่งในต่างประเทศมีการผลักดันกฎหมายการเก็บภาษีเป็นเรื่องปกติ เพราะภาษีเกิดขึ้นเมื่อทำธุรกรรม ก็แสดงว่าต้องจ่ายภาษีในประเทศที่ทำธุรกรรม แต่บางคนก็มองว่าไปจ่ายประเทศที่จดทะเบียนบริษัท ซึ่งก็พบว่าเฟซบุ๊กได้จดทะเบียนที่ประเทศไอซ์แลนด์ เพราะเป็นประเทศที่มีการจ่ายภาษีต่ำ ทำให้ทุกวันนี้เงินไหลออกนอกประเทศไปที่ไอซ์แลนด์หมด

การที่ กสทช.ออกกฎระเบียบนี้เป็นการสร้างมาตรฐานการค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศด้วย ต้องทำให้เท่าเทียมกัน เพราะขายของลงในอินสตาแกรมยังต้องเสียภาษีเลย แล้วเฟซบุ๊กกับกูเกิลก็ควรเสียภาษีเท่าเทียมกัน ยิ่งในอนาคตเฟซบุ๊กจะออกฟีเจอร์เฟซบุ๊กไลฟ์ ทีวี ที่รวมทุกอย่างไว้พร้อมทั้งคอนเทนต์ โฆษณา ผู้ชม ผู้ผลิตคอนเทนต์เตรียมจะไปร่วมด้วยอีก ถ้า กสทช.ไม่ทำอะไรเลยจะทำให้แพลตฟอร์มเดิมๆ ตายเรียบ คนพัฒนาแพลตฟอร์มในไทยทำยังไงก็ไม่เกิดเพราะคนก็ติดกับแพลตฟอร์มใหญ่จากต่างประเทศ

สิ่งที่เฟซบุ๊กกับกูเกิลควรทำคือต้องเสียภาษีให้ถูกต้อง ซึ่งกสทช.ไม่ควรทำคนเดียว เพราะคนมองว่าควบคุมกำกับเนื้อหา ต้องให้หน่วยงานอื่นอย่างกรมการค้าพาณิชย์ หรือกระทรวงการคลังที่เป็นคนออกกฎหมายด้านภาษีเข้ามาช่วย เหมือนอย่างในต่างประเทศก็มีการทำแบบนี้