ธุรกิจ “แชร์ริ่ง” ใครว่ารุ่งเสมอไป? เจ๊งอีกราย! สตาร์ทอัพจีนเช่าร่มกันฝน หลังธุรกิจเช่าจักรยานผ่านแอปฯ ปิดตัวลงไปหมาดๆ

ภาพรอยเตอร์ส

ดูท่าโมเดล“เช่า-แชร์ริ่ง”ของจีนจะไปรอดได้ยาก หลังจากธุรกิจให้เช่าจักรยานพังไม่เป็นท่า เพราะโดนขโมยไปเกือบพันคัน ล่าสุด สตาร์ทอัพรายหนึ่ง เปิดให้บริการเช่าร่มกันฝน (Sharing E Umbrella) ด้วยเปิดบริการเพียงไม่กี่สัปดาห์ ร่มหายไปแล้วเกือบ 300,000 คัน

รายงานข่าวจากสื่อจีนระบุถึง ธุรกิจสตาร์ทอัพให้บริการร่มร่วมกันรายนี้ อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น เปิดตัวบริการด้วยเงินลงทุน 10 ล้านหยวน ด้วยแนวคิดคล้ายๆ กับบริการจักรยานร่วม ซึ่งส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยลูกค้าจะใช้ผ่านแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ จ่ายค่าธรรมเนียม 19 หยวน และค่าใช้จ่าย 5 หยวน สำหรับการใช้งานทุกครึ่งชั่วโมง ปรากฏว่าร่มเกือบทั้งหมดสูญหาย

จ้าว ซู่ผิง ผู้ก่อตั้งกิจการบริการร่มร่วมฯ กล่าวว่า ได้แรงบันดาลใจจากกิจการจักรยานร่วมบริการ และเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่จะใช้งานนอกบ้าน สามารถสร้างธุรกิจแบ่งใช้งานกันได้หมด โดยร่มที่สูญหายไปนั้นราคาคันละ 60 หยวน และเขายังมีแผนเพิ่มร่มฯ สำหรับใช้หมุนเวียนให้บริการทั่วประเทศจีนอีกกว่า 30 ล้านคันภายในปลายปีนี้

ทำให้มีคำถามต่อไป ธุรกิจนี้ตอบโจทย์ได้จริงหรือ เพราะจำเป็นต้องแชร์ร่มกันฝนกันด้วยหรือ เพราะร่มเป็นของราคาถูกผู้ใช้ไม่น่าจะมีความจำเป็นต้องเช่า  ไม่เหมือนกับรถยนต์ ที่โมเดลของรถร่วมบริการ คือ ”ราคารถยนต์” ซึ่งมีราคาสูง ทำให้การเช่าใช้งานถูกกว่าการเป็นเจ้าของ และเป็นแรงจูงใจในการตัดสินใจ

แต่เหตุผลนี้คงใช้กับร่มกันฝนไม่ได้ เพราะร่มไม่ได้เป็นของแพง และเสียก็ไม่ต้องซ่อมบำรุง แน่นอนว่า หาระหว่างเดินทางฝนตกและไม่มีร่ม ก็คงใช้บริการนี้ได้ แต่ก็คงไม่มีทางมาแทนการตัดสินใจซื้อ และพกร่มติดตัวในระยะยาว ร่มจึงไม่จำเป็นต้องใช้ร่วมเหมือนรถยนต์ หรือจักรยาน

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจให้เช่าจักรยานผ่านแอปพลิเคชั่นเองก็ไปรอดได้ยาก ดู จากกรณีที่ 3Vbike” ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพให้เช่าจักรยานผ่านแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ โดยใช้เงินลงทุน 600,000 หยวน หรือราว 3.5 ล้านบาท เพื่อซื้อจักรยานจำนวน 1,000 คัน ออกให้บริการในเมืองเล็กๆ 4 แห่งในมณฑลเหอเป่ย และฝูเจี้ยน

ปรากฏว่าช่วงแรกธุรกิจทำท่าจะไปได้สวย เมื่อมีผู้ลงทะเบียนบนแอปฯ มากถึง 11,000 รายภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน

แต่หลังจากนั้น จักรยานที่ให้เช่าก็ค่อยๆ สูญหายไปเรื่อยๆ นอกจากนี้จักรยานบางส่วนก็ถูกทางการยึด เนื่องจากถูกใช้ผิดที่ผิดทาง จนทำให้ในบางพื้นที่ไม่มีจักรยานให้บริการเลย จากจักรยานที่ซื้อมา 1,000 คัน เหลือให้บริการอยู่เพียงไม่กี่สิบคัน เขาจึงจำเป็นต้องปิดกิจการไปในที่สุดเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา


ที่มา