แม้แฟลช (Flash) จะเคยเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้บริการวิดีโออย่างยูทูป และเกมออนไลน์อีกนับไม่ถ้วนได้แจ้งเกิด แต่ต้นสังกัดอย่างอะโดบี (Adobe) ตัดสินใจประกาศโทษประหาร Flash อย่างเป็นทางการแล้วในปี 2020 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า แน่นอนว่าเรื่องนี้มีความหมายต่อชาวออนไลน์ทุกคน รวมถึงรูปแบบเนื้อหาอินเทอร์แอคทีฟในอนาคตด้วย
อะโดบีประกาศแผนยุติการสนับสนุนเทคโนโลยี Flash ในปี 2020 อย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ในยุคหนึ่ง Flash เคยเป็นเทคโนโลยีที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในการรับชมวิดีโอ การฟังวิทยุสตรีมมิง และการเล่นเกมออนไลน์ เรียกว่าคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ในยุคก่อนล้วนต้องติดตั้งโปรแกรมแฟลชเพลเยอร์
แต่ด้วยความที่ซอร์สโค้ดหรือชุดคำสั่งมีช่องโหว่ ทำให้อาชญากรอินเทอร์เน็ตอาศัยช่องโหว่ดังกล่าวเจาะเข้าในระบบ การเป็นข่าวสะท้อนความเสียหายในวงกว้างช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับการมาถึงของคู่แข่งอย่างเอชทีเอ็มแอลไฟฟ์ (HTML5) ที่สามารถแสดงผลคอนเทนต์มัลติมีเดียได้โดยไม่ต้องลำบากผู้ใช้ให้ต้องคอยอัปเดตหรือติดตั้งโปรแกรมเล่นไฟล์ Flash ต่อเนื่อง จึงทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่เริ่มส่งสัญญาณตัดขาดจาก Flash
การตัดขาดจาก Flash ที่เป็นข่าวดังที่สุดคือยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิล ที่ตัดสินใจไม่สนับสนุนเทคโนโลยีดังกล่าวบนไอโฟน ไอแพด และไอพ็อด ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม การตัดสินใจนี้เกิดขึ้นในช่วงที่สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ยังรุ่งเรือง
วันนี้ อะโดบีเป็นฝ่ายปิดม่าน Flash ด้วยตัวเอง ขีดเส้นวันที่ 31 ธันวาคม 2020 เป็นกรอบสุดท้าย เพื่อให้เกมออนไลน์มากกว่า 1 แสนเกมที่ยังใช้ Flash ในทุกวันนี้ มีโอกาสโยกย้ายไปพัฒนาบนเทคโนโลยีอื่น
เบื้องต้น นักวิเคราะห์มองว่าเป็นเรื่องดีที่อะโดบีตัดสินใจปิดฉากชีวิต Flash ลง เนื่องจาก Flash เป็นจุดอ่อนที่ทำให้โลกออนไลน์มีความเสี่ยงมานานกว่า 10 ปี แน่นอนว่าสำหรับอะโดบี การปิดฉากนี้เกิดขึ้นบนความช้ำใจที่ได้ตัดสินใจซื้อเทคโนโลยี Flash มาจากบริษัทมาโครมีเดีย (Macromedia) เมื่อปี 2005 ซึ่งในช่วงปี 90 Flash เป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอย่างมาก โดยเฉพาะกับผู้ใช้เบราว์เซอร์ไออี แต่เมื่อเบราว์เซอร์โครม (Chrome) เกิดขึ้น อะโดบีก็พบว่าสถิติการใช้งาน Flash นั้นลดลงอย่างรวดเร็ว
***ชาวออนไลน์ไม่เจ็บเลย?
การอวสานของ Flash จะส่งผลกระทบต่อชาวออนไลน์ตามชนิดของเบราว์เซอร์ที่ใช้และการเชื่อมต่อข้อมูล ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดคือ เกมคลาสิกของหลายคนอาจไม่ทำงาน โรงเรียนและธุรกิจบางอย่างที่มีโครงสร้างธุรกิจเกี่ยวข้องกับ Flash อาจต้องขยับขยายไปใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น ขณะที่บางเว็บไซต์ซึ่งเก่าแก่และไม่มีการพัฒนามานาน อาจจะแสดงผลหรือทำงานไม่ได้ตามปกติ
หากเป็นเบราว์เซอร์โครม (Chrome) ผู้ใช้โปรแกรมเปิดเว็บของกูเกิลเริ่มได้เห็นหน้าต่างแจ้งขออนุญาตเล่นไฟล์ Flash บนบางเว็บไซต์ตั้งแต่ปีที่แล้ว ผลที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้คือ Chrome จะแสดงหน้าต่างเตือนบ่อยขึ้น จากนั้นจะไม่แสดง Flash โดยอัตโนมัติในปลายปี 2020
จุดนี้กูเกิลแถลงแล้วว่า จะลบ Flash ออกจาก Chrome หลังจากพ้นปี 2020 ไป เรียกว่าชาวออนไลน์จะยังเล่นเกม Flash ต่อไปได้อีก 3 ปี
สำหรับผู้ใช้ไฟร์ฟ็อกซ์ (Firefox) โปรแกรมเปิดเว็บไซต์ของมอสซิลาจะเริ่มแสดงข้อความแจ้งเตือนในเดือนสิงหาคมนี้ ว่าต้องการเปิดใช้งาน Flash บนเว็บไซต์ใดบ้าง จุดนี้ Firefox ระบุว่าจะปิดการทำงาน Flash เต็มรูปแบบในปี 2019 โดยจะยังรองรับ Flash ถึงปี 2020 เฉพาะบนชุดโปรแกรมเสริม Extended Support Release ของ Firefox ที่มีการอัปเดทข้อมูลไม่บ่อยครั้ง
ผู้ใช้เบราว์เซอร์เอดจ์ (Edge) โปรแกรมเปิดเว็บไซต์ใหม่ล่าสุดของไมโครซอฟท์จะใช้วิธีแสดงตัวเลือกให้ผู้ใช้คลิกหากต้องการเปิด Flash บนเว็บไซต์ นโยบายนี้จะเริ่มต้นในกลางปีหน้า (2018) ขณะที่เบราว์เซอร์เก่าอย่างไออี (Internet Explorer) จะยังให้บริการ Flash ตามปกติไปก่อน
รายงานระบุว่า กลางปี 2018 เบราว์เซอร์ Edge จะกำหนดให้ผู้ใช้ควบคุมการใช้ Flash อย่างจริงจัง ก่อนที่จะปิดการทำงาน Flash แบบอัตโนมัติในปี 2019 และปลายปี 2020 ไมโครซอฟท์จึงจะปิดการทำงาน Flash อย่างเบ็ดเสร็จในทั้ง 2 เบราว์เซอร์
กรณีของซาฟารี (Safari) แอปเปิลนั้นปิดกั้นการทำงานของ Flash ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยบีบให้ผู้ใช้ที่ต้องการชมเนื้อหา Flash ไปตั้งค่าเองผ่านเว็บไซต์ที่เสนอให้ดาวน์โหลด Flash จึงจะสามารถชมเนื้อหาไฟล์ Flash ได้
อีกฝ่ายที่น่าสนใจคือเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีเกม Flash ให้บริการมากมาย วันนี้เฟซบุ๊กเตือนนักเขียนโปรแกรมว่าจะอำนวยความสะดวกให้เกมบน Facebook ทำงานได้เช่นเดิมถึงปลายปี 2020 แต่ขอแนะนำให้ทุกคนทราบถึงกรอบเวลาให้บริการของเบราว์เซอร์แต่ละค่าย
***ทำไมต้องรอถึงปี 2020
กอฟไวด์ บาลาคริสแนน (Govind Balakrishnan) รองประธานบริษัทฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ กลุ่มธุรกิจครีเอทีฟคลาวด์อีโคซิสเต็ม ระบุว่าการปิดฉาก Flash ต้องใช้เวลา เนื่องจาก Flash ยังเป็นมาตรฐานในหลายเว็บไซต์ ขณะเดียวกัน ก็ต้องให้เวลากับนักพัฒนาในวงการ การศึกษา เกม วิดีโอสตรีมมิง และอุตสาหกรรมอื่นเพื่อปรับปรุงหรือเขียนซอฟต์แวร์ขึ้นใหม่
เบื้องต้น ผู้บริหารอะโดบีเชื่อว่านี่คือเวลาที่เหมาะสมในการประกาศดึงปลั๊กปิดฉากการทำงานของเทคโนโลยี Flash แม้ว่าข้อมูลเบื้องต้นจะชี้ว่าวันนี้ Flash ถูกใช้งานไม่มากนักบนโลกออนไลน์ โดยเมื่อ 3 ปีที่แล้ว (2014) กูเกิลเคยออกมาเปิดเผยว่าจากสัดส่วนผู้ใช้ Chrome ที่เคยใช้งานเว็บไซต์ที่มีเนื้อหา Flash ผ่านคอมพิวเตอร์กว่า 80% ตัวเลขการใช้งานดังกล่าวลดเหลืออยู่ที่ 17% เท่านั้น คาดว่าสัดส่วนนี้จะลดลงอีกในขณะนี้
บทสรุปของการโบกมือลา Flash คือมาตรฐานมัลติมีเดียใหม่ซึ่งเป็นผลจากการที่เหล่าผู้พัฒนาเบราว์เซอร์พยายามกดดัน Flash มานานนับ 10 ปี โดยหลังจากที่ไอโฟนเครื่องแรกแจ้งเกิดโดยไม่รองรับ Flash ผู้สร้างเบราว์เซอร์ 3 รายทั้งมอสซิล่า แอปเปิล และโอเปร่า ก็รวมตัวกันในปี 2004 เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี HTML (Hypertext Markup Language) รวมถึงเทคโนโลยีหลักอื่นเพื่อใช้พัฒนาเว็บไซต์ การรวมตัวครั้งนั้นทำให้นักพัฒนามีทางเลือกมาตรฐานอื่นมากขึ้น
ปัจจุบัน นักพัฒนามีมาตรฐานทางเลือกหลากหลายตามรูปแบบมัลติมีเดียที่เปลี่ยนไป เช่น มาตรฐานภาพกราฟิก 3 มิติอย่าง WebGL, มาตรฐาน HTML5 ที่ช่วยให้วิดีโอ ไฟล์เสียง รวมถึงข้อความและภาพถูกแสดงบนเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น, มาตรฐาน SVG ที่ช่วยเรื่องการแสดงผลภาพกราฟิกเส้นอย่างโลโก้สัญลักษณ์หรือตารางหุ้น ให้แสดงผลได้ดี และที่สำคัญที่สุดคือมาตรฐาน Web Assembly ซึ่งทำให้ชาวเน็ตเปิดซอฟต์แวร์ออนไลน์และเกมได้เร็วขึ้น
กรณีของ Flash มาตรฐานที่จะมาแทนที่คือ HTML5 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เกมดังในช่วงปีนี้ส่วนใหญ่เลือกใช้ ขณะที่ผู้บริหารอะโดบีย้ำว่า การอวสานของ Flash จะไม่ส่งผลใดต่อธุรกิจของอะโดบีในยุคนี้ เพราะอะโดบียังมีโอกาสทางธุรกิจอื่นรออยู่.
ที่มา : http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000076547