หากย้อนกลับไปเมื่อสิบปีก่อนหน้านี้ แนวคิดเรื่อง Sharing Economy ได้เริ่มถือกำเนิดขึ้นในโลก และสามารถเติบโตขึ้นต่อเนื่อง เพราะได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจของหลายอุตสาหกรรมด้วย เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว และการคมนาคมขนส่ง
แม้ว่า Sharing Economy ที่เข้ามาในประเทศไทยอย่าง อูเบอร์ (Uber) หรือ Airbnb จะเป็นแนวคิดที่ถูกต่อต้านจากหลายภาคส่วน แต่ผลการสำรวจของเวิลด์อิโคโนมิคฟอรัม (World Economic Forum) กลับพบว่าแนวคิด Sharing Economy นี้เป็นแนวคิดที่มีประโยชน์ ทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการ รวมถึงธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
ยกตัวอย่างการแข่งขันมหกรรมโอลิมปิกที่จัดขึ้นที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี 2016 นั้น Airbnb ได้ช่วยให้ประเทศบราซิลมีห้องพักเพิ่มขึ้นสำหรับรับรองนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือนเท่ากับโรงแรม 257 แห่ง โดยไม่ต้องลงทุนสร้างโรงแรมขึ้นมาใหม่ ซึ่งเท่ากับเป็นการประหยัดงบประมาณในการก่อสร้าง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้กับเมืองได้อีกด้วย ไม่เท่านั้น ยังถือว่า Airbnb เป็นเครื่องมือที่ช่วยกระจายรายได้ไปยังชาวเมืองได้ดีอีกทางหนึ่ง
โดยตัวเลขจาก Airbnb ระบุว่า ก่อนหน้าการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 6 เดือน มีห้องพักในกรุงริโอ เดอ จาเนโรบนแพลตฟอร์ม Airbnb ราว 5,700 แห่ง แต่ในระหว่างการแข่งขันฟุตบอลโลก จำนวนห้องพักพุ่งขึ้นเป็น 19,300 แห่ง
ช่วง 6 เดือนก่อนการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกก็เช่นกัน กรุงริโอ เดอ จาเนโร มีห้องพักให้บริการอยู่ราว 24,300 แห่ง แต่พอช่วงของการแข่งขัน จำนวนห้องพักบน Airbnb เพิ่มขึ้นเป็น 48,100 แห่ง
ส่วนผลกระทบในแง่ลบที่เกิดจาก Sharing Economy ก็มีเช่นกัน โดยมีความกังวลว่าจะสูญเสียงานมากขึ้น หรือการนำสินทรัพย์ออกไปให้เช่ามากขึ้น
จากละตินอเมริกา ข้ามมาอีกฟากที่เอเชีย “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ได้กลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้การยอมรับแนวคิด Sharing Economy สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยรายงานจากรัฐบาลจีนระบุว่า อัตราการบริโภคที่สูงขึ้นของจีนนั้น พบว่ามีสัดส่วนของการจับจ่ายใช้สอยภายใต้ Sharing Economy เพิ่มมากขึ้น โดยจะมีสัดส่วนเท่ากับ 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ภายในปี ค.ศ. 2020 (ปี พ.ศ. 2563) และจะเติบโตขึ้นไปเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ภายในปี ค.ศ. 2025
เฉพาะในปี 2016 ปีเดียว มีชาวจีนถึง 600 ล้านคนใช้บริการที่เกี่ยวข้องกับ Sharing Economy โดยถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่เคยมีแค่ 100 ล้านคนในปี 2015
ยักษ์ใหญ่อย่าง Didi Chuxing บริษัทผู้ให้บริการ Ride-Sharing ในจีน เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงแค่ 5 ปี เฉพาะในปี 2015 ปีเดียว Didi มียอดการเดินทาง 1.4 พันล้านเที่ยว ขณะที่อูเบอร์ใช้เวลา 6 ปี จึงจะเติบโตและมียอดการเดินทางถึง 1 พันล้านเที่ยว ที่สำคัญ Didi ได้ควบกิจการของอูเบอร์ในจีนไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาแล้วเรียบร้อย
ผู้บริโภคของจีนก็ปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยพบว่าบริการรับส่งแบบ Pool ที่พาร์ทเนอร์ร่วมขับแวะรับผู้โดยสารที่ไปทางเดียวกันนั่งไปด้วยกันหลาย ๆ คนนั้น มีการใช้งานเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ตลอดทั้งปี 2015 Didi ช่วยประหยัดน้ำมันไปได้ 510 ล้านลิตร และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 13.55 ล้านตัน
Bike-Sharing ก็เป็นอีกหนึ่งบริการในกลุ่ม Sharing Economy ที่ได้รับความนิยม โดยในจีนมีเจ้าตลาดอยู่สองเจ้าได้แก่ Mobike และ Ofo ทั้งสองค่ายนี้ต่างใช้เทคโนโลยีกุญแจล็อคจักรยานอัจฉริยะที่จะเปิดได้ด้วยการสแกน QR Code และมีจีพีเอส (GPS) ระบุตำแหน่งของจักรยาน ทำให้ผู้ใช้งานสามารถปลดล็อกเพื่อขึ้นขับและจอดในจุดใดก็ได้ที่ต้องการ ก่อนจะล็อกให้เรียบร้อย รอผู้ใช้คนใหม่มาขับมันต่อไป
ตัวเลขผู้ใช้งานของทั้ง Mobike และ Ofo นั้นพบว่ามีประมาณ 6 ล้านคนต่อสัปดาห์ ไม่เฉพาะระบบคมนาคมขนส่ง เพราะในจีนยังมี Sharing Economy ในรูปแบบอื่น ๆ อีก เช่น บริษัท E Umbrella สตาร์ทอัปที่ให้บริการแชร์ “ร่ม” ในราคา 0.07 เหรียญสหรัฐต่อ 30 นาที หรือ 0.30 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมงสำหรับบริการเช่า “ลูกบาสเก็ตบอล” จากตู้ Vending Machine ในกรุงปักกิ่ง หรือกระทั่งบริการแชร์แท่นชาร์จโทรศัพท์มือถือ เครื่องผสมคอนกรีต ฯลฯ ก็มีให้บริการแล้วด้วย
ปัจจัยที่ทำให้จีนประสบความสำเร็จ และกลายเป็น Sharing Economy ที่มีความหลากหลายนั้น James Pennington ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระบุว่า อาจมาจากผู้บริโภคชาวจีน ที่กล้าเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ ๆ ได้ง่าย จากตัวเลขผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนราว 980.6 ล้านคนของจีนนั้น เฉพาะในปี 2016 ปีเดียว มีผู้บริโภคใช้บริการอย่างอาลีเพย์ (Alipay) และวีแชทเพย์ (WeChat Pay) ในการทำธุรกรรมทางการเงินแล้วกว่า 195 ล้านคน ขณะที่สหรัฐอเมริกามีเพียง 37 ล้านคนเท่านั้น
ที่มา : manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000074497