ณวัฒน์ ปั้น “มิสแกรนด์” ฟื้นชีพเวทีขาอ่อน “ธุรกิจนางงาม ก็เหมือนกับทีมฟุตบอล”

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ คนไทยให้ความสนใจกับเวทีนางงามมากขึ้น เพราะด้วยการแชร์ต่อกันบนโลกออนไลน์ อีกทั้งรูปแบบการประกวด ทั้งเวที รวมถึงคอนเทนต์ต่างๆ มีความน่าสนใจมากขึ้น กลายเป็นอีกหนึ่งรายการที่คนไทยตั้งตาเพื่อเชียร์ประเทศตนเอง เหมือนกับการดูฟุตบอลทีมชาติ

เวทีใหญ่ที่คนไทยนิยมดู ได้แก่ มิสไทยแลนด์เวิลด์ และมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ล้วนเป็นเวทีที่ได้รับลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ ปัจจุบันความนิยมของเวที “มิสแกรนด์ไทยแลนด์” ก็เริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้น เพราะด้วยกระแสหลายอย่างบนโลกออนไลน์ ทั้งชุดประจำจังหวัด และการแนะนำตัวของผู้เข้าประกวดที่ใส่จริตนางงามอย่างเต็มที่ จึงมีการติดตามชมมากขึ้นทุกปีๆ

เวทีมิสแกรนด์ฯ ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2555 เป็นเวทีประกวดระดับประเทศที่รวมนางงามทั้ง 77 จังหวัดเพื่อหาผู้ชนะได้ตำแหน่งมิสแกรนด์ไทยแลนด์ ไปประกวดมิสแกรนด์อินเตอร์เนชันแนลในต่างประเทศต่อไป

หัวเรือใหญ่ของเวทีนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ณวัฒน์ อิสรไกรศีล พิธีกร ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ กับบทบาทผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการกองประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ รวมถึงการเป็นประธานและผู้ก่อตั้งเวทีการประกวดระดับนานาชาติ มิสแกรนด์อินเตอร์เนชันแนลด้วย

ณวัฒน์ อยู่ในวงการเวทีขาอ่อนนี้มา 12 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้เคยบริหารเวทีมิสไทยแลนด์เวิลด์ แต่ช่อง 3 ให้ผู้อื่นบริหารต่อ เขาจึงมีแนวคิดต้องการออกมาสร้างเวทีประกวดเอง เพื่อต้องการปฏิวัติวงการนางงามให้ดีมากขึ้น โดยเฉพาะการต่อยอดธุรกิจ “นางงาม” ให้ได้รับความนิยมหลังผ่านเวทีประกวดไปแล้ว

“จุดเริ่มต้นที่เริ่มทำเวทีมิสแกรนด์ฯ เริ่มจากคิดว่าทำให้มันตอบโจทย์การประกวดนางงามมากที่สุด แต่เดิมมันเป็นธุรกิจที่ย่ำแย่ ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันที่ชัดเจน ประกวดแล้วไปไหนก็ไม่รู้ ชนะกันทุกปี แต่ชีวิตนางงามก็เงียบหายไป พอดีเคยมีประสบการณ์ผ่านเวทีประกวดนางงามอย่างมิสไทยแลนด์เวิลด์มาพักใหญ่ เลยรู้สึกว่าธุรกิจนี้กำไรดี แต่คำว่าประสบความสำเร็จไม่ได้ดูแค่ตัวเลขอย่างเดียว แต่ต้องดูจากชื่อเสียง และความนิยมด้วย เราขายของได้แต่คนไม่ค่อยรู้จัก คนไม่ค่อยนิยม เลยมาปฏิวัติการประกวดอีกรอบหนึ่งให้เข้าสู่ชุมชนได้ทั้งหมด”

การที่ณวัฒน์อยู่ในวงการนี้มายาวนาน แพชชันสำคัญที่ทำให้เขาสนใจธุรกิจนี้คือ อยากพิสูจน์ให้เห็นว่าธุรกิจนางงามสามารถทำเป็น เอ็นเตอร์เทนเมนต์ บิสสิเนส อีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถสู้กับอีเวนต์อื่นๆ เช่นการแข่งขันร้องเพลง และสิ่งอื่นที่มีชื่อเสียงได้ถ้าเราปรับปรุงรูปแบบและตั้งใจทำจริง

ถึงแม้ไอเดียของเขาจะไม่ใช่ เพราะส่วนใหญ่คนไทยมักจะเน้นค่านิยมสินค้าตะวันตก ทุกคนนึกถึงแต่มิสเวิลด์ มิสยูนิเวิร์ส แต่โลกาภิวัตน์กำลังเปลี่ยนไป ถ้าสามารถทำจริงๆ ของๆ เราก็ไม่แพ้ใคร

ปรากฏว่าแนวคิดของเขาได้การตอบรับจาก “ช่อง 7” ที่ถือเป็นพันธมิตรคนสำคัญ และต่อยอดแนวคิดของเขาให้เป็นจริงได้

เวทีประกวด มิสแกรนด์ไทยแลนด์ จึงถือกำเนิดขึ้น โดยณวัฒน์วาง “จุดยืน” ที่แตกต่าง เน้นให้ทุกคนมีส่วนร่วม และที่สำคัญนางงามยืนหยัดในวงการได้ และปรับโปรดักชันต้องยิ่งใหญ่ไม่ด้อยกว่าคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ และเปลี่ยนจากเดิมที่มักจะจัดประกวดตอน 2 ทุ่ม และออกอากาศตอน 5 ทุ่ม คนรู้ผลล่วงหน้าก็ขาดความตื่นเต้น มาถ่ายทอดสด 100% เพื่อสร้างกระแสความสนใจให้คนติดตาม เขาเชื่อว่าเปลี่ยนจากรายการเวทีนางงามเรตติ้งต่ำ ให้ผู้ชมหันมาดูการประกวดมากขึ้น

“จุดยืนสำคัญของเวทีนี้สำหรับนางงาม ต้องให้มีชีวิตอยู่ในวงการบันเทิงให้ได้ เพราะจากเดิมแล้วนางงามจะดังเพียงแค่ไม่กี่เดือน แล้วก็หายไป มาเจออีกทีตอนอำลาตำแหน่ง เพราะไม่สามารถเดินไปตามทางที่มั่นคงได้ เช่น นักแสดง นักร้อง หรือทำอะไรให้อยู่ในกระแสอย่างพรีเซ็นเตอร์ เลยวางจุดยืนไว้เป็นสิ่งสำคัญหลังการประกวดจบ เป็นโจทย์ร่วมกับช่อง 7 ที่ร่วมกันหานักแสดงต่อด้วย น้องก็มีชื่อเสียงในการทำงานอย่างอื่น”

ผุดโมเดลเมืองล้อมป่า หานางงาม 77 จังหวัด สร้างฐานแฟนคลับ

นอกจากนี้ ตัวนางงามเอง ใช้ระบบการคัดเลือกจาก 77 จังหวัด โดยให้ทุกจังหวัดจัดประกวดพื่อหาตัวแทนที่เป็นสาวงาม ผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะมีตำแหน่งมิสแกรนด์และตามด้วยชื่อจังหวัด เช่น มิสแกรนด์กระบี่ จากนั้นก็มาประกวดเวทีใหญ่เพื่อหามิสแกรนด์ไทยแลนด์

ในการคัดเลือกจาก 77 จังหวัด จะอยู่ในรูปแบบของการขาย แฟรนไชส์ ให้กับผู้ที่ทำธุรกิจอีเวนต์ หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์ในแต่ละจังหวัด นำไปจัด เวทีประกวด ตามข้อตกลงต่างๆ มีสิทธิ์ในการหาสปอนเซอร์ได้

การใช้โมเดลดังกล่าว นอกจากจะต่อยอดเป็น “ธุรกิจ” ในรูปแบบของ “แฟรนไชส์” ให้กับผู้ที่สนใจในจังหวัดต่างๆ ยังสามารถนำรายการไปสร้างการรับรู้ในระดับชุมชน ให้คนในจังหวัดได้มีส่วนร่วม ส่วนนางงามเองจะมีฐานแฟนคลับคอยเชียร์ คล้ายกับระบบทีมฟุตบอลแต่ละจังหวัดที่คนในจังหวัดคอยสนับสนุน

ทำให้เวทีนางงามเองเวลานี้ก็เปลี่ยนแปลง มีแฟนคลับมาเชียร์ นางงามมีแฟนคลับ มีป้ายไฟ จากที่แต่ก่อนไม่เคยมีกองเชียร์ มีแต่ญาติมาเชียร์ ตอนนี้ฐานแฟนคลับเยอะ

“แต่ก่อนการประกวดนางงามเป็นแค่เรื่องบุคคล ต่างคนต่างมาสมัคร เลยคิดว่าทำอย่างไรให้เป็นเรื่องของคนหมู่กว้าง เลยกลายเป็นระบบ 77 จังหวัด ให้คนในจังหวัดได้ภูมิใจว่านี่คือตัวแทนของเขา เหมือนคนประกวดแบกความหวังของคนในจังหวัด และคนในจังหวัดก็ดันหลังเขา ให้ทุกคนมีส่วนร่วมฮึกเหิมขึ้น”

ในแต่ละปีจะมีผู้สมัครจากทั่วประเทศ 3,000-4,000 คน เก็บตัวเหลือ 20 คน/จังหวัด ประมาณ 1,400 คน เก็บตัวช่วยเหลืองานจังหวัดต่างๆ และได้ผู้ชนะมาประกวดที่เวทีใหญ่

พบว่าบางจังหวัดมีการประกวดที่ใหญ่มาก ได้เงินรางวัลกันเยอะ บางจังหวัดได้ถึง 2 แสน และโชว์บนเวทีมากมาย ทำให้แต่ละจังหวัดมีช่องทางได้โปรโมตของตัวเอง เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วม และมีความนิยมมากขึ้น มีศักยภาพ และให้ความสำคัญกับการประกวด

นางงามต้องพร้อมต่อยอด

จากที่ณวัฒน์ได้อยู่ในวงการนี้มานาน ได้เห็นนางงามหลายต่อหลายรุ่น ได้เห็นวิวัฒนาการของนางงามตั้งแต่ยุคก่อนจนถึงยุคปัจจุบันว่ามีคุณภาพ มีความสามารถมากขึ้น ไม่ใช่แค่มีหน้าตาสวยอย่างเดียว

“นางงามยุคนี้จะเห็นถึงคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิมเยอะ มีความตั้งใจที่ต้องการเป็นตัวแทนจังหวัด และคุณสมบัติหลากหลาย ร้องเพลงได้ เป็นพิธีกรได้ เป็นนักแสดงได้ คุณสมบัตินี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะแค่สวยมาแล้วยืนนิ่งๆ ก็ไม่ได้ ต้องสกรีนที่คุณภาพ ดูความคิด การแก้ปัญหาของตัวนางงามด้วย

ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ผู้หญิงพร้อมใช้” เพื่อต่อยอดไปสู่อาชีพ เช่น นักแสดง นักร้อง ตามที่ณวัฒน์ได้วางแนวทางทางไว้ ซึ่งแต่ละคนจะมีฐานแฟนคลับคอยติดตามอยู่แล้ว

นางงามที่ได้รับตำแหน่งเฉลี่ยปีละ 6 คน ได้จับเซ็นสัญญาเข้าบริษัท มิสแกรนด์ ไทยแลนด์ จำกัด จะทำหน้าที่เป็นโมเดลลิงหางานให้ มีพี่เลี้ยงดูแลให้ทั้งหมด สัญญามีระยะเวลา 5 ปี เมื่อหมดสัญญาจะดูเป็นรายบุคคลอีกที รวมทั้งบางคนก็มีโอกาสได้เซ็นสัญญากับช่อง 7 ด้วย

ลงทุนมากขึ้น สปอนเซอร์มากขึ้น

ในเรื่องตัวเลขการลงทุน สำหรับเวทีใหญ่มีการลงทุนเฉลี่ย 20-30 ล้านบาท/ปี มีเรื่องการเก็บตัว มีโชว์การแสดง รอบชุดประจำชาติ รอบเก็บตัวต่างจังหวัด และไฟนอลโชว์ ในแต่ละปีมีเสียงตอบรับจากผู้สนับสนุนและคนดูดีขึ้น เรตติ้งดีขึ้น มีการลงทุนเพิ่มขึ้นทุกปี สถานที่จัดงานใหญ่ขึ้น โปรดักชันดี เงินรางวัลก็มากขึ้น

ส่วนโมเดลการหารายได้ของเวทีมิสแกรนด์ฯ แบ่งเป็น 4 ส่วนหลัก ได้แก่ โฆษณา อีเวนต์ (สปอนเซอร์จ่ายเพื่อได้ทำกิจกรรม) แฟรนไชส์ และขายบัตรเข้าชม ซึ่งบัตรเข้าชมมีราคาตั้งแต่ 1,000-8,000 บาท มีสปอนเซอร์เฉลี่ย 15-20 ราย/ปี ส่วนใหญ่สปอนเซอร์ก็ซื้อทั้งอีเวนต์และโฆษณา

“ลำพังแค่ขายโฆษณานาทีละ 4 แสน ให้ลูกค้าได้ 2 นาทีก็ได้แค่ 8 แสน คิดว่าจะทำยังไงให้ขายได้ 3 ล้าน ก็ต้องเอาอีเวนต์เข้าไปร่วม บางทีก็ขายพรีเซ็นเตอร์ด้วย คนชนะก็เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้แบรนด์ได้”

ชุดประจำจังหวัด-แนะนำตัว จำเป็นต้องเล่นใหญ่ ?

จากที่มีกระแสบนโลกออนไลน์ถึงเรื่องชุดประจำจังหวัดของผู้เข้าประกวดที่มีคอสตูมอลังการ รวมถึงจังหวะการแนะนำตัวของแต่ละคนที่มีการเล่นใหญ่เล่นโต ใส่จริตจนนางงามระดับโลกยังต้องอาย

จริงๆ แล้วทั้ง 2 ช่วงนี้ไม่มีเบื้องหลัง หรือการพยายามในการแสดง แต่ทุกคนต้องเล่นใหญ่เพื่อให้ทุกคนจดจำได้

“ชุดประจำจังหวัด และการแนะนำตัว เป็นธรรมชาติของการประกวดอยู่แล้ว หลายคนมองว่าเป็นผู้หญิงแหกปากเสียงดัง นั่นคือความคิดของคนรุ่นเก่า แต่คนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้อยากทำอะไรต้องทำได้ ทำให้คนเข้าใจเขาได้ ไม่มีการกำหนดว่าต้องทำแบบนี้ๆ แต่ที่ต้องพูดขนาดนั้นเพราะต้องสู้กับเสียงเชียร์ เสียงเชียร์ข้างล่างดังมาก เสียงกริ๊ดตลอด กลายเป็นต้องเสียงดัง เสียงตะโกนและเล่นใหญ่ เล่นใหญ่ไม่พอต้องมือไม้มาอีก ต้องเพิ่มอยู่ตลอด ต้องทำอย่างไรให้คนจำคุณและจังหวัดได้ เพื่อความมั่นคงของจังหวัด”

โกอินเตอร์

ในอนาคตเวทีมิสแกรนด์ฯ ยังคงต้องเพิ่มดีกรีความน่าสนใจให้มากขึ้น และต้องรักษามาตรฐานให้คงที่ ต้องการขยายไปต่างประเทศให้มากขึ้น

“พูดถึงความท้าทายของการทำเวทีนี้ ตอนนี้ถึงจุดที่พอใจระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องฟิตแอนด์เฟิร์มเรื่อยๆ เมื่อจุดติดแล้วก็ต้องรักษาฐานเสียงในความชอบ ความนิยม และทำให้ดีกว่านี้ เพราะยังไม่ถึงจุดที่สุด เพิ่งเริ่มต้นแค่ไม่กี่ปี และไม่อยากดังในประเทศไทย เรากำลังดูในเออีซีเป็นหลักด้วย กำลังขยายไปลาว กัมพูชา ประเทศเหล่านี้ขายลิขสิทธิ์แกรนด์อินเตอร์อยู่แล้ว แต่อยากลงไปทำเวทีเล็กๆ เพื่อขยายฐานเสียงให้กว้างขึ้น หัวใจสำคัญของการจัดการประกวดคือความคิดต้องแตกต่าง และการตลาดให้การยอมรับเพื่อให้สปอนเซอร์สนับสนุน”

ในต่างประเทศมีการขายแฟรนไชส์เช่นกัน เป็นเวที มิสแกรนด์อินเตอร์เนชันแนล แต่จะเป็นบริษัทดูแล ขายประเทศละ 1 ลิขสิทธิ์ ตอนนี้ไป 90 ประเทศแล้ว

ถึงแม้เวทีมิสแกรนด์ไทยแลนด์จะประสบความสำเร็จ แต่ยังมีอุปสรรคอยู่ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของทัศนคติของคนไทย

“อุปสรรคคือการให้ความรู้คนให้เข้าใจบริบทของการประกวด และการเปลี่ยนแปลง และอีกอย่างหนึ่งคืออุปนิสัยของคนไทยบางคนที่มักไม่ชอบนิยมความสามารถของคนไทยด้วยกัน และไม่ยอมรับในแบรนด์ที่เติบโตจากคนไทย บูชาแบรนด์ต่างชาติ เวทีต่างชาติยังไม่ทำอะไรเลยก็จะชม แต่เวทีคนไทยทำอะไรหน่อยก็ด่า นี่คือทัศนคติที่ติดลบทำให้ประเทศไทยพัฒนาช้า จึงเป็นเหตุผลที่เอาเวทีแกรนด์อินเตอร์เนชันแนลไปไว้ต่างประเทศ ปีที่แล้วไปอเมริกา ปีนี้ไปเวียดนาม ให้คนไทยไม่ต้องเห็นนานๆ เผื่อจะชื่นชอบ ต้องแก้ตามโจทย์ของทัศนคติคนไทย”

สุดท้ายแล้วณวัฒน์มองว่า เวทีมิสแกรนด์ฯ ยังมีอะไรสนุกๆ ให้ทำอีกเยอะ เวลานี้หลายคนขอเป็นพาร์ตเนอร์ แต่ยังไม่อยากให้ใครมาร่วม เพราะยังอยากปั้นให้สำเร็จด้วยตัวเองก่อน เดี๋ยวคนจะมองว่าไปได้ดีด้วยคนอื่น