ปรับเกมสู้ศึก ! กลุ่มกระทิงแดงฮึด เปิดแผน 5 ปี ควัก “หมื่นล้าน” ลงทุนหนักในรอบ 61 ปี ปั๊มรายได้แสนล้าน

นับเป็นการเปิดเกมรุกครั้งใหญ่ในรอบ 61 ปีของ “กระทิงแดง” หลังจากเน้นทำธุรกิจแบบ “โลว์ โปรไฟล์” มาตลอด แต่ด้วยเกมการแข่งขันอันเข้มข้น จากทั้งแบรนด์ในแบรนด์นอก และไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยนไป ได้เวลาที่ตระกูล อยู่วิทยา ต้องปรับกลยุทธ์การทำตลาด พร้อมกับควักเงินลงทุนก้อนใหญ่ ในการบุกขยายไปต่างประเทศ เพื่อผลักดันธุรกิจให้โตไปอีกขั้น ภายในช่วงเวลา 5 ปี ต่อจากนี้

กระทิงแดง เครื่องดื่มชูกำลังภายใต้บริษัท ที.ซี. ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด ที่ก่อตั้งโดย “เฉลียว อยู่วิทยา” ปัจจุบันทายาทรุ่นที่ 2 เข้ามาบริหาร โดยมี สราวุฒิ อยู่วิทยา เป็นแม่ทัพใหญ่ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม TCP

ภายใต้ธุรกิจกลุ่ม TCP ที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารบริษัทอื่นๆ และแบรนด์ในเครืออีกมากมาย ประกอบด้วย 4 ธุรกิจ ได้แก่ 1. บริษัท ที.ซี. ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตสินค้าของกลุ่มกระทิงแดง 2. บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด รับผิดชอบในการทำตลาดและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกระทิงแดง 3. บริษัท ที.จี. เวนดิ้ง แอนด์ โชว์เคส อินดัสทรีส์ จำกัด บริหารจัดการตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติสำหรับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มและแบรนด์อื่นๆ และ 4. บริษัท เดอเบล จำกัด ดูแลการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มและแบรนด์อื่นๆ

จากแบรนด์กระทิงแดงที่เป็นพระเอกหลัก ได้ถูกขยายทั้งในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มตามเทรนด์ของผู้บริโภค ปัจจุบันมีแบรนด์ที่จำหน่ายในประเทศไทยและทั่วโลก 6 กลุ่ม รวม 8 แบรนด์ คือ 1. เครื่องดื่มชูกำลัง คือ กระทิงแดง เรดดี้ โสมพลัส และวอริเออร์ 2. เครื่องดื่มเกลือแร่ คือ สปอนเซอร์ 3. เครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริ้งก์ คือ แมนซั่ม 4. เครื่องดื่มชาพร้อมดื่ม คือ เพียวริคุ 5. เมล็ดทานตะวัน คือ ซันสแนค และ 6. หัวเชื้อเครื่องดื่ม คือ เรดบูลรสดั้งเดิม

เมื่อพอร์ตสินค้ามีครบแต่การแข่งขันก็นับวันก็ยิ่งดุเดือดขึ้น ถือเป็นความท้าทายขององค์กรที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือ เพราะตลาดในประเทศเองก็เน้นทำโปรโมชั่นลดราคา ตัดราคากัน ทำให้องค์กรต้องมีการปรับตัวมากขึ้น ต้องคิดไปทำไป อยู่เฉยไม่ได้ ได้เวลาที่กลุ่ม TCP จึงต้องเปิดเกมรุกบุกตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยจะได้ทุ่มงบ 10,000 ล้านบาท เปิดแผนการลงทุนใน 5 ปี (พ.ศ. 2560-2565) ถือเป็นการลงทุนใหญ่สุดในรอบ 61 ปีนับตั้งแต่ตั้งบริษัทมา

ไฮไลต์การลงทุนในเม็ดเงินจำนวนหมื่นล้านนั้นมีอยู่ 3 อย่าง คือ 1. เพิ่มฐานที่ตั้งสำนักงาน และโรงงานในต่างประเทศ เพื่อทำตลาดอย่างเต็มที่ 2. ขยายกำลังการผลิต และพัฒนาสินค้าให้หลากหลายมากขึ้น และ 3. การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล

สราวุฒิ อยู่วิทยา

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า “การลงทุนหมื่นล้านในช่วง 5 ปีนี้ ถือเป็นงบลงทุนสูงที่สุดในรอบ 61 ปีตั้งแต่ก่อตั้งมา จากปกติลงทุนเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท การลงทุนจะเน้นใน 3 ส่วน เรื่องการบริหาร พัฒนาสินค้า และการตั้งสำนักงานในต่างประเทศ จะเน้นลงทุนต่างประเทศมากขึ้นเพื่อขยายตลาดสร้างการเติบโต มีเป้าหมายมีรายได้ 100,000 ล้านบาทใน 5 ปีให้ได้”

อัพทีมบริหาร-ดึงมืออาชีพเข้าองค์กร

ขณะเดียวกันแผนลงทุนระยะยาว 5 ปีของกลุ่ม TCP จะให้น้ำหนักกับการ พัฒนาบุคลากร โดยการทุ่มเม็ดเงินในการลงทุนด้านนี้ถึง 100 ล้านบาท เพื่อลงทุนในเชิงการจัดโครงการฝึกอบรมบุคลากรตั้งแต่ระดับพนักงาน ปฏิบัติการ ไปจนถึงระดับผู้บริหาร เพื่อให้มีความแข็งแกร่ง และเข้าใจธุรกิจมากขึ้น

นอกจากนี้ยังได้เปิดรับทีมงานใหม่ๆ ที่เป็นมืออาชีพเพื่อมาเป็นทีมบริหาร ส่วนใหญ่มาจากสายอุปโภคบริโภค และสายเครื่องดื่มจากบริษัทไทย และบริษัทข้ามชาติ ทั้งนี้เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กรเพื่อใช้ในการบริหารงานในต่างประเทศได้

ขยายกำลังการผลิต-เติมพอร์ตสินค้า

หัวใจสำคัญของธุรกิจอีกอย่างหนึ่งก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของสินค้าที่จะเข้าถึงผู้บริโภค สราวุฒิมองว่า จาก 6 กลุ่มสินค้าที่กลุ่ม TCP มีอยู่ตอนนี้เป็นสินค้าที่ยังมีการเติบโตอีกมาก เป็นเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภค และก็ยังคงโฟกัสกับกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เน้น 3 กลุ่มหลักเป็นพระเอก ก็คือ เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ และฟังก์ชันนัลดริ้งก์

ในอนาคตจะมีพัฒนาสินค้าสูตใหม่ๆ รสชาติใหม่ๆ หรืออาจจะแตกกลุ่มใหม่ๆ ตามทิศทางของผู้บริโภค โดยในปี 2559 ที่ผ่านมาได้ใช้งบวิจัยและพัฒนาสินค้า 30 ล้านบาท ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ได้มีสินค้าใหม่ออกมาแล้วกว่า 9 รายการ

รวมถึงมีการลงทุนด้านโรงงานเพิ่ม เพื่อขยายกำลังการผลิตของโรงงาน เพราะปัจจุบันมีกำลังการผลิตในอัตรา 80-90% แล้ว จากจำนวนโรงงานที่อยู่ในประเทศไทย 2 แห่ง และที่ต่างประเทศ 3 แห่ง ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม และจีน มีกำลังการผลิตรวมกันมากกว่า 1,000 ล้านลิตรต่อปี ตั้งเป้าว่าจะลงทุนโรงงานในไทยอีก 1 แห่ง เพื่อเป็นฐานในการผลิตเป็นหลัก

ตั้งออฟฟิศในต่างแดน ล้วงลึกความต้องการผู้บริโภค

สราวุฒิเล่าว่า แผนที่วางไว้ในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ จะมีเปิดสำนักงานใหม่ และโรงงานใหม่อย่างน้อยปีละ 1 แห่ง แต่กำลังศึกษาอยู่ว่าประเทศไหนจะมีความพร้อมมากที่สุด โดยที่มีเป้าหมายที่จะทำให้กลุ่มธุรกิจ TCP เป็น “เฮ้าส์ออฟแบรนด์” มีสินค้าในเครือครบทุกกลุ่ม

สาเหตุที่ต้องตั้งสำนักงานในต่างประเทศนั้น เพื่อเป็นการศึกษาความต้องการ และพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ลึกซึ้งขึ้น โดยที่จะผลิตสินค้ากลางๆ แล้วจำหน่ายทุกประเทศไม่ได้อีกแล้ว เพราะพฤติกรรมแตกต่างกัน ยิ่งในยุคโซเชียลมีเดียด้วยแล้ว รวมทั้งยังสามารถทำการตลาดได้เต็มที่อีกด้วย จากเดิมที่ทำการตลาดร่วมกับพาร์ตเนอร์

ปั๊มรายได้แสนล้าน ส่งออกเพิ่มเป็น 80%

จากแผนที่วางไว้ใน 5 ปีของกลุ่ม TCP นี้ ได้ตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านบาทในปี 2565 จากปัจจุบันที่ตั้งเป้ามีรายได้ 30,000 ล้านบาท (สิ้นปี 2560) มีการเติบโต 8% สัดส่วนรายได้กลุ่มใหญ่ยังเป็นเครื่องดื่มชูกำลัง 68% เครื่องดื่มเกลือแร่ 20% และอื่นๆ 12%

ส่วนรายได้จากในประเทศคิดเป็นสัดส่วน 40% และรายได้จากการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 60% ปัจจุบันมีจำหน่ายใน 170 ประเทศทั่วโลกโซนที่มีความสำคัญก็คือโซนอาเซียน มีรายได้เกิน 50% ซึ่งตลาดอาเซียนยังมีการเติบโตได้อีกในตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง เพราะมีกลุ่มของประชากรที่มีอายุน้อยอยู่มาก คนกลุ่มนี้แอคทีฟ ใช้พลังงานสูง นิยมดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 80% ในปี 2565 ด้วย

ในตลาดยุโรปได้มีอีกบริษัทในการบริหาร คือ บริษัท เรดบูล จีเอ็มบีเอช ในประเทศออสเตรีย เป็นตัวแทนนำสินค้าเรดบูลจำหน่ายในตลาดยุโรป บริษัทนี้ครอบครัวอยู่วิทยาถือหุ้น 51% และนักธุรกิจชาวออสเตรียที่เป็นพาร์ตเนอร์ถือหุ้น 49%

ส่วนตลาดในประเทศจีนที่ได้ทำตลาดมา 20 ปี ตอนนี้ได้ทำการหยุดชะงักชั่วคราว เพราะอยู่ในช่วงรอยต่อของการเจรจาธุรกิจ เพราะเพิ่งหมดสัญญากับพาร์ตเนอร์รายเก่า โดยที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน