เปิดโมเดลฝ่าวิกฤต องค์กรต้องมีดีไซน์

“ว้าว…”

อุทานในใจเล็กๆ คำนี้ คือสิ่งที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้สื่อถึงเป้าหมายการทำธุรกิจในยุควิกฤตที่ท้าทายเช่นนี้ ว่า หากจะฝ่าฟันให้ถึงฝั่งฝันแล้วละก็… ควรจะทำให้ลูกค้าทุกคนอุทานทันทีเมื่อได้สัมผัสกับสินค้าและบริการ ว่า “ว้าว…”

ถามว่าแล้วจะทำให้ “ว้าว…” ได้อย่างไร รศ.ดร.พิภพ อุดร อธิบายธรรมศาสตร์โมเดลที่เคลมว่าคิดค้นขึ้นโดยคณาจารย์สำนักท่าพระจันทร์ ว่า “ต้องเป็นองค์กรที่มีดีไซน์” หรือจำง่ายๆ ว่า ATP +6

ดีไซน์ ไม่ใช่เพียงแค่ความสวยงาม แต่ต้องบูรณาการ 3 องค์ประกอบเข้าด้วยกัน คือ สุนทรียะ (A-Aesthetic) เทคโนโลยี (Technology) และกระบวนการ (Process)

โดยมี 6 ขั้นตอนเพื่อนำไปสู่บูรณาการดังกล่าว

1. Human-Centered ยึดคนเป็นศูนย์กลางในการทำธุรกิจ คนในที่นี้นอกจากลูกค้าแล้ว ยังหมายรวมถึงพนักงานในองค์กรด้วย เพราะถ้าพนักงานทำงานอย่างมีความสุข งานที่ทำก็จะออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ

2. Observation in Context สังเกตการณ์ในบริบทจริง

การทำแต่แบบสอบถามนั้น บางครั้งไม่สามารถเข้าใจพฤติกรรมหรือวิถีปรารถนาที่แท้จริงของลูกค้าได้ ดังนั้นวิธีที่เหมาะและง่าย คือ การทำ Customer Insight ด้วยการเข้าไปดูไปสังเกตลูกค้าด้วยตัวเอง เอาตัวเองไปยืนอยู่ในมุมของลูกค้า

3. Design, Research & Development ลงทุนในดีไซน์ วิจัย และพัฒนา

กระบวนการพัฒนาสินค้าเดิมนั้น เริ่มต้นด้วยการ R&D แล้วจึงมาคิดว่า จะผลิต ออกแบบ และทำตลาดอย่างไร แต่กระบวนการพัฒนาสินค้ายุคใหม่ต้องเริ่มต้นด้วยการออกแบบสินค้าให้มีดีไซน์พร้อมๆ ไปกับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งกระบวนการเช่นนี้เป็นการคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคเป็นฐานตั้งแต่ต้น

4. Team of Integration สร้างคนคิดทีมงานแบบบูรณาการ

การแก้ปัญหาทางธุรกิจในปัจจุบัน ไม่สามารถใช้องค์ความรู้จากศาสตร์เดียวได้อีกต่อไป ดังนั้นจึงต้องสร้างคนให้มีความรู้รอบด้าน และสร้างทีมงานให้มีความหลากหลาย เพื่อให้เกิดมุมมองที่หลายหลากในการดำเนินธุรกิจ

5. Rapid Prototyping สื่อสารด้วยต้นแบบด่วน

ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้การผลิตต้นแบบของผลิตภัณฑ์ไม่ใช่เรื่องยากและแพงอีกต่อไป ดังนั้นแต่ละองค์กรจึงควรมองหาเทคโนโลยีเพื่อสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์จากความคิดที่ร่วมกันระดมสมอง เพื่อนำมาตกผลึกและต่อยอดให้เกิดความสมบูรณ์ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

6. External Network ร่วมมือเครือข่ายเชี่ยวชาญภายนอก

การทำธุรกิจไม่จำเป็นต้องเก่งคนเดียวทุกเรื่องไป บางครั้งองค์กรหนึ่งอาจมีการจับมือจับไม้เป็นพันธมิตรกับอีกองค์กรหนึ่งเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางธุรกิจในเรื่องที่แต่ละองค์กรถนัด

และทั้งหมดนี้ คือ 6 ขั้นตอนซึ่งจำง่ายๆ ว่า HODTREN เพื่อนำไปสู่ความเป็นองค์กรมีดีไซน์ ที่ผสมผสานกระบวนการ เทคโนโลยี และสุนทรียะ เข้าด้วยกันอย่างลงตัว

เปิดสูตรรวยฉบับมหิดล

นาทีนี้ Trend เรื่องดีไซน์ดูจะมาแรงจริงๆ เพราะ MBA สำนักมหิดล ก็เสนอทางออกให้ธุรกิจด้วยดีไซน์เช่นกัน

“ถ้าไม่มีดีไซน์ สุดท้ายคงไปไม่รอด” ดร.ธนพล วีราสา ประธานสาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรม วิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ SMEs ไทยสามารถฝ่าวิกฤตไปได้อย่างยั่งยืน

นอกจากดีไซน์ (Design) แล้ว ยังมีอีก 2 ปัจจัยที่สำคัญ คือ ทักษะ (Skill) และเทคโนโลยี (Technology) ซึ่ง ดร.ธนพล สรุปมาจากจุดแข็ง (Strength) ของประเทศไทย ว่าคนไทยเก่งในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และมีทักษะในงานฝีมือที่ประณีตบรรจง

ส่วนจุดแข็งอีกประการที่หลายๆ คนยังไม่รู้ คือ ไทยมีงานวิจัยที่กองอยู่บนหิ้งมากมายนับร้อยนับพัน รอเพียงผู้มีความสามารถในเชิงธุรกิจที่จะนำองค์ความรู้บนหิ้งเหล่านั้นมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้น

“ผู้ประกอบการควรนำสินทรัพย์ (Asset) โดยเฉพาะงานวิจัยซึ่งเป็นสินทรัพย์ทางปัญญา นำมาแปลงให้เป็นทุน เพราะนักวิจัยอาจไม่ได้มองในเชิงพาณิชย์ เมื่อนักธุรกิจไปดูงานวิจัยก็ต้องมอง Business Model ให้ออก ว่าจะทำอย่างไร ผมว่าผู้ประกอบการรุ่นใหม่ต้องทำการบ้านแบบนี้ ไม่ใช่ขายอะไรดีก็ก๊อบกันไป… แล้วก็เจ๊งไปพร้อมกัน”

การผสมผสานดีไซน์ ทักษะ และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน จึงเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่ช่วยสร้างให้ธุรกิจมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ไม่ต้องกลัวการลอกเลียนแบบ และเป็นสูตรผสมที่สามารถสร้างธุรกิจให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

ใครที่มั่นใจว่าตัวเองมีครบสูตร… ก็เตรียมลาออกมาเป็นเจ้านายตัวเองเพื่อรอวันรวยได้เลย