ชำแหละสื่อ

หนึ่งในทางออกของการกู้วิกฤตการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การเลือกเสพสื่อให้เป็น ก็เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนในยุคนี้ ที่ต้องเลือกว่าจะอยู่ในสังคมแบบไหน เมื่อสื่อแต่ละค่ายก็มีจุดยืนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าสื่อสำนักไหนเลือกข้างฝ่ายใด ระหว่างขั้วอำนาจเก่า หรือยึดความถูกต้องเป็นเดิมพัน

เหลืองเข้ม

ค่ายผู้จัดการ ค่ายสิ่งพิมพ์ที่ได้ชื่อว่ามีสื่อมัลติมีเดียครบเครื่อง ทั้งทีวีดาวเทียม เว็บไซต์ ค่ายนี้ยึดแนวทางของ “สีเหลืองเข้ม” มุ่งเน้นความเป็นผู้นำทางความคิด โดยเลือกข้างความถูกต้องแบบสุดขั้ว โดยเชื่อว่าหากสังคมตกอยู่ในภาวะดำมืดดังเช่นที่เป็นอยู่ จากรัฐบาลฉ้อราษฎร์ ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ครอบงำสื่อมาตลอด จำเป็นที่จะต้องมี “สื่อ” ทำหน้าที่เป็นเทียนไขส่องทางให้สื่อทำหน้าที่เป็นกระจกเงาได้อย่างเต็มที่

โดยเฉพาะสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเข้าขั้นวิกฤต จำเป็นต้องมีสื่อทำหน้าที่เป็นผู้นำทางความคิด สะท้อนให้ประชาชนได้เห็นถึงความล้มเหลวของระบอบทักษิณ ตรวจสอบปัญหาการคอรัปชั่น ปัญหาการโกงกินของรัฐบาล และเชื่อมั่นในสถาบันกษัตริย์ เพราะเชื่อว่าจะเป็นทางออกเดียวของประเทศไทยที่จะก้าวพ้นกับวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้

ด้วยความคิดต่างแบบสุดขั้ว จนบางครั้งอาจดูหลุดกรอบไป เพราะฉะนั้นผู้ที่ติดตามจะต้องมีภูมิปัญญาที่เท่าทัน เพราะมักจะโดนวิจารณ์จากสื่อบางสำนัก ที่ยังคงยึดโยงอยู่กับอำนาจเก่า

เหลืองอ่อน

ส่วนค่ายที่มีแนวทางสีเหลือง ยึดหลักของความถูกต้องเช่นเดียวกับค่ายผู้จัดการ เพียงลดโทนลงมา ไม่สุดขั้วเหมือนกับค่ายผู้จัดการ คือ ค่ายหนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ เนชั่น แนวหน้า และคมชัดลึก

เนื้อหาของสื่อมวลชนทั้ง 4 ค่ายนี้ ชี้ชัดให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบอบทักษิณที่มีต่อประเทศไทย และนำความเคลื่อนไหวภายใต้แนวทางของกลุ่มพันธมิตรฯ เพียงแต่ไม่ถึงกับชี้นำในแบบค่ายผู้จัดการ โดยจะเน้นนำเสนอด้วยตรรกะของหลักศีลธรรม ทำให้แนวทางของหนังสือพิมพ์ทั้ง 4 ฉบับ เป็นค่ายสิ่งพิมพ์ที่มีแนวทางของการเป็นสื่ออิสระ หรือ Alternative

เสื้อสีแดง

ในขณะที่ค่ายผู้จัดการรับบทบาทของการเป็น “หัวหมู่ทะลวงฟัน” ยืนอยู่คนละฝั่งกับระบอบทักษิณ ค่ายบางกอกทูเดย์ และหนังสือพิมพ์ประชาทัศน์ ก็เป็นสื่อที่โดยเลือกข้างระบอบทักษิณอย่างชัดเจน

ยอดขายของสื่อทั้ง 2 ฉบับ ถือว่าไม่มาก ยิ่งประชาทัศน์ด้วยแล้ว จำนวนหน้าน้อยมาก และแทบไม่มีโฆษณา แต่ยังอยู่ได้ ก็เพราะได้ทุนสนับสนุน และถือหุ้นโดยนักการเมืองจากฟากรัฐบาลทักษิณ ที่ต้องการมีพื้นที่สื่อเพื่อใช้เป็นกระบอกเสียงให้กับระบอบทักษิณ
โดยสื่อทั้ง 2 ค่ายนี้ยังเชื่อมโยงอยู่เบื้องหลังการจัดทำเว็บไซต์เพื่อสนับสนุนทักษิณอีกด้วย และออกมาตอบโต้กับฝ่ายที่ต่อต้านระบอบทักษิณ เช่น ห้องราชดำเนิน

ถ้าดูเบื้องหลังของสื่อทั้งสองฉบับแล้วอาจไม่แปลกใจ ค่ายบางกอกทูเดย์นั้น ถือหุ้นโดยไพวงษ์ เตชะณรงค์ เจ้าของรีสอร์ต โบนันซ่า ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มบิ๊กจิ๋ว พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ โดยถือหุ้นร่วมกับ “พญาไม้” หรือ เผด็จ ภูรีปติภาณ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส เป็นอดีตลูกหม้อของหนังสือพิมพ์ข่าวสด ของขรรค์ชัย บุนปาน มารับหน้าที่เป็นแกนนำในการขับเคลื่อนบางกอกทูเดย์

พญาไม้ ได้ชื่อว่าเป็น“ล็อบบี้ยิสต์” ตัวยง ประสานได้หมด ทั้งทหาร ตำรวจ และนักการเมือง โดยที่มีความสนิทสนมกับทักษิณเป็นพิเศษ ทั้งเนื้อหาและบทบาทของบางกอกทูเดย์ จึงมุ่งเลือกข้างและเป็นกระบอกเสียงให้กับเครือข่ายทักษิณ และพร้อมจะตอบโต้คนที่อยู่คนละข้างกับเครือข่ายทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรฯ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือพรรคประชาธิปัตย์

การนำเสนอเนื้อหาของทั้งสองฉบับ มีลักษณะของ “สื่อเทียม” เนื่องจากไม่ได้มองที่ผลประโยชน์ของประเทศชาติ หรือประชาธิปไตย แต่ยึดตัวบุคคล คือ ทักษิณ ชินวัตร เป็นหลัก

อีแอบ

ค่ายมติชน เป็นสื่อที่ต้องการเป็นต้นแบบของสถาบันแห่งนักคิด ที่ยืนอยู่บนฐานวิชาชีพสื่อมวลชน มีความเชื่อในเรื่องระบอบประชาธิปไตยที่ปกครองโดยประชาชน ดังนั้นจึงเป็นที่รวมของนักวิชาการฝ่ายซ้ายเก่าเป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกันใครที่ติดตามอ่านมติชนสุดสัปดาห์ จะรู้ดีว่าค่ายนี้ทำตัวเป็นหัวหอกของแดงสวามิภักดิ์ ที่ไม่เอา “สีเหลือง”

ดูได้จากบทความของ เสถียร จันทิมาธร อดีตคนเตือนตุลา ซึ่งเป็นบรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ และเป็นเจ้าของคอลัมน์ “วิภาคแห่งวิพากษ์” ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน เคยวิพากษ์ “ป๋าเปรม” ที่เปิดทางให้เสนอนายกพระราชทาน เพราะว่าป๋าเปรมฯ หวังจะนั่งเป็นนายกฯ

คอลัมน์เดียวกันนี้ เคยเขียน กรณีปฏิญญาฟินแลนด์ เคยเอารูปกษัตริย์เนปาลซึ่งถูกประชาชนปฏิวัติ เอาขึ้นมาแล้วเขียนว่า เนปาล Case Study เหมือนกับตั้งใจจะบอกว่า เมืองไทยก็อาจอยู่ในสถานการณ์เดียว

และคอลัมน์นี้เอง ก็เคยได้รับคำชมจากอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่ให้นักข่าวการเมืองไปอ่านคอลัมน์ “วิภาคแห่งวิพากษ์” ของเสถียรมาแล้ว ซึ่งก็เป็นเพราะข้อความในคอลัมน์นี้คอยแก้ต่าง และสร้างความชอบธรรมให้กับทักษิณมาตลอด เช่น กรณีรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิร้าว ที่ใครก็รู้ว่าเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยเปิดสนามบินใหม่ๆ แต่ข้อเขียนของเสถียรกลับบอกว่าเป็นผลงานของ คมช.

ในแวดวงสื่อมวลชน ยังเป็นที่รู้กันดีว่า เสถียร นั้นแนบแน่นกับรัฐมนตรีและกลุ่มคนเดือนตุลา ที่อยู่ในฟากฝั่งอดีตนายกฯ ทักษิณ เกรียงกมล เลาหะไพโรจน์ กุนซือผู้อยู่เบื้องหลังงานมวลชน สมัยยังเป็นพรรคไทยรักไทย และยังสนิทชิดเชื้อกับภูมิธรรม เวชชยชัย คนเดือนตุลาด้วยกัน

ค่ายนี้ ยังมี สรกล อดุลยานนท์ เจ้าของคอลัมน์ หนุ่มเมืองจันท์ มีตำแหน่งบริหารงานข่าว ในมติชนสุดสัปดาห์ และประชาชาติ เป็นเจ้าของพ็อกเกตบุ๊ก อัศวินลูกที่ 3 ที่พูดถึงความสำเร็จทางธุรกิจของทักษิณมาตั้งแต่สมัยยังไม่เข้าสู่การเมือง สรกลนั้นสนิทชิดเชื้อกับทักษิณ และผู้บริหารของกลุ่มชินฯ เป็นอย่างดี โดยนำเนื้อหาประเภท Insight จากการร่วมโต๊ะรับประทานอาหารกับผู้บริหารของกลุ่มชินฯ มานำเสนอในคอลัมน์เสมอ

ด้วยบริบทที่แสดงออกของค่ายนี้ประหนึ่งให้คนในสังคมมีทางเลือกใหม่ แต่ความเป็นจริงแล้ว ก็ยังคงยึดโยงอยู่กับแนวคิดของทุนนิยมสุดขั้ว ภายใต้กลุ่มอำนาจเก่า จึงดูขัดแย้งกับภาพลักษณ์ของการเป็นหนังสือพิมพ์คุณภาพ และจรรยาบรรณยิ่งนัก

สื่อ 2 หน้า

สื่อที่มีการนำเสนอตามแนวทางที่เรียกว่า “สื่อสองหน้า” เป็นของค่ายหนังสือพิมพ์หัวสียักษ์ใหญ่ “ไทยรัฐ และเดลินิวส์” ที่เน้นกลุ่มคนอ่านจำนวนมาก หรือ Mass เนื้อหาข่าวประจำวันของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ 2 ค่ายนี้ นำเสนอความเคลื่อนไหวของทั้งกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มทักษิณฯ

ส่วนน้ำหนักฝ่ายไหนมากน้อยกว่ากัน จะขึ้นอยู่กับคอลัมนิสต์ในแต่ละวันว่าจะเลือกเชียร์ฟากไหน

เป็นที่รู้ดีว่า สื่อหัวสียักษ์ใหญ่อย่างไทยรัฐนั้น ถ้อยทีถ้อยอาศัยกับกลุ่มทักษิณมาตลอด แต่มาระยะหลังไทยรัฐพยายามเล่นบทสองหน้า ด้วยเนื้อหาข่าว รวมทั้งคอลัมนิสต์ในไทยรัฐ จะนำเนื้อหาขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัด เช่น ในคอลัมน์ ฉลามเขียว เชียร์ฟากทักษิณ แต่คอลัมน์การ์ตูนชัย ราชวัตร กลับยืนข้างกลุ่มกลุ่มพันธมิตรฯ

การนำเสนอข่าวสองหน้าแบบนี้ ไม่ได้ยึดหลักการใดๆ แต่เพื่อเหตุผลทาง “ธุรกิจ” ล้วนๆ เพราะไม่ว่าฝ่ายไหนชนะ ก็อยู่รอดได้
ถึงเวลาแล้วที่ผู้อ่านจะเลือกเสพสื่ออย่างถูกต้อง โดยต้องรู้เท่าทันว่าสื่อแต่ละค่ายนั้นมีจุดยืนต่างกันเพียงใด ระหว่างความถูกต้อง หรือสื่อที่ยึดอยู่กับระบอบทักษิณ เพราะงานนี้เรามีประเทศชาติเป็นเดิมพัน