บทความโดย : ดร.กุลเดช สินธวณรงค์
วันก่อนได้มีโอกาสอ่านนโนบายสนับสนุนการเปิดเสรีเรื่องวีซ่าเข้าประเทศไทยของรัฐ เนื้อหาส่วนหนึ่งก็คือการให้โอกาสชาวต่างชาติเข้ามาดำเนินการธุรกิจสตาร์ทอัพได้สะดวกง่ายขึ้นมาก ส่วนหนึ่งผมก็เห็นด้วยเพราะเป็นการเปิดรับแนวคิด knowledge sharing อย่างเต็มที่ในโลกยุคไร้พรมแดน อีกมุมหนึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ดีมากน้อยเพียงใด ตอนนี้เราพูดเรื่องสตาร์ทอัพกันเกร่อพอๆ กับการพูดเรื่อง 4.0 ส่วนใหญ่คนมักจะมองสตาร์ทอัพจากมุมที่ดีทันสมัย ทำให้สวยดูดีก็มีฮิปฮิตติดลมบน วันนี้เรามาลองดูกันนะครับว่าทำไมบางธุรกิจสตาร์ทอัพถึงไปไม่สุดหรือไม่ได้ประสบความสำเร็จ
สตาร์ทอัพในประเทศไทย เกิดขึ้นจากแนวคิดหรือไอเดียเจ๋งๆ ของคนคนเดียวหรือการรวมกลุ่มกันของคนไม่กี่คน ธุรกิจสตาร์ทอัพของเราเริ่มมาแรงแค่ 3-4 ปีที่แล้ว และที่เห็นประสบความสำเร็จทางภาพลักษณ์ก็มักจะมาจากคนไทยทำกันเองมากกว่าคนต่างชาติเข้ามาทำ ประเด็นคือ ตั้งแต่ยุคที่ความเร็วของอินเทอร์เน็ตครองเมือง ทำให้เกิดการเติบโตของสตาร์ทอัพสูง แต่เกิดมากก็แท้งมากเช่นกัน สตาร์ทอัพที่อยู่รอดจริงมีเห็นอยู่ไม่กี่ราย ไม่น่าจะถึง 5% ที่ยังประสบความสำเร็จและไปต่อได้ หลังจาก 3 ปีแรกทั้งจากการขาดผู้สนับสนุนเงินทุนที่แน่นอนว่าต้องเลือกลงเงินกับสตาร์ทอัพที่ตอบโจทย์เฉพาะทางกับธุรกิจเขาเองมากกว่าอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร มือถือ หรือมีเดีย หรืออีกเหตุผลคือ ไอเดียแรกเริ่มของธุรกิจสตาร์ทอัพพอเอาเข้าจริงไปไม่รอดเมื่อลงสู่ตลาด (คิดเก่งกับทำตลาดเก่ง มันไม่เหมือนกันครับ) สตาร์ทอัพยุคใหม่หลายชิ้นมักจะทำกันในรูปแบบที่วนไปเวียนมาไม่มีอะไรที่มีลักษณะ innovative เป็นกิจกรรมนอกกรอบแต่ไม่ค่อยตอบโจทย์ พูดง่ายๆ คือเราเริ่มจะมอง business model ที่มีคนคิดแล้วทั้งของคนไทยและคนต่างชาติ แล้วนำความสำเร็จ (รูป) มาต่อยอด มากกว่าการสร้าง original idea เช่นการพัฒนาแท็กซี่ไทยบนพื้นฐานแนวคิดบางส่วนแบบ Grab หรือ Uber หรือสารพัดแอพ อ่านหนังสือที่ในที่สุดก็จำกัดเฉพาะกลุ่มเพราะตีโจทย์เรื่องวัฒนธรรมการอ่านหนังสือของคนไทยจากการมองการอ่านแบบฝรั่ง
นักลงทุนที่เขาจะมาลงเงินกับธุรกิจสตาร์ทอัพมองผลกำไรเป็นหลักนะครับ สิ่งที่เขาคิดคือได้อะไรกลับมา (return) ได้มาเมื่อไหร่ (rate of return) และที่สำคัญ เขาจะจากไปอย่างไร (exit strategy) หรือถ้าอะไรไปได้ดี ก็คิดถึงอนาคตต่อยอดที่เป็นไปได้ร่วมกัน (diversification) ทั้งหมดนี้ นักธุรกิจสตาร์ทอัพไม่ควรปล่อยให้เขาคิดเอง แต่ควรคิดล่วงหน้าแล้วนำเสนอในลักษณะการทำ due diligence หรือการประเมินมูลค่าและทิศทางธุรกิจ แทนที่จะรอให้เขามาประเมินเรา ใครก็ทราบว่าธุรกิจสตาร์ทอัพส่วนใหญ่มีแต่ไอเดียดีแต่ไม่มีทุน อยากให้เขาหนุนเราก็ควรเลือกเขา อย่าให้เขามาเลือกเราด้านเดียว
ที่ผ่านมาเราอยากจะเปิดหรือสนับสนุนสตาร์ทอัพกันเยอะ แต่ปี 2016 ประเทศไทยได้ Global Innovation Index อันดับแค่ 52 (จาก 128) ตัวเลขนี้เขาวัดจากการสนับสนุน economic ecology เพื่อผลลัพธ์ทางนวัตกรรม และการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ อันดับที่ได้ยังต่ำพอสมควร แปลว่ายังต้องทำอะไรอีกเยอะ หลักๆ คือทั้งระบบต้องหนุนกันตั้งการศึกษา ธุรกิจ หน่วยงานรัฐ และตัวเราเอง
Facebook หรือ Google ทุกวันนี้กลายเป็น platform สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ ตอนนี้มันกลายเป็นระบบนิเวศของการทำงานไปแล้ว แต่การสร้าง (หรือมีแนวคิด) single gateway ผมคิดว่าไม่ได้แค่จำกัดการเข้าถึงหรือการเกิดของธุรกิจใหม่หรอกครับ แต่คือการทำแท้งโอกาสการเติบโตของทั้งระบบเศรษฐกิจเลย
ธุรกิจสตาร์ทอัพต้องเพิ่งความสามารถทางไอทีของคนเป็นสำคัญ แต่ผมบอกได้เลย ส่วนใหญ่เราไปโยนงานให้กับคนจบไอทีโดยตรงมาทำหน้าที่นี้ทั้งหมด ทั้งที่เจ้าของไอเดียต้องสามารถบรรเลงไอเดียตัวเองเบื้องต้นผ่านภูมิทัศน์ของเทคโนโลยีได้ดีกว่าคนทำไอทีสายตรงด้วยซ้ำ ไม่ว่าการเขียนเว็บซึ่งสมัยนี้ทำได้เองง่ายมาก ประหยัดเวลา เวลาซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ารองจากไอเดียสำหรับธุรกิจในยุคนี้
วัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของการซื้อหรือของการบริการภาคธุรกิจเราก็ควรกำหนดให้ชัด ว่าจะขายของหรือบริการในภาคส่วนไหน eBay ในเมืองไทย (หรือแม้แต่ Amazon) ก็พลาดให้ Aliexpress มาแล้วเพราะเรื่องความเข้าใจในวัฒธนรรมการซื้อ การกำหนดราคาและการสื่อสารกับผู้ขาย รวมทั้งระบบวิธีการได้มาซึ่งสินค้า คนไทยชอบอะไรง่ายๆเวลาซื้อของ ที่ระดับราคาหนึ่ง แต่คนไทยตัดสินใจจะซื้อจริงยากครับ ตัวเลขการซื้อออนไลน์ที่สูงขึ้นไม่ได้หมายความว่าสตาร์ทอัพได้ไปกินส่วนแบ่งกับเขาด้วยสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ที่ได้ไปก็เป็น C2C ทั้งนั้น รีเทลเจ้าใหญ่ที่โดดลงมาเล่นเท่าที่ดูไม่มีอะไรใหม่นอกจากเกาะกระแสไป (มีเพราะออนไลน์เพราะต้องมี ไม่มีไม่ได้ ทั้งที่เงินลงทุนสูงมากสำหรับองค์กรใหญ่ แต่นั่นคงไม่ใช่ประเด็นสำหรับคนมีทุน)
เราจะเริ่มเห็นการรวมตัวกันทางธุรกิจของกลุ่มสตาร์ทอัพจากทั้งไทยและเทศ (merger) ส่วนหนึ่งแน่นอนคือการซื้อโอกาสและ know-how ของตลาด แต่อีกส่วนหนึ่งคือมันไปต่อไม่ไหวถ้ายังเชื่อมันใน original idea ของเราเองแบบไม่ปรับตัว ก็ไปไม่รอด สองปีที่ผ่านมาเราเห็นการเกิด co-working space กันเยอะ แต่บางทีก็น่าคิดนะครับ ว่า co-working space แต่ละที่มี business model ที่นำเสนอผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอย่างไร และที่สำคัญคาดว่าจะคืนทุนเมื่อไหร่ หรือถ้าคุณเป็น venture capitalist หรือ angle investor (ที่ไม่ใช่ตัวคุณเอง พ่อแม่ญาติพี่น้อง) คำถามคือ คุณจะเอาเงินมาลงทุนในธุรกิจนี้อีกหรือไม่? ถ้ายังไม่แน่ใจในคำตอบ ไม่ว่าสตาร์ทอัพนี้หรือสตาร์ทอัพอื่นที่มีไอเดียดีแค่ไหน ทิศทางที่จะไปมันคงไม่ได้ง่ายเหมือนนโยบายของรัฐที่มีคนกำหนดครับ
ขอให้ทุกท่านโชคดีนะครับ
Profile
กุลเดช สินธวณรงค์
ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท จาร์เค็น จำกัด
ด้วยประสบการณ์ทำงานในการเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ในบริษัทดีไซน์มากว่า 15 ปี ซึ่งเป็นการผสมผสานการพัฒนาด้านความรู้ของบริษัท และเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ประสบการณ์ด้านความคิดสร้างสรรค์ มาผสมผสานกับกลยุทธ์ทางการตลาดและองค์ความรู้เพื่อทำให้บริษัทเติบโตและก้าวไปข้างหน้า การเป็นวิศวกร, นักออกแบบ, ครีเอทีฟ และเจ้าของกิจการจากการสั่งสมการทำงานที่มีความแตกต่างกันทั้งในสายอสังหาริมทรัพย์ ที่ดินและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง