รู้ไหมว่าประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าเพียงแค่ 31% ปตท. ร่วมกดปุ่มสตาร์ท “ต้นกล้าจิตอาสา รวมพลังศรัทธา ปลูกป่าทั่วแผ่นดิน”

“ดินและน้ำ ลมและฟ้า ป่าและเขา รวมกันเข้าคือทรัพย์สินแผ่นดินแม่ ฝากลูกไทยรวมใจภักดิ์รักดูแล เพื่อมอบแก่หลานเหลนไทยไปชั่วกาล”— คำขวัญวันแม่ประจำปี 2558

เมื่อ 56 ปีที่แล้วหรือในปี 2504 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ประเทศไทยเคยมีพื้นที่ป่าไม้ราว 171 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 53.33 เลยทีเดียว แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปได้เพียง 32 ปี ในปี พ.ศ.2536 พื้นที่ป่าของประเทศไทยกลับลดลงเหลือเพียง 83.47 ล้านไร่ หรือเพียงร้อยละ 26.03 ของพื้นที่ประเทศเท่านั้น แม้ต่อมา รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกสัมปทานทำไม้ในพื้นที่ป่าบกทั้งหมดหรือที่เรียกกันว่า “ปิดป่า” ในปี 2532 แต่สถิติของการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ทั้งก่อนและหลังมีการประกาศยกเลิกสัมปทานป่าก็ไม่แตกต่างกัน เนื่องจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการใช้ทรัพยากรป่าไม้อย่างไม่มีประสิทธิภาพในอัตราที่สูงมาก ส่งผลให้ป่าไม้ของประเทศไทยเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ ทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพ 

ปัจจุบัน พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยเหลืออยู่ราว 102 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31.58 ของพื้นที่ประเทศ และยังพบว่าทรัพยากรป่าไม้ของประเทศยังคงลดลง ทั้งนี้เมื่อเทียบกับประเทศประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศที่พัฒนาแล้วในเอเชีย อย่างเช่น มาเลเซียมีพื้นที่ป่าไม้ ร้อยละ 59.50, อินโดนีเซีย ร้อยละ 46.46, เวียดนาม ร้อยละ 37.14, ญี่ปุ่น ร้อยละ 67, เกาหลีใต้ ร้อยละ 63.20 [1] 

จะเห็นได้ชัดว่าทรัพยากรป่าไม้ของบ้านเราอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างหนัก และเป็นเหตุของมหาอุทกภัยร้ายแรงที่สร้างความเสียหายให้ชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติอย่างร้ายแรง ดังมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2554 ทั้งๆ ที่เป็นที่ทราบกันดีว่าการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า การแผ้วถางเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและปลูกพืชเชิงเดี่ยว การลดลงของทรัพยากรป่าไม้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติ ได้แก่ ความแห้งแล้ง วาตภัย และอุทกภัย และส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศชาติ และนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก

ด้วยเหตุนี้เอง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (ปตท.) จึงร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ศปทส.ตร.) กำหนดจัดกิจกรรม “ต้นกล้าจิตอาสา รวมพลังศรัทธา ปลูกป่าทั่วแผ่นดิน”โดยได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธทั้งประเทศ เป็นองค์ประธานในพิธีประทานกล้าไม้มงคล เพื่อนำไปปลูกในทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย เป็นสัญลักษณ์ในการรวมพลังศรัทธาของคนไทย ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ สืบไป

โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชฯ ในมงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมายุ 90 พรรษา ในปี 2560 และสร้างความตระหนักรู้และปลูกจิตสำนึกถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ ให้เกิดขึ้นจริงโดยอาศัยพลังศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา และร่วมบูรณาการให้สอดคล้องกับนโยบาย “ประชารัฐ” ของรัฐบาล ในการป้องกันและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ อันจะมีส่วนช่วยลดภาวะวิกฤติด้านทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรน้ำ ลดภาวะโลกร้อน และภัยพิบัติทางธรรมชาติโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยใช้ป่าไม้เป็นฐาน

ในวันศุกร์ที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรม “ต้นกล้าจิตอาสา รวมพลังศรัทธา ปลูกป่าทั่วแผ่นดิน” ขึ้น ณ บริเวณตำหนักสมเด็จพระสังฆราช พุทธมณฑล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเสด็จเป็นองค์ประธาน

อนึ่ง นับตั้งแต่ ปี 2537 ที่ ปตท. ได้อาสาเข้าร่วมโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสทรงครองราชย์ ปีที่ 50 ขึ้น โดยพลิกฟื้นผืนป่า 1 ล้านไร่ จากเป้าหมาย 5 ล้านไร่ ของรัฐบาล และถวายโครงการฯ แด่ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไปเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2545 ปตท. ยังคงมีการดำเนินการปลูกและดูแลรักษาป่าอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน กว่า 1,160,418 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 56 จังหวัด กระจายทุกภูมิภาคของประเทศ

นอกจากนี้ในปี พ.ศ.2560 ยังมีการจัดตั้งสถาบันปลูกป่า ปตท. (PTT Reforestation Institute) ขึ้นเพื่อดูแลรักษาแปลงปลูกป่า ปตท. ที่ดำเนินการปลูกไปแล้ว ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์และยั่งยืน ที่สำคัญคือปลูกจิตสำนึกคนไทยให้รู้จักการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งกลุ่มคนรอบพื้นที่แปลงปลูกป่า และกลุ่มคนเมือง โดยตั้งเป้าว่าป่าที่ ปตท. ปลูกจะช่วยเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Sink) จากการการดำเนินการปลูกป่าของ ปตท. ทั้งหมดให้ได้ 2.1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีภายในปี พ.ศ.2565

หมายเหตุ : [1] List of countries by forest area, Wikipedia.org