คนส่วนใหญ่มักจะรับรู้ว่า ไทยนั้นติดอันดับของการเป็นประเทศยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจากการจัดอันดับของสำนักต่างๆ เช่น องค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (World Tourism Organization) ไทยติดอันดับ 3 ประเทศที่ทำรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก
แต่อาจมีไม่มากนักที่รู้ว่า 6 สนามบินหลัก ประกอบไปด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ศูนย์กลางการเชื่อมโยงผู้โดยสาร และขนส่งสินค้า ถูกจัดให้เป็น “เกตเวย์” หรือศูนย์กลางเชื่อมโยงผู้โดยสารและสินค้าในประเทศและต่างประเทศ มีการใช้งานเพิ่มขึ้น และแข่งขันกับคู่แข่งสนามบินในภูมิภาคนี้ได้อย่างน่าสนใจ
ดูจาก ดัชนี AOT Gateway Index ซึ่งรวบรวมปัจจัยต่างๆ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงผู้โดยสารและสินค้าในการเชื่อมโยง ผ่านการวิเคราะห์ ถึงส่วนประกอบที่สำคัญ
ในเดือนกรกฎาคม 2560 ดัชนี AOT Gateway Index อยู่ที่ระดับ 144.2 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 139.7 หรือ เพิ่มขึ้น 5.4% สะท้อนถึงประสิทธิภาพของการใช้ท่าอากาศยาน และความสามารถในการแข่งขันของ AOT ที่ยังคงเติบโตได้ดี
เมื่อดู Insight ให้ลึกขึ้น โดยหักเรื่องปัจจัยของฤดูกาล ดัชนี AOT Gateway Index ยังคงขยายตัว 0.7% เป็นผลมาจาก
1. ประสิทธิภาพการใช้ท่าอากาศยานของผู้โดยสารเพิ่มขึ้น โดยในเดือนกรกฎาคม 2560 จำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารทั้งภายในและระหว่างประเทศยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากสายการบิน low cost ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยในเดือนกรกฎาคม 2560 มีจำนวนเที่ยวบินของท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ขยายตัวต่อเนื่อง
- มีจำนวนเที่ยวบินขึ้น-ลงรวม 70,028 เที่ยวบิน ขยายตัว 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- เป็นเที่ยวบินในประเทศ 33,630 เที่ยวบิน ขยายตัว 6.4%
- เที่ยวบินระหว่างประเทศ 36,398 เที่ยวบิน ขยายตัว 4.7%
- เที่ยวบินของสายการบินต้นทุนต่ำโตในระดับสูง 11.3%
สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ในเดือนกรกฎาคม มีจำนวน 11.2 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารในประเทศ 4.7 ล้านคน ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 6.5 ล้านบาท
ในจำนวนนี้ เป็นผู้โดยสารต่างชาติที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานของ ทอท. 5.1 ล้านบาท ขยายตัว 7.7% ผู้โดยสารต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยมากที่สุด คือ จีน เกาหลีใต้ และอินเดีย
2. การใช้ท่าอากาศยานเพื่อขนส่งสินค้าทางอากาศ “เพิ่มขึ้น” ทั้งขาเข้าและขาออก สอดคล้องกับตัวเลขมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ ในเดือนกรกฎาคมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศทั้งขาเข้าและออกของสนามบิน ทอท.ทั้ง 6 แห่ง ในเดือนกรกฎาคม 2560 เพิ่มขึ้น อยู่ที่ 129,373 ตัน ขยายตัว 12.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้เป็นการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศขาเข้าและออกรวม 121,078 ตัน ขยายตัว 13.4% สอดคล้องกับมูลค่าการค้าของไทยที่เพิ่มขึ้น 14.3% หรือคิดเป็นมูลค่า 37,891 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
3. ความสามารถในการดึงดูดเป็น “เกตเวย์” ปรับตัวดีขึ้น เป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ความเชื่อมมั่นของนักลงทุนทั่วโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับที่สนับสนุนการเดินทางและขนส่งทางอากาศ
แต่การแข็งค่าของเงินบาทก็ส่งผลกระทบให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในไทยขยายตัวในอัตราลดลง
4. ความสามารถในการแข่งขันของ ทอท. ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานของ AOT อยู่ในระดับสูงกว่าท่าอากาศยานคู่แข่งในภูมิภาค โดยเฉพาะในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย
เมื่อดูจากจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศที่เดินทางผ่านทาอากาศยานทั้ง 6 แห่ง อยู่ที่ 6.5 ล้านคน สูงกว่าผู้โดยสารระหว่างประเทศของมาเลเซีย 4.3 ล้านคน และสิงคโปร์ 5.4 ล้านคน สะท้อนว่า ท่าอากาศทั้ง 6 แห่งของ ทอท. มีบทบาทสำคัญสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทย โดยเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญในการเดินทางและขนส่ง สนับสนุนให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทั้งในภาคการท่องเที่ยวและการค้าระหว่างประเทศ
เป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพของท่าอากาศยานของ ทอท. เพื่อยกระดับไปสู่ความเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวของอาเชียนและภูมิภาคเอเชีย
ค่าเงินบาทต้องตามใกล้ชิด
ถ้ามองในแง่เศรษฐกิจโดยรวมยังคงอยู่ในระดับที่สนับสนุนการเดินทางและการส่งสินค้าทางอากาศ โดยไตรมาส 2 ของปี 2560 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.7% แต่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงลดลงต่อเนื่อง จากความกังวลเรื่องน้ำท่วม ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน ปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้ายังทรงตัวระดังสูงไม่สอดคล้องกับรายได้ อาจสะท้อนทิศทางการบริโภคภาคเอกชนต้องชะลตัวลง และกระทบต่อการเดินทางภายในประเทศ
นอกจากนี้ยัง มีสถานการณ์ค่าเงินบาท ยังคงแข็งตัวต่อเนื่องอยู่ที่เฉลี่ย 33.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อาจส่งผลกระทบต่อการเดินทางของผู้โดยสารมาในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
คาดดัชนีเดือนสิงหาคมปรับตัวอยู่ที่ 146.5
ดังนั้น ทอท.คาดการณ์ว่า ดัชนี AOT Gateway Index ในเดือนสิงหาคม 2560 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 146.5 จากจำนวนเที่ยวบินและโปรโมชั่นของสายการบินต่างๆ ที่คาดว่าจะยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ
นอกจากนี้การค้าระหว่างประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่ราคาน้ำมันยังทรงตัวระดับต่ำ ส่งผลบวกต่อการเดินทางและขนส่งสินค้าทางอากาศ
แต่ก็ยังมีปัจจัยด้านลบ มาจากค่าเงินบาทของไทยที่ยังคงแข็งค่าขึ้นและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกยังไม่ชัดเจนอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางของผู้โดยสาร