Connectivity ยุทธศาสตร์เชื่อม “Big C” ทั่วอาเซียน

หากมองภาพใหญ่อาณาจักรไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น หรือ ทีซีซี กรุ๊ป ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” มหาเศรษฐีเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย ผู้กุมขุมทรัพย์ทางธุรกิจมูลค่า “หลายแสนล้านบาท” ครอบคลุมธุรกิจหลากเซคเตอร์ ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมและการค้า อสังหาริมทรัพย์ ประกันและการเงิน และกลุ่มธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร

ปัจจุบันกลุ่มที่ธุรกิจที่มีความเคลื่อนไหวสูงมาก มีประเด็นปรากฏบนหน้าสื่อเสมอจะเป็น 3 กลุ่มแรก ซึ่งมีทั้ง Big Deal ในการควบรวมและซื้อกิจการ มีการผุดอภิหาโปรเจกต์ เรียกว่าลงทุนแต่ละครั้ง พูดกันถึงเม็ดเงินหลัก “แสนล้านบาท”

และอีกหนึ่งที่เป็นดาวเด่น ต้องยกให้ “อุตสาหกรรมและการค้า” ภายใต้กลุ่มบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี และที่เข้ามาอยู่ในเครือประมาณ 1 ปี คือ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)

ที่บอกว่าเป็น “ดาวเด่น” เพราะกลุ่มนี้มีธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ “ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ” โดยต้นน้ำคือบีเจซี องค์กร 135 ปี มีโรงงานผลิตสินค้า โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์มากถึง 16 แห่งทั่วภูมิภาคอาเซียน เช่น ไทย เวียดนาม มาเลเซีย มีธุรกิจกลางน้ำทำหน้าที่จัดจำหน่ายและกระจายสินค้าในไทยและเวียดนาม ภายใต้ ภูไท ไทอัน ไทยคอร์ป เป็นต้น และปลายน้ำอย่างบิ๊กซี ในไทย ห้างค้าปลีก Cash and Carry เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ B’s mart ในเวียดนาม มีร้านสะดวกซื้อ M-point mart ในลาว

ทว่า ยุทธศาสตร์ล่าสุด “อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ต้องการเห็นการเชื่อมต่อ (Connectivity) การค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน โดยอาศัยธุรกิจปลายน้ำ “ค้าปลีก” มาเป็นหัวหอก และ “บิ๊กซี” คือ Roll Model ซึ่งทุกวันนี้การเชื่อมต่อการค้าบิ๊กซีในไทยจนถึงมือผู้บริโภคขาช้อปใช้เวลา 3 ชั่วโมง แต่โจทย์จากนี้ไป ทำยังไงจะเพิ่ม “ความถี่” ในการเข้าถึงการช้อปปิ้งได้มากขึ้น ย่นระยะเวลาจากจุดหนึ่งไปถึงจุดหนึ่งเหลือเพียง 30 นาที ไปจนถึง 1 ชั่วโมง !

ปัจจุบันบีเจซีมีธุรกิจค้าปลีกทุกรูปแบบ ทุกแบรนด์รวมกันกว่า 1,200 สาขาทั่วภูมิภาคอาเซียน เช่น มีบิ๊กซีกว่า 1,000 สาขาในประเทศไทย มีห้างเอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต 19 แห่ง ร้านสะดวกซื้อบีสมาร์ทกว่า 170 สาขา ในเวียดนาม ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมืองโฮจิมินห์ และมีร้านสะดวกซื้อ M-point mart จำนวน 23 สาขา ในประเทศลาว และเป็นเบอร์ 1 ในเวียงจันทน์ ซึ่งประเทศเหล่านี้ยังมีศักยภาพขยายสาขาได้อีกมาก

แต่การ Connectivity จากนี้ไปวางแผนให้ครอบคลุมประเทศกัมพูชา และมาเลเซียอีกด้วย โดยหมุดหมายที่จะเข้าไปปักธงเปิดสาขาจะต้อง “เชื่อมต่อ” กับการค้าชายแดนได้ โดยประเทศกัมพูชาเล็งทำเลทองในเสียมเรียบ พนมเปญ สีหนุวิลล์ ท่าเรือน้ำลึกแห่งเดียวของกัมพูชา และมีธุรกิจเกษตร และท่าเรือที่เจ้าสัวเจริญ ไปปักธงไว้ล่วงหน้านานแล้ว

ขณะที่ “มาเลเซีย” หมุดหมายใหม่เอี่ยมอ่องสำหรับ “ค้าปลีก” ของเจ้าสัวอย่างมาก ทว่า เมื่อประมาณ 1 เดือนที่แล้ว “เจ้าสัวเจริญ” ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าและรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากกษัตริย์มาเลเซีย ซึ่งในโอกาสนี้ ได้มีการทาบทามและแสดงความสนใจจากกษัตริย์มาเลเซียประสงค์ให้ “ทุนไทย” ของเจ้าสัวเข้าไปลงทุนที่นั่นด้วย

“เจริญ สิริวัฒนภักดี” ประธานกรรมการและกรรมการ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มบีเจซี มีการเข้าไปลงทุนในประเทศมาเลเซียตั้งแต่ปี 2509 โดยการซื้อกิจการโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว ตลอดจนโรงงานผลิตขนมขบเคี้ยวอื่นอีกหลายแห่งด้วย

เมื่อมีความสนใจจากเจ้าบ้าน เจ้าสัวจึงให้ทีมงาน “วิเคราะห์” ถึงทิศทางการนำธุรกิจค้าปลีกเข้าไปลงทุนในประเทศมาเลเซีย และยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะลงทุนเมื่อไหร่

หากมองภาพของทีซีซี กรุ๊ป ต้องยอมรับว่า มีฐานธุรกิจอยู่ “เกือบครบวงจร” โดยมีสินค้าอาหารและเครื่องดื่มทั้งชาเขียวโออิชิ ของเครือไทยเบฟไปทำตลาด มีสินค้าของเฟรเซอร์แอนด์นีฟ ที่ครองความเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มในบ้าน รวมถึง “ธุรกิจจัดจำหน่ายและกระจายสินค้า” ซึ่งเป็นกิจการ “กลางน้ำ” ดังนั้น หากมีบิ๊กซีเข้าไปก็จะครบวงจรปึ้ง! “ปลายน้ำ” มีหน้าร้านไว้ขายสินค้า

“อัศวิน” บอกว่า “ถ้ามีโอกาสไปเปิดห้างในมาเลเซีย ก็จะเป็นบิ๊กซี ซึ่งกำลังดูอยู่ เพราะเรามี Priority เยอะว่าจะไปมาเลเซียก่อน หรือเวียดนามก่อนดี เพราะต้องยอมรับว่าเรามีโครงสร้างภาระหนี้อยู่พอสมควร จึงต้องดูว่าไปลงทุนที่ไหนจะสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด อย่างเวียดนามสาขาห้างค้าปลีกเรายังมีน้อยอยู่ จะไปเวียงจันทน์ หรือพนมเปญ แม้กระทั่งรัฐกะลันตัน เกดะห์ (Kedah) หรือปะลิส (Perlis) ของมาเลเซีย ซึ่งบิ๊กซีกำลังวิเคราะห์ว่าจะนำเงิน 200-300 ล้านบาทไปลงทุนที่ไหนคุ้มค่าที่สุด”

การยกเม็ดเงินลงทุน 200-300 ล้านบาทมาพูด เพราะการเปิดสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตสำหรับบิ๊กซีขนาด 3,000-4,000 ตารางเมตร จะใช้เม็ดเงินในกรอบดังกล่าว 

นอกจากนี้ การลงทุนของบิ๊กซี จะไม่มองประเทศยุทธศาสตร์ (Strategic country) อีกต่อไป แต่จะมองเป็นหนึ่งเดียวคือ “เวทีการค้าอาเซียน” เท่านั้น

“Connectivity การเชื่อมต่อการค้าเราอยากให้ระยะเวลาส่งสินค้าจนถึงสุดท้ายแล้วจะต้องอยู่ในกรอบ 1-2 ชั่วโมงให้ได้ ซึ่งจะไปถึงตรงนั้นจะต้องรออีกระยะ แต่ตอนนี้เรามี E-commerce ที่กำลังดีไซน์ร้านค้าปลีกให้เหมาะสำหรับสั่งและส่งสินค้าผ่านออนไลน์ซึ่งในไทยยังทำไม่ครบทุกสาขา แต่การทำโมเดลนี้ไม่ต้องรอให้ไทยปรับแล้วเสร็จ แล้วไปทำต่างประเทศ เพราะเราจะทำไปพร้อมๆ กัน”

ปัจจุบันภาพการ Connectivity การค้าของบีเจซีและบิ๊กซี เป็นรูปร่างชัดคือการมีบิ๊กซี ที่จังหวัดอุดรธานี 3 สาขา รับลูกค้าจากเวียงจันทน์ มีบิ๊กซี 2 สาขาที่อุบลราชธานี รับลูกค้าจากปากเซ บิ๊กซี ปัตตานี รับลูกค้าจากมาเลเซีย เป็นต้น

ทั้งหมดเป็นการเชื่อมผู้บริโภคให้มาซื้อสินค้าจากอาณาจักร “เจ้าสัวเจริญ” จุดเดียวครบ !

ผู้อ่านคิดอย่างไร ลองวิเคราะห์หมากรบเจ้าสัวกันได้