คุณวรรณพร พรประภา ประธานจัดงานการประชุมทางวิชาการระดับภูมิภาค “2017 IFLA ASIA-PACIFIC REGIONAL CONGRESS” กล่าวว่า “ภูมิสถาปนิกเป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่สามารถช่วยคิดค้น วิเคราะห์ พิจารณา และค้นหาทางออกในการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมอันเป็นปัญหาที่สั่งสมมายาวนานได้ เช่น ภาวะโลกร้อน การสูญเสียสมดุลในระบบนิเวศ เพื่อพัฒนาเมืองน่าให้อยู่และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น นับเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย ที่ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง ในการจัดกิจกรรมการประชุมทางวิชาการระดับภูมิภาค “2017 IFLA ASIA-PACIFIC REGIONAL CONGRESS” ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวความคิด “BLUE, GREEN, AND CULTURE” อันจะสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกันระหว่างสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สังคมและวิถีชีวิต เพื่อเตรียมรับมือกับยุคโลกาภิวัตน์ ที่ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ซึ่งงานการประชุมทางวิชาการระดับภูมิภาคในครั้งนี้ นับเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ภูมิสถาปนิกจากหลากหลายประเทศได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้เชิงวิชาการ ร่วมกันพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เมืองมีความน่าอยู่และคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลกที่ดีขึ้น โดยในงานจะมีกิจกรรมการเสวนาอภิปรายในหัวข้อเรื่อง “Building a Better Future for Bangkok” อันประกอบด้วยผู้มีส่วนร่วมในการวางแผนและกำหนดนโยบายจากภาครัฐ และนักพัฒนาจากภาคเอกชน เพื่อแบ่งปันความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีต่อการพัฒนากรุงเทพฯในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น ต่อเนื่องด้วยกิจกรรมการเสวนาทางวิชาการโดยผู้เข้าร่วมที่มาจากสถาบันการศึกษาชั้นนำ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Harvard University’s Graduate School of Design, ภูมิสถาปนิกผู้ออกแบบ PTT Metro Park และภูมิสถาปนิกผู้ออกแบบ Yanghwa Riverfront Park in Seoul เป็นต้น อีกทั้งผู้ที่เข้าร่วมการประชุมยังมีโอกาสได้ท่องเที่ยวไปกับผู้เชี่ยวชาญที่จะให้ความรู้เชิงลึก ในงานออกแบบและประวัติศาสตร์ของสถานที่ท่องเที่ยวของไทย อาทิ แม่น้ำเจ้าพระยา เกาะรัตนโกสินทร์ และพื้นที่มรดกโลกของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา”
คุณพงษ์ศักดิ์ เหล่ามานะเจริญ นายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า “การรวมตัวกันของวงการภูมิสถาปนิกโลกจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ ปีเพื่อกระชับความสัมพันธไมตรีและต่อยอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างประเทศสมาชิก โดยจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพในแต่ละปี สำหรับประเทศไทยโดยสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมระดับโลก IFLA World Congress และ ระดับภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก IFLA APR Congress อยู่หลายครั้ง และในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ทางประเทศไทยโดยสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพต้อนรับภูมิสถาปนิกจากกว่า 17 ประเทศทั่วภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลกอีกครั้ง โดยการจัดงานในครั้งนี้มีความสำคัญกับวงการภูมิสถาปนิกไทยเป็นอย่างยิ่งเพราะนอกจากจะได้มีโอกาสแสดงมิตรภาพและความมีน้ำใจ ไมตรีของคนไทยแล้ว ยัง
มีโอกาสที่จะได้เผยแพร่ผลงานของภูมิสถาปนิกไทยที่ได้รังสรรค์ไว้อย่างสวยงามทั่วประเทศ และยังเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ทางการพัฒนาพื้นที่ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาเมือง ให้มีความยั่งยืนและรุ่งเรืองสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศในอนาคตภายใต้หัวข้อ BLUE, GREEN, AND CULTURE.
โดยผลสำเร็จของการจัดประชุมภูมิสถาปนิกระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี้ ไม่เพียงแต่จะตอกย้ำถึงความสำคัญของงานภูมิสถาปัตยกรรมในการพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่ระดับผู้นำในเอเชียแล้ว การที่ได้มีโอกาสต้อนรับภูมิสถาปนิกระดับแนวหน้าของโลก ให้ได้มาเห็นผลงานของภูมิสถาปนิกไทยและเห็นถึงแนวคิด จิตวิญญาณของการพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสร้างสรรค์ น่าอัศจรรย์ และยั่งยืน ตามแนวพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อีกด้วย”
ด้าน ดร.พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิก สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร พูดถึงวิสัยทัศน์ของวิชาชีพภูมิสถาปนิกที่มีต่อการพัฒนาสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมว่า “ภูมิทัศน์และภูมิสถาปัตยกรรม คือ ปรากฏการณ์ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ หากร่องรอยในรูปของภูมิทัศน์ที่มนุษย์กระทำให้ปรากฎอยู่บนผืนแผ่นดิน คือวัฒนธรรมที่แสดงถึงวิถีชีวิต ความสุนทรีย์ และความสุขของมนุษย์ในการอาศัยอยู่บนโลก ดังนี้ วิชาชีพภูมิสถาปนิกจึงสำคัญยิ่ง เพราะมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องการสร้างสรรค์เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์อาศัยอยู่
ในอนาคต ความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น การคุกคามอัฉริยลักษณ์บนพื้นที่ภูมิทัศน์วัฒนธรรมเดิมโดยมนุษย์เอง ก็ยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมในยุคหน้า แนวคิดการสอดประสานทรัพยากรบนพื้นโลกและมรดกทางวัฒนธรรมของพื้นที่ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรถูกนำมาคิดวิเคราะห์ร่วมกับการออกแบบให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น การออกแบบที่ “โน้มเข้าหาธรรมชาติ” มากขึ้น รวมทั้ง “ความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆทางภูมิสถาปัตยกรรม” จะช่วยชะลอการทำลาย ชะลอการสูญหายของมรดกทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ในขณะเดียวกัน ยังเป็นการเยียวยาและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ให้อยู่ร่วมกับสังคมมนุษย์ได้อย่างสมดุลย์”
การประชุมทางวิชาการระดับภูมิภาค “2017 IFLA ASIA-PACIFIC REGIONAL CONGRESS” จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 2-5 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค สุขุมวิท 22