เวทีนี้เจ้าสัวจอง

เซอร์ไพรส์กลางงาน คุยกับซี.พี. ครั้งที่ 4/2551 วันที่ 22 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา เมื่อ”ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานเครือซี.พี. ลงมาร่วมงานแถลงข่าว โดยไม่ได้นัดหมายมาก่อน จนทำให้ผู้บริหารและพีอาร์ต้องวิ่งวุ่นหาเก้าอี้ให้ “ท่านเจ้าสัว” นั่งตรงกลางบนเวทีกันจ้าละหวั่น

นับเป็นครั้งแรกที่คีย์แมนของซี.พี. ที่สร้างรายได้รวมกันกว่า 1 แสนล้านบาท กับ “ประธานธนินท์” บนเวทีแถลงข่าวเดียวกัน

ข่าวสารว่าด้วยเรื่องการเติบโตทางธุรกิจของซี.พี. ที่ซีอีโอแต่ละบริษัทในเครือ เตรียมข้อมูลมาแถลง ถึงทิศทางและเป้าหมายจึงต้องเปลี่ยนไป เมื่อระดับบิ๊กที่สุดจับไมค์ก็ต้องมีข่าวที่บิ๊กกว่าให้นักข่าวที่มานับ 100 คนในวันนั้น โดย 80% ของคำตอบจาก “ธนินท์” นั้นว่าด้วยเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ ท่ามกลางภาวะรัฐบาลที่กำลังเริ่มทำงาน และมีอดีตลูกเขยร่วมอยู่ในคณะรัฐมนตรี

เป็นการปิดปี 2551 ที่ “ธนินท์” ขอเคลียร์ความเกี่ยวพันกับการเมือง และขายไอเดีย เป็นผลให้ชื่อของซี.พี. ปรากฏเป็นข่าวในทีวีทุกช่อง และทุกเล่มบนหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นการแบรนดิ้ง บนฟรีมีเดียอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ข้อความที่ต้องการสื่ออาจไม่ได้เป็นไปตามแผนของพีอาร์เท่าไรนัก แต่ก็คือว่าคุ้ม

“ธนินท์” เริ่มพูดในทันทีที่ได้ไมโครโฟนว่า “ผมรู้กะทันหัน ไม่ได้เตรียมอะไรมาคุย” แต่ถึงแม้ไม่ได้เตรียมตัว แต่ “ธนินท์” ก็รู้ทางสื่อมวลชน เพราะบอกได้อย่างมั่นใจต่อด้วยว่า “ผมรู้ใจว่าคงถามว่าปีหน้าเศรษฐกิจมองอย่างไร” หลังจากนั้นกว่า 1 ชั่วโมง ไอเดียต่างๆ ของ “ธนินท์” ก็ออกมา ตั้งแต่ทฤษฎี 2 สูง มาจนถึงการให้กำลังใจ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นากยรัฐมนตรีในการทำงาน พร้อมกับตอกย้ำความเป็นมิตรกับทุกพรรคการเมือง

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “ธนินท์” ออกสู่เวทีสาธารณะ เพื่อพูดเรื่องราวเกี่ยวกับการเมือง และเศรษฐกิจ แต่นับได้อย่างน้อย 4 ครั้ง และทุกครั้งเป็นข่าวใหญ่ นอกเหนือจากการส่งขุนพลระดับซีอีโอในเครือมาให้ข่าวกับสื่อมวลชน ภายใต้ชื่องาน “คุยกับซี.พี.” ทุกไตรมาสตั้งแต่ 11 มีนาคม 2551 จนทำให้ซี.พี.สามารถชิงพื้นที่สื่อได้ทุกครั้ง

“ซี.พี.” เองก็รู้ดีว่าภาพลักษณ์ของการอาณาจักรธุรกิจที่ผู้บริหารเข้าถึงยากไม่เป็นผลดีนัก เพราะเวลานี้แบรนดิ้งเป็นเรื่องสำคัญ และเวลานี้ “ซี.พี.” มีธุรกิจหลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่ง “ธนินท์” ออกมาย้ำว่า ซี.พี.ต้องเพิ่มมูลค่าสินค้าให้มากขึ้น

แม้จะไม่มีใครไม่รู้จักชื่อของ “ซี.พี.” แต่การอยู่ในพื้นที่สื่อเป็นระยะ ๆ (ในแง่ดี) ถือว่าส่งผลดีต่อธุรกิจมากกว่า และเมื่อระดับ “ประธานธนินท์” ลงมาเองแบบนี้ จะไม่ให้ซี.พี.ดังยิ่งขึ้นได้อย่างไร

ซีพีเอฟ (บริษัทหลักในเครือซีพี) รายได้แสนล้าน ณ ไตรมาส3/2551
สินทรัพย์ 108,801.78 ล้านบาท
หนี้สิน 63,530.68 ล้านบาท
รายได้ 118,335.08 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 2,823.80 ล้านบาท
———-
ที่มา : ข้อมูลซีพีเอฟ แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย