AMD คัมแบ็ก ส่ง Ryzen บุกตลาดซีพียูโน้ตบุ๊ก ประเดิมจับ 3 กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาการที่อินเทล (Intel) ถือเป็นผู้นำในตลาดหน่วยประมวลผลสำหรับคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นในตลาดเดสก์ท็อป และโน้ตบุ๊ก แบบเบ็ดเสร็จ เนื่องจากคู่แข่งคนสำคัญอย่างเอเอ็มดี (AMD) กำลังอยู่ในช่วงการปรับโครงสร้างบริษัท ทำให้ไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ออกมาแล้วทำให้เกิดการแข่งขันเท่าที่ควร

จนในที่สุด เมื่อ AMD มีการปรับโครงสร้างองค์กรแล้วเสร็จ และกลับเข้ามาสู่ตลาดอีกครั้งจากหน่วยประมวลผลรุ่นใหม่ภายใต้ชื่อรหัสอย่าง Ryzen โดยเริ่มจากในตลาดที่ถนัดก่อนอย่างคอมพ์ประกอบ ส่งผลให้ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา AMD มีส่วนแบ่งในตลาดนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อกลับมาทั้งที AMD เลยเลือกที่จะชนกับคู่แข่งตลอดกาลอย่างอินเทล ด้วยการออกซีพียูบนสถาปัตยกรรม ‘Zen’ มาจับ 3 ระดับเหมือนกัน ด้วยการใช้ Ryzen 3 ชนกับ Core i3 ไล่มาเป็น Ryzen 5 ชนกับ Core i5 และ Ryzen 7 อัดกับ Core i7 ตัวแรง แต่ไม่หยุดแค่นั้น AMD ยังเพิ่มอีกรุ่นมาสำหรับคอเกมเมอร์ที่ต้องการซีพียูตัวแรงด้วย Ryzen Threadripper มาปิดจ็อบในตลาดบน

ปีเตอร์ แชมเบอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายสินค้าสำหรับผู้บริโภค ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และประเทศญี่ปุ่น บริษัท เอเอ็มดี ฟาร์อีสต์ จำกัด ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า นับตั้งแต่ Ryzen 7 เปิดตัวสู่ตลาดในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สถิติการค้นหาข้อมูลซีพียูของ AMD มีการพูดถึงบนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น สูงกว่าการค้นหาข้อมูลซีพียูของคู่แข่งหลายเท่าตัว และมีช่วงเวลาที่มีการค้นหาข้อมูลต่อเนื่อง เมื่อมีการเปิดตัว Ryzen 5 ในเดือนเมษายน และ Ryzen Threadripper ในเดือนกรกฏาคม

จากข้อมูลดังกล่าวทำให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มตอบรับการกลับมาของ AMD แล้วในตลาดพีซี เพราะถือเป็นการนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง ในทุกระดับราคาที่ผู้บริโภคต้องการ ด้วยการออกไลน์ซีพียูออกมาเพื่อจับในทุกกลุ่มผู้ใช้งาน บนฐานที่สำคัญคือมีประสิทธิภาพสูงกว่าคู่แข่งในรุ่นเดียวกัน

ทำให้ในเวลานี้ AMD ขาดเพียงอย่างเดียวคือเวลา ที่รอให้ถึงเวลาที่ผู้บริโภคต้องการเปลี่ยนคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ เพราะปัจจุบันไลฟ์ไซเคิลของผู้ใช้งานพีซี จะอยู่ที่ราว 5-6 ปี สำหรับการใช้งานทั่วๆไป ดังนั้นเมื่อAMD มั่นใจในประสิทธิภาพแล้ว ที่เหลือคือรอให้ผู้บริโภคถึงเวลาเปลี่ยนมาใช้งานเท่านั้น

เมื่อในตลาดเดสก์ท็อปเริ่มให้การตอบรับแล้ว AMD ก็ไม่ได้หยุดแค่นั้น เพราะมองว่าในยุคนี้ อีกตลาดพีซีที่ทิ้งไม่ได้เลยคือตลาดโน้ตบุ๊ก โดยเฉพาะในกลุ่มโน้ตบุ๊กเกมมิ่ง รวมถึงโน้ตบุ๊กขนาดบางเบา รวมถึงโน้ตบุ๊กแบบ 2-1 ทั้งหลาย ที่ AMD ไม่เคยลงมาจับในตลาดนี้เลย

ผสานซีพียูเข้ากับกราฟิกการ์ด

โจ มาครี รองประธานบริษัท หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ AMD ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา AMD จะมีจุดเด่นในแง่ของการมีหน่วยประมวลผลหลายแกน (มัลติคอร์) ที่ประมวลผลพร้อมกันได้ดีกว่า ประกอบกับด้วยการมีเทคโนโลยีของผู้ผลิตกราฟิกการ์ดชื่อดังในอดีตอย่างเอทีไอ (ATI) ที่ AMD เข้าไปซื้อกิจการตั้งแต่ปี 2006

จนล่าสุดในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้มีการเปิดตัวกราฟิกการ์ดภายใต้ชื่อ Radeon RX Vega ออกสู่ตลาด ทำให้ปัจจุบัน AMD จะมีเทคโนโลยีทั้งในส่วนของซีพียู และกราฟิกการ์ด ในระดับพรีเมียม ที่ผลิตและจำหน่ายออกสู่ท้องตลาด

ดังนั้น เมื่อต้องการเข้ามาลุยในตลาดโน้ตบุ๊กแบบเต็มตัว AMD เลยตัดสินใจนำทั้ง Zen และ Vega มาใช้งานร่วมกัน เพื่อที่จะเป็น ‘ผู้นำหน่วยประมวลผลที่เร็วที่สุดในโลก สำหรับโน้ตบุ๊กแบบบางเบา’

ประสิทธิภาพเท่าเดสก์ท็อปบนโน้ตบุ๊กบางเบา

โดยในช่วงแรก AMD จะมีการออกหน่วยประมวลผลสำหรับโน้ตบุ๊กใน 2 รุ่นด้วยกันคือ Ryzen 7 รุ่นรหัส 2700U ที่มากับหน่วยประมวลผล 4 แกน (Core) ที่ให้ความเร็ว 3.8 GHz / 2.2 GHz และ Ryzen 5 2500U ที่เป็น 4 แกน ให้ความเร็ว 3.6 GHz / 2.1 GHz

เบื้องต้น AMD ได้มีการทดสอบด้วยการนำหน่วยประมวลผล Ryzen 7 2700U เทียบกับหน่วยประมวลผลสำหรับเดสก์ท็อปของ AMD รุ่นปีที่ผ่านมา (7th Gen APU) พบว่า ประสิทธิภาพในการประมวลผลเพิ่มขึ้นถึง 200% ประสิทธิภาพกราฟิกสูงขึ้น 128% และกินไฟน้อยลง 58%

ในขณะเดียวกัน ยังได้มีการนำไปเทียบกับการประมวลผลของซีพียูเดสก์ท็อปของคู่แข่งอย่าง Intel Core i5 7600K ในการประมวลผลแบบมัลติคอร์ Ryzen จะทำคะแนนในผลทดสอบอย่าง Cinebench ได้สูงกว่าที่ 707 เทียบกับ 662 คะแนน บนฐานของการใช้ไฟ 15 วัตต์ เทียบกับ 91 วัตต์

ขณะที่เมื่อเทียบกับหน่วยประมวลผลสำหรับโน้ตบุ๊กของคู่แข่งอย่าง Intel Core i7 8550U Ryzen จะชนะในเกือบทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดพลังงาน การประมวลผลกราฟิก การปกป้องข้อมูล การสร้างคอนเทนต์ การเพิ่มโปรดักทิวิตี้ เพียงแต่จะแพ้ในเรื่องของการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกบางส่วนเท่านั้น

ตัวเลือกแรกสำหรับเกมเมอร์ นักพัฒนา และนักโอเวอร์คล็อก

ในส่วนของเป้าหมายหลักในการกลับมาแข่งขันในตลาดนี้ในช่วงแรกคือ ต้องการเป็นซีพียูที่ผู้บริโภคใน 3 กลุ่มเลือกใช้งานเป็นตัวเลือกแรก ไล่จากกลุ่มเกมเมอร์ ถัดมาคือกลุ่มนักพัฒนา หรือผู้สร้างคอนเทนต์ทั้งหลาย และสุดท้ายคือกลุ่มของผู้ใช้งานมืออาชีพ ที่ชื่นชอบการโอเวอร์คล็อกเครื่องให้ได้ประสิทธิภาพสูงขึ้น

เมื่อถามถึงระยะเวลาที่ AMD จะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ผู้บริหาร AMD ยอมรับว่าต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี เนื่องจากที่ผ่านมาคู่แข่งมีการสื่อสารไปยังกลุ่มผู้บริโภคได้ในทุกกลุ่มผู้ใช้งาน การที่ AMD จะกลับมาและแซงขึ้นเป็นผู้นำจึงต้องการเวลาให้ผู้บริโภคได้ลองใช้ และรับรู้ว่าดีกว่าจริง

‘สิ่งที่ AMD ต้องทำคือการสื่อสารไปยังผู้บริโภคในเรื่องที่ง่ายที่สุดคือการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผล ผ่านผลการทดสอบที่เป็นกลางที่จะแสดงให้เห็นว่า AMD มีหน่วยประมวลผลที่กินไฟน้อยกว่า แต่ให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่าอินเทล’

‘ไทย’ สำคัญมากสำหรับ AMD

นอกเหนือจากการเปิดตัวซีพียูสำหรับโน้ตบุ๊กแล้ว อีกจุดที่น่าสนใจคือการที่ AMD ให้ความสำคัญกับตลาดประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศ ที่ผู้บริหารมีการโรดโชว์ผลิตภัณฑ์ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา เพราะในการทัวร์เอเชียคราวนี้ AMD เลือกมาไทยเป็นประเทศแรก ตามด้วยญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

เหตุผลสำคัญคือเรื่องการเติบโตของตลาดพีซีในประเทศไทยที่ถือว่าเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงมากในตลาดกลางและบน โดยเฉพาะในตลาดเกมมิ่ง ที่ในช่วงปีที่ผ่านมาเกมมิ่งบนโน้ตบุ๊กเติบโตถึง 83% และบนเดสก์ท็อปเติบโตถึง 377% จากทั้งคอมพ์ประกอบ และคอมพ์ชุดที่แบรนด์ทำออกมาเพื่อตลาดเกมโดยเฉพาะ

ขณะเดียวกันยังมีข้อมูลที่น่าสนใจของตลาดโน้ตบุ๊กในแง่ของขนาดจอ คือพบว่าโน้ตบุ๊กที่มีขนาดหน้าจอต่ำกว่า 14 นิ้ว มียอดขายลดลงถึง 22% ในช่วงปีที่ผ่านมา กลับกันโน้ตบุ๊กขนาดหน้าจอ 15-17 นิ้ว กลับเติบโตถึง 31% เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำให้ช่วงระดับราคาของโน้ตบุ๊กที่มีการเติบโตปรับจากเดิมราว 15,000 – 17,000 บาท ขึ้นมาอยู่ที่ 20,000 – 32,000 บาท

คุมจากระดับภูมิภาค

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องการปรับโครงสร้างในการบริหารของทั้งอินเทล และ AMD ในปัจจุบัน ที่มีการย้ายผู้บริหารระดับสูงไปนั่งแท่นควบคุมในระดับภูมิภาคอยู่ที่สิงคโปร์แทน ทำให้ปัจจุบันทั้ง AMD และอินเทล จะมีเพียงฝ่ายขาย และฝ่ายผลิตภัณฑ์เท่านั้นที่ทำงานอยู่ในเมืองไทย

แหล่งข่าวให้ข้อมูลว่า เนื่องจากการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป การที่มีสำนักงานในประเทศไทยจะเข้ามาช่วยในแง่ของการซัปพอร์ตลูกค้ามากกว่า เพราะจริงๆ แล้วการแข่งขันต่างๆจะย้ายขึ้นไปแข่งกันในระดับภูมิภาค

เริ่มจากการเข้าไปคุยกับแบรนด์ผู้ผลิตต่างๆ ให้เลือกนำซีพียูไปใช้งาน ซึ่งปัจจุบันถ้าเทียบกันในตลาดโน้ตบุ๊กที่มีกว่า 300 รุ่นย่อย จะมีเครื่องที่ใช้หน่วยประมวลผลของ AMD ประมาณ 10% เท่านั้น ดังนั้นสิ่งแรกที่ AMD ต้องทำคือการเพิ่มจำนวนรุ่นให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น

ที่มา : mgronline.com/cyberbiz/detail/9600000108934