“สมัครมือถือแถมเคเบิลทีวี หรือสมัครเคเบิลทีวีแถมมือถือ” กลายเป็นแคมเปญซื้อ 1 แถม 1 แรง! ชนิดที่ว่ายักษ์ใหญ่อย่างเอไอเอสต้องลงมาเล่นแข่งกับทรูมูฟในที่สุด
“เอไอเอส”ไม่มีธุรกิจเคเบิลทีวีเป็นของตัวเอง แต่สามารถใช้เคเบิลทีวีให้เป็นประโยชน์ เพิ่มยอดลูกค้ากลุ่มโพสต์เพด “จีเอสเอ็มแอดวานซ์” ผ่าน “เคเบิลทีวีซิม” ได้อย่างแนบเนียน หลังจากปล่อยให้ “ทรูมูฟ” ผนึกกำลังกับ “เคเบิลทีวี ทรูวิชั่นส์จานแดง” ทำแคมเปญซื้อมือถือแถมเคเบิลทีวี ดึงลูกค้ามานานกว่า 2 ปี
งานนี้ “เอไอเอส” ร่วมกับ “เคเบิลทีวีท้องถิ่น” คู่แข่งสำคัญของ “ทรูวิชั่นส์” จับลูกค้ากลุ่มใหม่ คือ “สมาชิกเคเบิลทีวีท้องถิ่น” ที่มีอยู่ทั่วประเทศ 3 ล้านครัวเรือน หรือหากคิดเป็นจำนวนผู้ชมจะมีประมาณ 15 ล้านคน วิธีการของเอไอเอสคือจะมีตัวแทนของผู้ประกอบการเคเบิลทีวีในพื้นที่ต่างๆ ประมาณ 350 บริษัท ไปเคาะประตูหน้าบ้านสมาชิกพร้อมยื่น “เคเบิลทีวีซิม” ให้ลูกค้าตัดสินใจว่าใช้บริการหรือไม่ หากโปรโมชั่นถูกใจ เอไอเอสจะได้ลูกค้าใหม่ทันที ขณะที่ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีก็สามารถมั่นใจได้ว่าสมาชิกเคเบิลทีวีของตัวเองจะไม่ตีจากหรือยกเลิกบริการ
“เกษม อินทร์แก้ว” นายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย บอกว่า “4-5 เดือนที่แล้วผู้ประกอบการเคเบิลฯท้องถิ่นคุยกันเรื่องจานแดง เพราะมีส่วนให้ยอดสมาชิกของท้องถิ่นเพิ่มขึ้นไม่มาก เมื่อมีการประสานงานจากเอไอเอสจึงตอบรับทันที เพราะเชื่อว่าจะทำให้ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นรักษาฐานสมาชิกไว้ได้”
นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้ประกอบการที่มีพนักงานรวมกันในหลักหมื่นคนยังได้ประโยชน์โดยตรง เพราะเอไอเอสให้โปรโมชั่น จ่าย 299 บาทต่อเดือนโทรในกลุ่มได้ฟรี
“สมชัย เลิศสุทธิวงศ์” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส บอกว่า “เคเบิลทีวี ซิม” ไม่ได้ชนกับทรูมูฟโดยตรง แต่เป็นกลยุทธ์การขยายฐานลูกค้าโพสต์เพด โดยมองหาพาร์ตเนอร์ที่มีฐานลูกค้าชัดเจน อย่างที่เคยทำมาในหลายเซ็กเมนต์ เช่น กลุ่มเพลง กลุ่มการศึกษา แม้บางกลุ่มได้ลูกค้าเป็นแสน แต่บางกลุ่มได้ไม่กี่พันราย แต่ก็เชื่อว่ากลยุทธ์นี้จะทำให้ฐานของโพสต์เพดเติบโตอย่างยั่งยืน จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 2.5 ล้านราย จากฐานเอไอเอสทั้งหมดประมาณ 28 ล้านราย
อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดโปรโมชั่นของเอไอเอสแล้วยังถือว่าเสียเปรียบ เพราะ “เคเบิลทีวีซิม” ยังไม่สามารถใช้คำว่า “ฟรี” ได้ เนื่องจากสมาชิกเคเบิลทีวีท้องถิ่นยังต้องจ่ายค่าบริการเหมือนเดิม คือเฉลี่ยเดือนละ 250-400 บาท แต่สิ่งที่อาจทำให้สมาชิกรู้สึก “ได้” เพิ่มขึ้น มีเพียงค่าโทรศัพท์ที่จ่ายน้อยกว่าคือโทรได้ 2 เท่าจากที่จ่ายค่าบริการโทรศัพท์มือถือรายเดือน และข่าวผ่าน SMS และ MMS 3 เดือน จากค่ายเดอะเนชั่น
ขณะที่เปรียบเทียบกับ “ทรูมูฟ” ที่สามารถชูคำว่า “ฟรี” ภายใต้แคมเปญ “ยูบีซี (ทรูวิชั่นส์) ทรูมูฟ ฟรีวิว” ได้ เพราะลูกค้าจ่ายค่าโทรศัพท์เดือนละ 300 บาท จะสามารถชมเคเบิลทีวีผ่านจานแดงของทรูวิชั่นส์ได้
แต่ก็นับได้ว่า “เคเบิลทีวีซิม” ถือเป็นก้าวธุรกิจที่สำคัญของเอไอเอสที่สามารถดึง “ศัตรูของคู่แข่ง” มาต่อยอดธุกิจได้ทั้งพันธมิตรธุรกิจ และฐานสมาชิกใหม่อย่างลงตัว
Did you know?
ธุรกิจเคเบิลทีวีท้องถิ่นในประเทศไทยมีมาแล้ว 23 ปี มีลูกค้าในหลักแสนราย แต่ในช่วง 4-5 ปีหลังเติบโตรวดเร็วเพราะช่องรายการมากขึ้น จนมีสมาชิกแล้ว 3 ล้านครัวเรือน ในปี 2551 อยู่ในกรุงเทพมหานครประมาณ 5 แสนราย และชลบุรีประมาณ 4 แสนราย
ที่มา : สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย
เปรียบเทียบโปรโมชั่นซิมพ่วงเคเบิลทีวี
เอไอเอส เคเบิลทีวีซิม
ค่าใช้จ่ายหลัก – ค่าสมาชิกเคเบิลท้องถิ่น 250-400 บาท – ค่าโทรศัพท์มือถือได้สิทธิ์โทรได้ 2 เท่า
กลุ่มเป้าหมาย – สมาชิกเคเบิลฯท้องถิ่น
วิธีการทำตลาด – ขายตรงผ่านผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่น
เริ่มทำตลาด – ธันวาคม 2551
ผลการดำเนินงาน –
ทรูวิชั่นส์ ทรูมูฟ ฟรีวิว
ค่าใช้จ่ายหลัก– จ่าย 300 ได้โทร 300 ดูเคเบิลฯ ประมาณ 30 ช่อง
กลุ่มเป้าหมาย – สมาชิกใหม่ กลุ่มที่ต้องการใช้ทั้งมือถือและดูเคเบิลฯ
วิธีการทำตลาด – โปรโมตผ่านสื่อถึงกลุ่ม Mass
เริ่มทำตลาด – ปี 2549
ผลการดำเนินงาน– 7 แสนราย ณ ปลายปี 2551