เจาะกลยุทธ์ บ.สมาร์ทโฟน “ท้องถิ่น vs ระดับโลก

เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ไม่บ่อยนักกับเหตุการณ์บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนระดับท้องถิ่น จะสามารถเอาชนะแบรนด์ยักษ์ใหญ่จากต่างชาติที่มีทั้งเงินทุน การตลาด และศูนย์วิจัยของตนเองได้ แต่เหตุการณ์เหล่านั้นก็เกิดขึ้นแล้วใน 2 ประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอย่างจีน และอินเดีย แถมยังเป็น 2 ประเทศที่มีอัตราการเติบโตในด้านโทรคมนาคมอย่างรวดเร็วมากเสียด้วย
 
โดยในอินเดีย บริษัทท้องถิ่นอย่าง Micromax สามารถกระชากซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ลงจากบัลลังก์แชมป์ได้เป็นผลสำเร็จ และก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แทนด้วยส่วนแบ่งตลาด 22 เปอร์เซ็นต์ (ซัมซุงได้ 20 เปอร์เซ็นต์) อ้างอิงจากการวิจัยของ Canalys
 
อย่างไรก็ดี ไม่น่าแปลกใจที่ซัมซุงไม่ยอมรับผลดังกล่าว และอ้างข้อมูลจาก GfK ที่ระบุว่า ซัมซุงยังมีส่วนแบ่งในตลาดอินเดีย เป็นอันดับหนึ่งที่ 34.3 เปอร์เซ็นต์มายืนยัน
 
แต่ไม่ว่าซัมซุงจะเป็นที่ 1 หรือที่ 2 ในตลาดอินเดีย รอบๆ ตัวซัมซุงก็เต็มไปด้วยสมาร์ทโฟนแดนโรตีทั้งสิ้น เพราะอันดับ 3 และ 4 ของตลาดนี้คือ แบรนด์สัญชาติอินเดียอย่าง Karbonn และ Lava
 
ด้านตลาดสมาร์ทโฟนในจีนก็ไม่แตกต่างกัน แม้ว่าแอปเปิลจะสามารถสร้างยอดขายมหาศาลจากไอโฟน 6 และ 6 พลัสได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วได้ แต่คู่แข่งที่เป็นแบรนด์ท้องถิ่นอย่างเสี่ยวหมี่ หัวเหว่ย ก็ยังคงทำยอดขายได้ดีไม่แพ้กัน โดยในไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว เสี่ยวหมี่ ขึ้นมาอยู่เป็นอันดับ 2 รองจากแอปเปิลด้วยส่วนแบ่งตลาด 16 เปอร์เซ็นต์ (ตามมาด้วยซัมซุง 14 เปอร์เซ็นต์ และเลอโนโว 13 เปอร์เซ็นต์) อ้างอิงจาก Canalys
 
นอกจากยอดขายสมาร์ทโฟนในจีน และอินเดียจะสูงมากแล้ว ทั้ง 2 ประเทศยังเป็น 2 ประเทศที่มีผู้ใช้บริการระบบโทรคมนาคมมากที่สุดในโลกอีกด้วย (จีนอันดับ 1 อินเดียอันดับ 2) จึงมีการวิเคราะห์กันว่า สิ่งที่ทำให้แบรนด์ท้องถิ่นสามารถแทรกขึ้นมายืนในท็อปไฟว์ได้นั้น มาจากประเด็นด้านราคาที่เหมาะสมต่อฐานเงินเดือนของประชากรในประเทศนั้นๆ มากกว่าแบรนด์ยักษ์ใหญ่นั่นเอง
 
โดยราคาไอโฟน 1 เครื่อง อยู่ที่ 649 เหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี ที่ชาวอินเดียได้รับ นั่นจึงไม่น่าแปลกใจที่สมาร์ทโฟนแบรนด์ท้องถิ่นอย่าง Micromax หรือสมาร์ทโฟนสัญชาติจีน อย่างเสี่ยวหมี่ ที่มีราคาขายปลีกต่ำกว่า 200 เหรียญสหรัฐ จะขายดิบขายดี
 
ด้าน Canalys ยังได้ประเมินด้วยว่า ในไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมา สมาร์ทโฟนที่มีราคาต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐ สามารถครองตลาดอินเดียได้ถึง 1 ใน 4 ขณะที่สมาร์ทโฟนที่ครองส่วนแบ่งตลาดอีก 41 เปอร์เซ็นต์นั้น มีระดับราคาที่ 100-200 เหรียญสหรัฐ
 
เหตุผลที่ทำให้แบรนด์ท้องถิ่นมีราคาถูกนั้นมาจากอัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำมาก ทำให้บริษัทสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน และใส่เทคโนโลยีใหม่ๆ ลงในสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นได้ ไม่เพียงเท่านั้น แบรนด์ท้องถิ่นเหล่านี้ยังเลือกใช้วิธีการขายที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น ขายผ่านระบบร้านค้าออนไลน์ เพื่อลดต้นทุนการสร้างหน้าร้านของบริษัทลงด้วย
 
แม้ในเชิงโปรดักต์แล้ว อาจดูเหมือนแอปเปิล กับซัมซุง คือ คู่แข่งตลอดกาล แต่หากพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ว่า ซัมซุง เริ่มเผชิญหน้าต่อความไม่มั่นคงในสถานะแชมป์ของตนเองแล้ว จากยอดขายที่ไม่เป็นไปตามเป้า และส่วนแบ่งตลาดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
 
ดังนั้น สิ่งที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายรายพยายามงัดมาใช้ต่อกรกับแบรนด์ท้องถิ่นก็คือ “การฟ้องร้องทางกฎหมาย” เหมือนเช่นที่เสี่ยวหมี่ โดนอิริกสันฟ้องในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรของอิริกสันถึง 8 หัวข้อในตลาดอินเดีย และไม่สามารถวางจำหน่ายได้นั่นเอง
 
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า แบรนด์ท้องถิ่นที่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงห้ามประมาทแบรนด์ระดับโลกเป็นอันขาด