ตลาดไอศกรีม 12,000 ล้านบาทมีหนาว! เมื่อ “กูลิโกะ” เตรียมปูพรมกระจายสินค้าทั่วไทยในปีหน้า หวังขึ้นแท่นเบอร์ 3 นี่คือ เป้าหมายของ “คิโยทะคะ ชิมะโมริ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท กูลิโกะ โฟรเซ่น (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศ
27 ม.ค.ปี 2559 เป็นปีไอศกรีมกูลิโกะวางตลาดในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ได้กระแสตอบรับล้นหลามจนกลายเป็นปรากฏการณ์ขายเกลี้ยงตู้ในเวลาเพียงแค่ 10 นาทีแรก จนเกิดภาวะ “ขาดตลาด” ร่วม 6-7 เดือน จนหลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า นี่คือส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การตลาด
“เราเตรียมกำลังการผลิตไม่เพียงพอ และขอโทษด้วยที่ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน เนื่องจากบริษัทไม่คาดคิดว่ากูลิโกะจะฮิตขนาดนี้” คิโยทะคะยืนยันในงานแถลงข่าว
ทว่า วันนี้พร้อมแล้วสำหรับ “สมรภูมิไอศกรีม” เพราะกูลิโกะได้เพิ่มการผลิตไอศกรีม 3 เท่าตัวจากวันแรกที่เปิดขาย และจัดทัพกระจายสินค้าให้ทั่วทั้งประเทศไทยภายในปีหน้า โดยทั้ง 2 ยุทธศาสตร์นี้อาศัยพันธมิตรอย่าง “จอมธนา” มาช่วยแบบเบ็ดเสร็จ
ที่ผ่านมา โจทย์ใหญ่ ที่ถือเป็น “จุดอ่อน” สำคัญของไอศกรีมกูลิโกะ คือการ “กระจายสินค้า” ที่ทำได้ครอบคลุมแค่พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และพยายามกระจายสู่พื้นที่ต่างจังหวัดอื่นๆ มากขึ้นรวมเป็น 30 จังหวัดแล้ว และต้องการให้ทั่วไทยเร็วสุดในปีหน้า ซึ่งปัจจุบันมีตู้แช่ไอศกรีมของกูลิโกะประมาณ 7,000 ตู้ ในช่องทางโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าทั่วไป
“เมื่อผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้น้อย แบรนด์ไอศกรีมกูลิโกะก็เลยยังไม่รู้จักแพร่หลาย ขณะที่ผู้บริโภคทานไอศกรีมมีเพิ่ม ความท้าทายปีนี้จึงต้องทำให้ผู้บริโภคเชื่อใจแบรนด์กูลิโกะมากขึ้น”
กูลิโกะเพิ่มการผลิตไอศกรีม 3 เท่าตัวจากวันแรกที่เปิดขาย พร้อมจัดทัพกระจายสินค้าให้ทั่วทั้งประเทศไทยภายในปีหน้า โดยอาศัยพันธมิตรอย่าง “จอมธนา” มาช่วยแบบเบ็ดเสร็จ
พร้อมกับเพิ่มสัดส่วนการกระจายผ่านช่องทางขาย คอนวีเนียนสโตร์ 40% ซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต รวมกัน 9% และเทรดิชันนัล เพื่อให้สอดคล้องกับภาพรวมการกระจายไอศกรีม
เมื่อสินค้ามีพร้อมตลาด กูลิโกะทุ่มงบตลาด 2 เท่า ทำหนังโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ และสื่อนอกบ้านควบคู่กับออนไลน์ จากเดิมทำเพียงออนไลน์อย่างเดียว
ที่สำคัญคืออาวุธการตลาดด้าน “โปรโมชั่น” หลังจากที่ผ่านมาปล่อยให้ “คู่แข่ง” ทั้งเจ้าตลาด เบอร์รอง รัวหมัดกลยุทธ์ด้าน “ราคา” กระหน่ำเป็นการรับน้อง ครั้นจะทำโปรโมชั่น ก็ต้องระมัดระวังการมีสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการตลาด และอาจส่งผลเสียต่อแบรนด์จนยากจะฉุดให้ฟื้นคืน
อีกกิมมิกที่จะเป็นหมัดแย็บ “จุดกระแส” ให้กูลิโกะกลับมาฟีเวอร์อีกครั้ง คือการนำเข้าตู้หยอดเหรียญกดไอศกรีมอัตโนมัติ ที่ส่งตรงจากประเทศญี่ปุ่นถึงเมืองไทยจำนวน 2 ตู้ ทยอยวาง 4 จุด ในห้างฯ ได้แก่ สยามเซ็นเตอร์ บริเวณทางเชื่อมบีทีเอสสยาม ชั้น G หน้าอิเกีย เมกา บางนา สยามพารากอน ซีนีเพล็กซ์ และชั้น 6 โซนพลาซ่า และปิดท้ายที่เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นเวลา 2 เดือน
กูลิโกะหวังว่า ตู้ดังกล่าวเป็น “เครื่องมือการตลาด” ที่จะช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์ไอศกรีมกูลิโกะในวงกว้างมากขึ้น โลกออนไลน์มีการแชร์ประสบการณ์ลิ้มลองไอศกรีมจากตู้กด เนื่องจากตู้กดไอศกรีมเป็นที่นิยมในญี่ปุ่น มีกระจายอยู่ถึง 2 หมื่นตู้
นอกจากนี้ กูลิโกะยังดึง “บอย ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์” มาเป็นพรีเซ็นเตอร์คนแรก เพื่อเป็น “แรงดึงดูด” ให้กับกลุ่มเวัยรุ่น วัยทำงานซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของแบรนด์
รวมถึงการออกสินค้าใหม่ “ซีรีส์ช็อกโกแลต” 3 รสชาติ ทั้งไจแอนท์ โคน คราวน์, เซเว่นทีน ไอซ์ คราวน์ และพาแนปป์ เพิ่มพอร์ตโฟลิโอสินค้าให้หลากหลายเดิมจาก 12 รายการ (SKU) ไล่ตามคู่แข่งที่มีสินค้าหลากหลายมาก โดยราคาสินค้ายังอยู่ที่ 20-35 บาทเป็นหลัก
การวางหมากรบระลอกนี้ของกูลิโกะ เรียกว่าครบเครื่องพอตัว เพราะกำลังการผลิตสินค้าพร้อม สินค้าใหม่เพิ่ม กระจายสินค้าให้กว้าง และเตรียมทำตลาดโปรโมชั่นเต็มสูบ
ออกแรงหนักหน่วง เป้าหมายคือต้องการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดไอศกรีมทั่วไทย จากเดิมมีเพียง 7% กระจุกในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น และในอนาคตอันใกล้ต้องการเป็น “Top 3” ในตลาด จากปัจจุบันที่เป็นเบอร์ 4
เบอร์ 1 คือวอลล์ ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 50% แต่หลังจากเลิกจำหน่ายแบบเอ็กซ์คลูสีพในเซเว่น อัตราการเติบโตหดตัวเป็นตัวเลข “2หลัก” ขณะที่เบอร์อื่นๆ โดยเฉพาะ 3-4 ส่วนแบ่งตลาดหายใจรดต้นคอกันพอสมควร
สำหรับแนวโน้มตลาดไอศกรีม “คิโยทะคะ” มองปีนี้ยังมีโอกาสเติบโตประมาณ 5-10% เพราะประเมินการบริโภคในประเทศไทยและขนาดตลาดเล็กกว่าญี่ปุ่นถึง10 เท่า ภายใต้เงื่อนไขคนไทยน้อยกว่าญี่ปุ่นประมาณ 50%.