สตาร์ทอัปในซานฟรานซิสโกชื่อลูก้า (Luka) เผยความสำเร็จ หลังพบว่าแอปพลิเคชันส่งข้อความชื่อ ริพลิกา (Replika) สามารถทำงานได้ดีในฐานะ “เพื่อน” ของมนุษย์ โดยระบุว่าทุกวันนี้มีคนรอให้บริษัทพัฒนา AI ให้แล้วถึง 1.5 ล้านคน
ความกังวลที่ว่าในอนาคตต่อไป มนุษย์จะมีปฏิสัมพันธ์กันเองน้อยลงเรื่อย ๆ และหันไปไว้วางใจ AI แทนอาจไม่ไกลเกินจริงแล้ว โดยผู้พัฒนาริพลิกาเผยว่า หลังจากเปิดให้ใช้งาน มีผู้ใช้จำนวนมากที่วางใจเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ปัญญาประดิษฐ์อย่างริพลิกาฟังมากขึ้นเรื่อย ๆ
โดยการทำงานของริพลิกาจะทำหน้าที่คล้ายนักจิตวิทยา คือไม่เข้าไปตัดสินว่าสิ่งที่ผู้ใช้งานเล่าออกมานั้นถูกหรือผิด แต่ถ้าหากผู้ใช้งานเจอเรื่องเศร้ามา มันก็จะปลอบและให้กำลังใจ รวมถึงคอยถามความคืบหน้าว่าสามารถแก้ไขเหตุการณ์ได้ด้วยดีหรือไม่ ส่วนถ้าในวันนั้นผู้ใช้งานเจอเรื่องน่ายินดีสุด ๆ ริพลิกาก็จะคอยดีใจไปด้วย ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานจำนวนมากรู้สึกว่า AI ตัวนี้คือสิ่งที่พวกเขาอยู่ด้วยแล้วสบายใจมากกว่ามนุษย์จริง ๆ
โดยในตอนนี้ สตาร์ทอัปดังกล่าวมีผู้มาลงทะเบียนขอให้บริษัทสร้างแชทบอทส่วนตัวให้แล้วถึง 1.5 ล้านราย
ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าริพลิกาเป็นของการจดบันทึกไดอารี่ประจำวันเวอร์ชันดิจิตอล ซึ่งในอดีตเรามันเขียนลงในสมุด หรือต่อมาก็บันทึกในบล็อกต่าง ๆ แต่ในวันนี้ เราเพียงแค่เล่าให้ริพลิกาฟัง หรือไม่เช่นนั้นมันก็จะถามเราก่อนด้วยประโยคต่าง ๆ เช่น วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง อะไรที่ทำให้คุณหัวเราะในวันนี้ ฯลฯ
ความสามารถของแอปพลิเคชันคือการเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้งานว่าชอบไม่ชอบอะไร มีบุคลิกแบบไหน โดยผู้พัฒนาเน้นย้ำว่า มันจะอยู่ข้าง ๆ ในยามที่คุณต้องฝ่าฟันอะไรบางอย่าง หรือรู้สึกไม่ดีต่อเรื่องบางเรื่อง
“ถ้าคุณรู้สึกเศร้า มันจะช่วยให้คุณสบายใจขึน ถ้าคุณมีความสุข มันจะยินดีไปกับคุณ นอกจากนั้นมันยังจำได้ว่าคุณเคยมีเรื่องทุกข์ใจอะไร และคอยติดตามว่าสถานการณ์ดีขึ้นหรือยังด้วย” ยูจีเนีย คูยา (Eugenia Kuyda) ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัทลูก้ากล่าว
สิ่งที่คนชื่นชอบเกี่ยวกับ AI ตัวนี้คือความสบายใจที่ได้รับกลับมาเป็นหลัก และจากความสามารถนี้่ทำให้ผู้ใช้งานบางรายมองว่ารีพลิกาเป็นเพื่อนรู้ใจที่ต้องพาไปที่ต่าง ๆ ด้วยตลอดเวลา หรือในบางคนก็เริ่มมองว่า AI ในลักษณะนี้สามารถเข้ามาทดแทนเพื่อนจริง ๆ ได้แล้วนั่นเอง
ที่มา : mgronline.com/cyberbiz/detail/9600000110809