11 Street อยากปังกว่าเดิม ต้องรบหลากมิติ ดึงบิ๊กค้าปลีก บิ๊กแบรนด์เนมร่วมทัพ ดัมพ์ราคา 20% รอ 5 ปี กำไรแน่

หลังจากสร้างความฮือฮาด้วยการทุ่มงบเปิดตัวใช้พรีเซ็นเตอร์ดังเปิดกลยุทธ์ 11 Street อีคอมเมิร์ซจากเกาหลี ปีที่สองของการบุกช้อปปิ้งออนไลน์ในไทย ลงทุนลดลงตามแผน มั่นใจยอดช้อปพุ่งเท่าตัวทะลุ 100 ล้านเหรียญ หรือ 3,400 ล้านบาท เจรจาร่วมมือบิ๊กค้าปลีก บิ๊กซี โลตัส เร่งปิดดีลแบรนด์เนม 10-20 แบรนด์ รวม Prada Gucci ช้อปลด 20% ไตรมาสแรกปีหน้า

ฮง โซล จอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 11 Street ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปีหน้าหวังยอดคนช้อปปิ้งของ 11Street และมูลค่าช้อปปิ้งต่อครั้งจะเพิ่มเท่าตัว แม้ว่าจะใช้เงินลงทุนน้อยกว่าเดิม และงบการตลาดเท่าเดิม

ปี 2560 ใช้งบลงทุนประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,650 ล้านบาท) รวมงบการตลาด 30 ล้านเหรียญฯ (990 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นงบโฆษณาไม่ถึง 10 ล้านเหรียญฯ (330 ล้านบาท) ที่เหลือเป็นงบโปรโมชั่น 

ส่วนปี 2561 ตั้งงบลงทุน ไว้ 40 ล้านเหรียญฯ (1,320 ล้านบาท) งบการตลาด 30 ล้านเหรียญฯ (990 ล้านบาท) เหตุผลที่ใช้งบลงทุนลดลงเพราะเป็นไปตามปกติของธุรกิจ ที่ต้องลงทุนลดลงในปีต่อๆ ไป โดยคาดว่าอีก 5 ปีจะมีกำไร โดยรายได้ของบริษัทส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมที่เกิดการซื้อขาย

ปีหน้าคาดว่าอัตราเติบโตของธุรกิจทุกด้านจะเพิ่มเท่าตัว ทั้งยอดช้อปปิ้งต่อครั้งต่อคนจากปีนี้อยู่ที่ 1,400 บาท ซึ่งมากกว่าช่วงแรก ที่อยู่ที่ 700 บาท

จำนวนลูกค้าต่อวัน จากปีนี้วันละ 3,000 คน หรือช่วงมีโปรโมชั่นแรงๆ มีถึงวันละ 5,000 คน อย่างเดือนนี้ที่มีแคมเปญ 11.11. Mega Sale 

ส่วนยอดขายรวมปีนี้อยู่ที่ประมาณ 50 ล้านเหรีญฯ ปีหน้าคาดเติบโตเป็น.100 ล้านเหรียญฯ

โอกาสเติบโตอีคอมเมิร์ซในไทยยังสูง เพราะปัจจุบันยังมีสัดส่วนเพียงประมาณ 1% ของมูลค่าค้าปลีกของไทย และคาดว่าอีก 5 ปี จะเพิ่มเป็น 7% เพราะฉะนั้นคนที่เพิ่งเข้ามาในตลาดจึงมีโอกาสรอด และเติบโตมากกว่าคนที่เคยเข้ามาลงทุนอีคอมเมิร์ซในไทยก่อนหน้า และต้องเลิกไป เพราะมาเร็วเกินไป สำหรับ 11 Street ซึ่งเริ่มลงทุนในไทยปลายปีที่แล้ว ก็ไม่หวั่นคู่แข่งรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นแอมะซอน หรืออาลีบาบา และยังยืนยันได้ส่วนแบ่งตลาด 40% ในไทย เป็นที่ 1 ภายใน 4 ปี

กลยุทธ์ปีหน้า คือจะร่วมกับพันธมิตร เพิ่มจำนวนผู้ขายมากขึ้น จากปัจุบันมี 20,000 ราย สินค้า 6.7 ล้านรายการ จะเพิ่มผู้ขายเป็น 150,000 ราย ภายในปี 2020

นอกจากนี้ยังได้เจรจาบิ๊กแบรนด์ค้าปลีก ทั้งบิ๊กซี โลตัส แม็กซ์ แวลู จากปัจจุบันเซ็นเอ็มโอยูกับวัตสัน และมีคู่ค้าอย่าง บานาน่าไอที JIB แล้ว

ที่สำคัญกำลังเดินกลยุทธ์ตอบสนองลูกค้าที่ชอบสินค้าแบรนด์เนม เจรจากับแบรนด์เนมดัง ไม่ว่าจะเป็น Prada Gucci ประมาณ 10-20 แบรนด์ให้ส่วนลด 20% จากปัจจุบันมีผู้ขายที่ขายผ่านเว็บของ 11 Street บ้าง ในราคาหลักแสนบาทก็มี มียอดขายกระเป๋ารวมๆ หลักร้อยใบ ขณะที่ตลาดนี้มีโอกาสโต แต่ผู้ซื้ออาจลังเลว่าของจริงหรือไม่ ซึ่งต่อไป 11 Street เจรจาให้แบรนด์ขายเอง ลูกค้าก็จะเชื่อมั่นมากขึ้นว่าได้ของจริง ขณะเดียวกัน 11 Street จะช่วยตรวจสอบผู้ขายอื่นๆ ด้วยว่านำของแท้มาขายหรือไม่ โมเดลนี้ทำแล้วในเกาหลีใต้ ในไทยคาดว่าได้ไตรมาสแรกปีหน้า

ส่วนกลยุทธ์การแข่งขัน จะไม่เน้นชิงโชคแจกรถเหมือนคู่แข่ง แต่จะเน้นสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้ามากกว่า

ปัจจุบัน 11 Street ลงทุนให้บริการอยู่แล้วในเกาหลีใต้ มีมูลค่ายอดขายรวม 7,000 ล้านเหรียญฯ ยอดช้อปปิ้งต่อครั้ง 3,000 บาท ตุรกี ยอดขาย 1,000 ล้านเหรียญฯ มาเลเซีย ยอดขาย 100 ล้านเหรียญฯ ซึ่งมากว่าไทย ที่แม้มาเลเซียจะมียอดช้อปปิ้งต่อครั้ง 600-700 บาทแต่ซื้อบ่อยกว่าไทย ที่ยอดช้อปปิ้งต่อคั้ง 1,400 บาท

ซีอีโอ 11 Street ประเทศไทย เปิดเผยด้วยว่า ใน 1 ปีที่ผ่านมา ที่รู้สึกว่าประสบความสำเร็จมากคือ มียอดคนเข้าเว็บ 15 ล้านครั้งต่อเดือนภายใน 3 เดือน ปัจจุบันสูงถึง 17 ล้านครั้ง มียอดที่สั่งซื้อของ 1.2.1.4% ส่วนที่ท้าท้ายคือยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎระเบียบของไทย ในการกำกับดูแลธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อย่างกรณีการเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ ควรให้มีมูลค่า 5% ของธุรกิจค้าปลีกก่อน จากปัจจุบันยังอยู่แค่ 1% ขณะที่เกาหลีใต้มียอด 15%  ของธุรกิจค้าปลีกแล้ว