สมรภูมิข่าวเดือด ทีวีดิจิทัลเปิดศึกชิง “พิธีกร”

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการทีวีในยุคทีวีดิจิทัล พิธีกรข่าว “ตัวจริง” ยังมีที่แลนดิ้ง ย้ายเปลี่ยนช่อง บางคนก็ยังถูกแย่งชิง และบางช่องยอมลงทุนซื้อตัวข้ามช่อง จ่ายค่าฉีกสัญญา หลังจากตลาดเงียบมาสักพัก

ข่าวฮือฮาก่อนหน้านี้ คือการสลับตัวพิธีกรข่าวหลักระหว่าง “ช่องวัน” กับ “ไทยรัฐทีวี” นี่ไม่ใช่โครงการแลกเปลี่ยนเพื่อหาประสบการณ์ใหม่ แต่คือการวางยุทธศาสตร์หน้าจอที่ต่างกันของทั้งสองช่อง

ช่องวันรุกหนักในการปรับปรุงรายการข่าว หลังจากจัดทีมพิธีกรข่าวที่มีทั้งพิธีกรข่าวตัวจริง ผสมกับนักร้อง นักแสดง โดยมี “อุ๋ย ภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์” จากช่อง 9 เป็นพิธีกรหลัก มาตั้งแต่ปี 2557 ในยุคที่ “นรากร ติยายน” เป็นผู้อำนวยการฝ่ายงานบริหารข่าวช่องวัน และได้ลาออกไปแล้วตั้งแต่ปี 2559

“อุ๋ย ภาคภูมิ” ลาออกจากช่องวัน เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ไปอยู่หน้าจอ “ไทยรัฐนิวส์โชว์” ช่วงค่ำไทยรัฐทีวี

ส่วนพิธีกรข่าวของไทยรัฐทีวี ที่มานั่งแทนที่ “ภาคภูมิ” ที่ช่องวัน คือ “คิงส์ พีระวัฒน์ อัฐนาค” หลังจากที่ “คิงส์ พีระวัฒน์ ที่ย้ายมาจากมันนี่ แชนแนล มาอยู่ที่ไทยรัฐตั้งแต่ปี 2558

ไทยรัฐทีวี ใช้วิธีจ้างพิธีกรข่าวด้วยการทำสัญญาจ้างประมาณ 3 ปี เพราะช่องต้องสร้าง ต้องเทรน และโปรโมตผู้ประกาศ ซึ่งถือเป็นต้นทุน ขณะเดียวกันก่อนหน้านั้น ช่องใหญ่ก็มีการดึงตัวและซื้อตัวพิธีกรข่าวกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะช่อง 3

ลือสนั่นกันว่า ช่องวันต้องจ่ายค่าฉีกสัญญาในการดึง “คิงส์” ในหลักล้านบาท ที่มาพร้อมกับทีมเบื้องหลังจากไทยรัฐอีกส่วนหนึ่ง เรื่องนี้ ผู้บริหารเครือแกรมมี่ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในช่องวัน ยอมรับว่ามีการจ่ายค่าฉีกสัญญา เพราะช่องวันต้องการรุกรายการข่าวอย่างเต็มที่ นอกจากข่าวเช้า เที่ยง เย็น แล้ว ยังมีแผนเพิ่มช่วงข่าวดึกเลทไนท์อีกด้วย

อีกช่องที่มีการทำสัญญากับพิธีกรข่าว คือช่อง 8 ค่ายอาร์เอส ที่ ดร.โด่ง องอาจ สิงห์ลำพอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีโทรทัศน์ช่อง 8 บอกว่า จำเป็นต้องทำสัญญา เพราะช่องมีการลงทุน ไม่เช่นนั้นแล้ว การย้ายค่ายเปลี่ยนช่องจะเกิดขึ้นง่าย ช่องก็ต้องสร้างใหม่ตลอดเวลา

ปัจจุบัน สมรภูมิทีวีดิจิทัลผ่านไปแล้วเกือบ 4 ปี หลายช่องเริ่มขยับปรับปรุงรายการข่าว ไม่เว้นแม้แต่ในกลุ่มช่อง 3 ที่ยังมีน้องรองคือ 3 เอสดี หรือช่อง 28 ที่บริษัทในเครือของ “เซิร์ช เอ็นเตอร์เทนเม้นท์” เพิ่งได้เวลาช่วงเช้า ทำรายการที่ชื่อว่า “ตีข่าวเช้า” และได้อดีตพิธีกรข่าวของช่อง 8

“เอ ดนยกฤตย์ แดงหวานปีสีห์” เป็นพิธีกรหลัก ที่อยู่ระหว่างการเคลียร์สัญญากับช่อง 8

เรื่องนี้ “จอนนี่  แอนโฟเน่” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเซิร์ช เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด  กล่าวว่า เป็นเรื่องระหว่างพิธีกรข่าวกับอาร์เอส ที่จะเคลียร์กัน สำหรับในเครือของช่อง 3 ไม่ได้ทำสัญญากับพิธีกรในลักษณะดังกล่าว  เรียกได้ว่าขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย

ย้อนหลังไป การซื้อตัวพิธีกรข่าวเกิดขึ้นอย่างคึกคัก เริ่มเมื่อประมาณ 7-8 ปีก่อน ที่เบอร์ใหญ่ช่อง 3 ขยับตัวกวาดทั้งพิธีกรข่าว นักข่าวภาคสนาม ที่มีแนวโน้มเป็นพิธีกรข่าวได้ จากทั้งช่องเล็ก ช่องใหญ่ ซึ่งในช่วงนั้น “ประวิทย์ มาลีนนนท์” อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) เคยอธิบายว่าต้องเตรียมบุคลากรไว้ ถ้ามีช่องเกิดขึ้นอีก ช่อง 3 ก็จะมีความพร้อม

ในขณะนั้น หลัก ๆ จึงมีพิธีกรข่าวที่มาจากทั้งช่อง 7 อย่าง “ไก่ ภาษิต” ที่มาอยู่ช่อง 3 ตั้งแต่ปี 2552มีบางส่วนมาจากไทยพีบีเอส และไอทีวี ทั้งพิธีกรเบอร์เล็กเบอร์ใหญ่หลายสิบชีวิต

แหล่งข่าวจากช่อง 3 เปิดเผยถึงค่าตอบแทนพิธีกรข่าวของช่อง 3 โดยทั่วไป จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ รับเป็นเงินเดือนส่วนหนึ่ง กรณีมีชื่อเสียงหน้าจอมาแล้ว ก็ได้ประมาณเดือนละ 1 แสนบาท บวกกับค่าอ่าน ที่แต่ละคนได้รับต่างกัน บางคนอาจคิดค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง รับในหลักพันหรือ 10,000 บาท บางคนเหมาเป็นค่าอ่านทั้งวัน เช่น วันละ 10,000 บาท

ส่วนทีวีดิจิทัลช่องอื่น ๆ ก็ยังต้องการพิธีกรข่าวจำนวนมาก มีหลายโมเดลที่เกิดขึ้น เช่น การนำเซเลบ หรือคนดัง รวมถึงดารานักร้องมาอ่านข่าว ขณะที่บางช่องเลือกปั้นจากคนข่าว นักข่าว ให้เป็นพิธีกรข่าวแถวหน้า ยิ่งถ้าได้คนข่าวที่มีบุคคลิก และวิธีการเล่าข่าวเฉพาะ ยิ่งเป็นสปริงบอร์ดให้รายการได้ไม่ยาก

อย่างกรณีพิธีกรข่าวที่หลายคนยกให้เป็นเบอร์ 1 มีความดังระดับอาจแทนที่ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ได้ คือ “พุทธ อภิวรรณ” ที่มาจากทีวีดาวเทียมช่องหนึ่ง และสร้างเรตติ้งรายการข่าวค่ำให้ช่องอมรินทร์ได้ในระดับผู้ชมหลักล้านต่อนาที ช่วงหนึ่งมีข่าวลือว่าจะมาอยู่ช่อง 3 ด้วยค่าตอบแทนเดือนละ 1 ล้านบาท แต่ปัจจุบัน “พุทธ” ยังคงอยู่ทำหน้าที่ในช่องอมรินทร์เช่นเดิม

หากเปรียบเทียบกับช่วงแรก ๆ ที่ “สรยุทธ” ดัง เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว ถือว่าใกล้เคียงกัน เพราะสรยุทธก็ไต่ระดับค่าอ่านจากครั้งละ 5,500 บาท มาเป็น 30,000 บาท ยังไม่นับส่วนแบ่งรายได้โฆษณาที่บริษัทของสรยุทธได้รับจากช่องอีก

ช่อง 9 พิธีกรข่าวที่เป็นพนักงานประจำ นอกจากเงินเดือนตามเกณฑ์รัฐวิสาหกิจแล้ว ยังมีค่าอ่านในแต่ละครั้ง ส่วนพิธีกรข่าวหน้าใหม่ที่เข้ามา ไม่ได้อยู่ในสถานะพนักงานประจำ ไม่ได้รับเป็นเงินเดือน แต่จะได้ค่าอ่านต่อครั้ง ถ้าได้อ่านช่วงหนึ่งของรายการข่าวหลัก จะได้ครั้งละ 1,500 บาท แต่ถ้าได้อ่านข่าวหลัก จะได้ครั้งละ 3,000 บาท

ขณะที่ช่องเล็กบางช่องจะมีการจ่ายเงินเดือนให้พิธีกรข่าว เฉลี่ยไม่เกิน 40,000 บาท แต่จะมีค่าอ่าน เช่น ครั้งละ 800-1,000 บาท ถ้าเศรษฐกิจ หรือรายได้ช่องไม่ดี ก็จะมีการตัดค่าอ่าน พิธีกรข่าวจากช่องเล็ก ๆ เหล่านี้ เมื่อมีโอกาสไปช่องใหม่ รายได้มากกว่า ก็มักจะไม่ลังเล

สำหรับบางช่องที่เลือกพิธีกรข่าวที่มีดีกรี เป็นนักแสดง คนดัง เซเลบริตี้มาก่อน จะยอมจ่ายค่าอ่านให้ครั้งละประมาณ 5,000-10,000 บาทต่อคน

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จึงได้เห็นการย้ายช่องของพิธีกรข่าวในช่องต่างๆ จำนวนมาก เช่น จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ที่อยู่ค่ายเนชั่นมา 13 ปี และย้ายไปอยู่ช่องไทยรัฐ โมไนย เย็นบุตร จากเนชั่นทีวีไปอยู่ไทยรัฐช่วงสั้นๆ กลับมาเนชั่นทีวี และอยู่ทรูฟอร์ยู ในปัจจุบัน

บางคนที่ช่องดึงคนนอกมาจำนวนมาก และตัวเองถูกดึงจากช่องอื่นด้วย แม้จะเป็นช่องเล็กกว่า แต่มีบทบาทหลักบนหน้าจอและได้เป็นผู้บริหารด้วย ก็พร้อมไป เช่น ปราย ธนาอัมพุช และ ชาญชัย กายสิทธิ์ ที่ออกจากช่อง 3 ไปอยู่พีพีทีวี จัดรายการข่าวเช้า แทนที่บริษัทของ “บรรจง ชีวมงคลกานต์” ที่ย้ายร่วมบริหารงานข่าว และพิธีกรข่าวหลักช่องเวิร์คพอยท์ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559 หลังเวิร์คพอยท์เลิกจ้างมติชนผลิตรายการข่าว

หากจะวัดที่ผลงานว่ารายการโดนใจผู้ชมหรือไม่ ก็ต้องดูเรตติ้ง ตัวอย่างเช่น รายการข่าวของวันที่ 1 พ.ย. เรตติ้ง “โชว์ข่าวเช้านี้“ ช่องพีพีทีวี ที่จัดรายการโดย ปราย กับ กายสิทธิ์ ตั้งแต่ประมาณตี 5 ถึง 8 โมงเช้า อยู่ที่ประมาณอันดับที่ 15 เรตติ้งที่ 0.09

ข่าวเที่ยงช่องวัน ที่คิงส์ เป็นแกน ได้เรตติ้ง 0.61 ในอันดับ 2 ในกลุ่มรายการข่าวเที่ยง และข่าวเย็น ได้เรตติ้ง 0.31 อยู่ในอันดับ 11 กลุ่มข่าวเย็น

ที่ช่อง 3ไก่ ภาษิต ที่รับงานเรื่องเล่าเช้านี้ โฉมใหม่ ได้เรตติ้ง 1.01 อยู่อันดับ 3 ส่วนเที่ยงวันทันเหตุการณ์ ได้ 0.55 อยู่อันดับ 3

ส่วน อุ๋ย ภาคภูมิ ไทยรัฐนิวส์โชว์ ออนแอร์ช่วงแรกได้ 1.1 ช่วง 2 ได้ 0.5 โดยยังเป็นรองช่องอมรินทร์ ที่ได้ 1.3

ขณะที่  “บรรจง” ในรายการบรรจงชงข่าว ช่วงข่าวเย็น ได้เรตติ้ง 0.84 อันดับ 4 กลุ่มข่าวเย็น

“เขมทัตต์ พลเดช” ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) สรุปว่า ในยุคสงครามข่าวทีวีดิจิทัลกว่า 20 ช่องนั้น พิธีกรรายการข่าวที่ผู้ชมคุ้นหน้าก็ทำให้มีโอกาสได้เรตติ้ง ซึ่งช่อง 9 เลือกวิธีการปั้นคนข่าวมาอยู่หน้าจอ แม้จะใช้เวลา แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง คือได้ภาพจำเป็นพิธีกรข่าวที่น่าเชื่อถือ ตามจุดยืนของช่องที่เติบโตมาจากความเป็นช่องข่าว

ความสำเร็จของ “รายการข่าว” ทางทีวีในยุคที่ธุรกิจทีวีแข่งเดือดเลือดสาดนี้ ไม่เพียงเสนอข่าวต้องยึดหลักของวิชาชีพสื่อเท่านั้น สิ่งสำคัญจึงมีคำตอบที่ชัดเจนว่า คือ “หน้าจอ” ในส่วนของผู้ประกาศ พิธีกรข่าว หรือนักเล่าข่าว ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพารายการให้มีเรตติ้งดี หรือไม่ดี

ในวงการรายการข่าวทีวี ถึงได้รู้ซึ้งกันดีว่า เนื้อหา รูปแบบรายการ ที่แม้ว่าทีมงานเบื้องหลังจะเตรียมมาอย่างดีแค่ไหน แต่ถ้าพิธีกร “ไม่ถึง” ทั้งการเตรียมตัวไม่ดีพอ ความรู้รอบตัวน้อย วิธีการอ่าน การเล่า ดึงผู้ชมไม่ได้ ก็นับถอยหลังถูกถอดออกจากรายการได้เลย ขณะเดียวกันใครผลงานดีเยี่ยม ช่องต่าง ๆ ย่อมอยากได้ตัวไปปั้นรายการของช่อง

ท่ามกลางการแข่งขันกันเองในธุรกิจทีวีดิจิทัล และการแข่งกับสื่อใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น และที่สำคัญคือการไล่ตามความต้องการของผู้ชมให้ทัน การปรับกลยุทธ์ทุกรูปแบบจึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา.