เม็ดเงินโฆษณาของ RTE สื่อหลักต้องมี สื่อ Transit ตัวช่วยสำคัญ

ภาพรวมของ Ready to Eat ประเภท Frozen Food นั้น มีการใช้งบโฆษณาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีนี้ คือนับตั้งแต่ปี 2006-2008 เพิ่มจาก 135,040,000 บาท เป็น 184,866,000 บาท ต่อด้วย 280,807,000 บาท หรือเติบโตขึ้น 37% และ 52% ตามลำดับ

สะท้อนให้เห็นว่า “อาหารพร้อมรับประทาน” เป็นอีกธุรกิจที่มาแรงขึ้นเรื่อยๆ

แบรนด์ที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด 3 อันดับแรก คือ CP Food Frozen Food (51%) พรานทะเล (27%) และไก่จ๊อ 5 ดาว (18%) ตามลำดับ ทั้งนี้ 3 แบรนด์ดังกล่าวใช้งบโฆษณาคิดเป็นสัดส่วนรวมกันสูงถึง 96%

เมื่อจำแนกตามประเภทสื่อแล้วพบว่า จำนวน Frozen Food 10 กว่าแบรนด์นั้น นิยมใช้สื่อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ขณะที่แบรนด์ใหญ่ๆ นิยมใช้สื่อแบบครบวงจร และที่ขาดไม่ได้คือ TVC โดยสื่อที่พบเห็นการเติบโตอย่างเด่นชัดคือสื่อ Transit

อันเป็นผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์รีบเร่ง แต่ขณะเดียวกันก็ยังต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางหรืออยู่บนท้องถนนนานเนื่องจากการจราจรติดขัด รวมถึงการโดยสารด้วยรถไฟฟ้า BTS และ MRT มีปริมาณสูงขึ้น ทำให้สื่อ Transit ถูกจับจองจากบรรดาแบรนด์ RTE ทั้งหลายเป็นจำนวนมาก

CP Food Frozen Food ใช้สื่อ Transit ในปี 2007 เพิ่มขึ้นจากปี 2006 ถึง 3,299% คือ จาก 450,000 บาท เพิ่มเป็น 15,294,000 บาท แม้ในปี 2008 เทียบกับปี 2007 จะติดลบ 7% ก็ตาม ขณะที่แบรนด์คุณหรีด ใช้สื่อ Transit เป็นหลัก ด้วยเม็ดเงิน 823,000 บาทในปี 2007 ซึ่งเท่ากับในปี 2008

ขณะที่ S&P Quick Meal Foods เริ่มใช้สื่อ Transit ใน 11 เดือนแรกของปี 2008 เป็นครั้งแรก

CP Food Frozen Food ใช้งบโฆษณาครบวงจรที่สุดทั้ง TVC วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อนอกบ้าน สื่อ In-store และสื่อ Transit โดยเม็ดเงินในปี 2006 ใช้ไปทั้งสิ้น 79,404,000 บาท ขณะที่ปี 2007 ใช้เพิ่มขึ้น 46% เป็น 116,090,000 บาท ขณะที่ใน 11 เดือนแรกของปี 2008 ใช้ไปทั้งสิ้น 142,548,000 บาท เพิ่มขึ้นจากรอบเดียวกันของปีที่ผ่านมา 23% โดยใช้เม็ดเงินกับ TVC มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 40% กระนั้นก็เป็นสัดส่วนที่ลดน้อยลงในแต่ละปี โดยในปี 2006 TVC มีสัดส่วนสูงถึง 69% ขณะที่ในปี 2007 ลดเหลือ 42%

Ezy Go Frozen Food แม้จะเป็นแบรนด์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้บริโภคขาประจำของ 7-eleven เนื่องจากเป็น Exclusive Brand ของคอนวีเนียนสโตร์แห่งนี้ แต่กลับเป็นแบรนด์ที่ใช้งบโฆษณาน้อยมากในปี 2006 เพียง 5,000 บาทในสื่อหนังสือพิมพ์เท่านั้น ขณะที่ปี 2007 และ 2008 ไม่มีเม็ดเงินที่ใช้ในการโฆษณาแต่อย่างใด

พรานทะเล เป็นแบรนด์เดียวที่ใช้สื่อโรงภาพยนตร์ ซึ่งมุ่งจับกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นหลัก โดยเริ่มใช้ใน 11 เดือนแรกของปี 2008 ด้วยเม็ดเงิน 6,429,000 บาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 9% ของงบโฆษณาทั้งหมดของพรานทะเล และยังคงใช้ TVC เป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 73%

S&P Quick Meal Foods ใช้สื่อ Transit คิดเป็น 19% ของงบโฆษณาทั้งหมด โดยสื่ออื่นๆ ที่ใช้คือนิตยสารมากที่สุด คิดเป็น 55% รองลงมาคือวิทยุ คิดเป็น 26% แต่ก็ถือเป็นแบรนด์ที่ใช้งบโฆษณาน้อยมาก เพียง 1,225,000 บาท เท่านั้น

ไก่จ๊อ 5 ดาว ถือเป็นแบรนด์ Frozen Food ที่ทุ่มงบกับ TVC มาก โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 96% ในปี 2008 โดยเจียดไปให้กับสื่อหนังสือพิมพ์ 2% และวิทยุ 1% เท่านั้น โดยไม่ได้ใช้สื่อ Transit แต่อย่างใด